วานนี้ (20 กรกฎาคม) ที่ศูนย์การค้าเจ สเปซ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกลจัดมหกรรมนโยบาย (Policy Fest) ครั้งที่ 3 ในชื่อ ‘เจียงใหม่ เอาแต๊’ เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือ
ในช่วงท้ายของเวทีมีการเปิดวิสัยทัศน์ของ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ ของพรรคก้าวไกล และการกล่าวปาฐกถาปิดเวทีโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
พันธุ์อาจแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ โดยระบุว่า เชียงใหม่มีทั้งพื้นที่ที่เป็นเมืองมหานครและพื้นที่ดอย เป็นจังหวัดที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพรอบด้านมาก แต่ปัจจุบันกลับเงียบเหงา ย่านการค้าปิดตัวลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้น สิ่งที่ตนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่คือการสร้างสรรค์ย่านนวัตกรรม
ตัวอย่างย่านนวัตกรรมที่เริ่มมีให้เห็นแล้วก็คืออำเภอสันทราย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านมามีการสร้างความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหาร สร้างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ด้านอาหาร นำงานวิจัยมาแปลงเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจขึ้นมาจากเทคโนโลยีที่มีการวิจัยในพื้นที่ โดยลูกหลานของคนสันทรายเอง อีกตัวอย่างหนึ่งคือย่านสวนดอก ที่หน่วยงานทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาสังคมร่วมกันทำงานบนโจทย์นวัตกรรมด้านสุขภาพ ทำให้ย่านสันทรายกลายเป็นย่านนวัตกรรมด้านสุขภาพ
พันธุ์อาจกล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่เป็นเมืองพิเศษระดับโลก แต่ยังเติบโตไม่เต็มที่ และมีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่านี้อีก โดยตนขอนำเสนอ 4 ตัวอย่างเมืองระดับโลกที่สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่เชียงใหม่ได้
ตัวอย่างแรก คือเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งมีนวัตกรรมด้านการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อย่างครอบคลุม มีสวนสาธารณะ โรงเรียนอนุบาล ย่านการค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนอย่างครบถ้วน ต่างจากเชียงใหม่ซึ่งไม่มีการวางผังเมืองที่ดี นำมาซึ่งปัญหารถติด การขาดแคลนขนส่งสาธารณะ และทางเดินเท้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เชียงใหม่สามารถนำบาร์เซโลนามาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้
ตัวอย่างที่สอง คือเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ที่จากเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่ปัจจุบันพัฒนาเป็นเมืองมหานคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเมืองใกล้เคียงเข้าด้วยกัน ทั้งฮ่องกง กวางเจา และมาเก๊า ซึ่งตนเห็นว่าเชียงใหม่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ในการเชื่อมโยง 5 อำเภอของเชียงใหม่เข้าด้วยกัน ให้มีการกระจายโอกาส ไม่ใช่กระจุกตัวที่อำเภอเมืองอย่างเดียว
ตัวอย่างที่สาม คือเมืองซูก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่เล็กที่สุด มีประชากรเพียง 3,000-4,000 คน แต่เป็นที่อยู่ของบริษัทบล็อกเชนและคริปโต 23 บริษัทที่มีมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับอีก 3,000 บริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชั้นนำด้านอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเชียงใหม่ก็ทำได้เช่นเดียวกัน และเริ่มทำมาแล้ว โดยตนจะขอเข้ามาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นศูนย์กลางในลักษณะเดียวกัน
ตัวอย่างที่สี่ คือกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีการลงทุนและสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งเชียงใหม่เองก็สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแบบเดียวกันได้
พันธุ์อาจกล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่สามารถเป็นเมืองระดับโลกตาม 4 เมืองตัวอย่างข้างต้นได้ แต่ก็ยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ปัญหาความเป็น ‘เมืองปราบเซียน’ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่มาลงทุนในพื้นที่หลายคนต้องถอนตัวออกไป
ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต คือปัญหาที่ อบจ. มีหน้าที่แก้ไขโดยตรง ซึ่งตนมีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ให้เป็นเมือง ‘4 อยู่’ ได้แก่
- ‘อยู่ได้’ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงานให้เด็กรุ่นใหม่อยู่อาศัย มีงานทำ และทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่ได้
- ‘อยู่เย็น’ คือการพัฒนาบริการสาธารณะให้มีคุณภาพและเพียงพอสำหรับทุกคน
- ‘อยู่ดี’ คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
- ‘อยู่อย่างยั่งยืน’ ผ่านการเปลี่ยนวิธีคิดด้านการพัฒนา มาสู่การใช้พลังงานทางเลือกและนวัตกรรมสีเขียว
พันธุ์อาจย้ำว่า อบจ.เชียงใหม่ ต้องไม่ใช่แค่ อบจ. ธรรมดาแต่ต้องเป็นซูเปอร์ อบจ. กล่าวคือ ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ต้องครอบคลุมถึงงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยตนมีวิสัยทัศน์ในการแบ่งอำเภอออกเป็นคลัสเตอร์ เพื่อพัฒนาแต่ละคลัสเตอร์ด้วยศักยภาพที่มีซึ่งแตกต่างกันไป ทั้งด้านการเป็นย่านวัตกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พหุวัฒนธรรม และระเบียงอุตสาหกรรมเกษตร
พันธุ์อาจกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงสร้าง อบจ. เองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยตนจะจัดตั้งกองพัฒนาธุรกิจและการลงทุน เพื่อทำงานร่วมสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ สร้างอาชีพให้ประชาชน และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ
พิธาปลุกคนเชียงใหม่ออกมาใช้สิทธิ
ต่อมาพิธาได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาปิดเวที โดยระบุว่า ในวันนี้มี 3 คำถามที่อยากชวนชาวเชียงใหม่คิดไปพร้อมๆ กัน คำถามแรกคือ ทำไมชาวเชียงใหม่ควรต้องออกมาเลือกนายก อบจ. ให้มากที่สุด
สำหรับตนแล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งข้ามเขต เลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกข้ามประเทศได้ ดังนั้น ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะสร้างการเมืองแห่งความเป็นไปได้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2566 ที่สามารถเอาชนะ สส. ในจังหวัดเชียงใหม่มาได้ 7 เขตจาก 10 เขต ด้วยคะแนนกว่า 460,000 เสียงจากชาวเชียงใหม่ 1 ล้านคนที่ออกมาเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาตัวเลขการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ ในปี 2563 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 800,000 คน คำถามคือถ้าชาวเชียงใหม่ออกมาใช้สิทธิกันน้อยลงในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 ความเป็นไปได้ที่เราเคยทำสำเร็จร่วมกันจะเหมือนเดิมหรือไม่
ดังนั้น จึงอยากชวนให้คิดว่าการเลือกตั้ง อบจ. เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งระดับชาติ เพราะงบประมาณ อบจ.เชียงใหม่ มีอยู่ 1.8 พันล้านบาท ถ้าไม่ออกไปเลือก อบจ. แล้วได้คนที่ไม่ต้องการเข้ามาก็เท่ากับนำงบประมาณ 1.8 พันล้านบาทในการบริหารเชียงใหม่ไปให้กับเขา จึงขอให้ทุกคนยอมเสียสละเวลาไปเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 ให้มากเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ได้หรือไม่ หากทำได้เช่นนั้น รวมพลัง 460,000 เสียงให้เท่ากับการเลือกตั้งปี 2566 เราจะได้รับชัยชนะแน่นอน
คำถามที่สองคือ ทำไมคนเชียงใหม่ต้องเลือก พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พิธากล่าวว่า สำหรับตนเองแล้วพันธุ์อาจคือ ‘นายกฯ นักนวัตกรรม’ เป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่จะสร้างความแตกต่างให้เชียงใหม่ได้แน่นอน เขาเป็นเด็กเชียงใหม่ที่ไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่เดนมาร์ก เป็นคนที่มีดีเอ็นเอความเป็นก้าวไกลชัดเจน โดยเฉพาะความเชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้ จนสุดท้ายเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งตนได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับพันธุ์อาจมาหลายปี จากประสบการณ์ชีวิตของพันธุ์อาจ เขาได้กลั่นกรองแนวคิดออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชาวเชียงใหม่จับต้องได้แน่นอน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ และลดความเหลื่อมล้ำ
คำถามที่สามคือ เมื่อเลือกพันธุ์อาจไปแล้วจะทำอะไรให้ชาวเชียงใหม่ได้บ้าง โดยพันธุ์อาจแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้วว่าจะตั้งกองพัฒนาธุรกิจและการลงทุนขึ้นมาใน อบจ.เชียงใหม่ จากเดิมที่ อบจ. มักทำแต่งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็ควรต้องปรับรูปแบบมาทำงานด้านการลงทุนและแก้ปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชนมากขึ้น การแบ่งโซนเมืองเชียงใหม่ตามศักยภาพ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่อยู่บนหิ้งลงมาปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหาความเจ็บปวดของคนเชียงใหม่ นี่คือสิ่งที่ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้เข้าใจเรื่องนวัตกรรมจะทำเพื่อคนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
“นายกฯ นวัตกรรมคนนี้จะมาทำให้การเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่เกิดขึ้นและจับต้องได้ ยังไม่ต้องเชื่อผม กลับไปคิดที่บ้าน กาปฏิทินรอวันเลือกตั้ง อบจ. คราวนี้ทำให้ได้เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติปี 2566 ที่ผ่านมา เอาให้ถึงล้านให้ได้” พิธากล่าว