วันนี้ (20 ตุลาคม) ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เปิดเผยว่าหลังจากที่กระทรวงได้ส่งหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอและภาพนิ่งที่เป็นการนำเสนอข่าวของสำนักข่าว 5 แห่ง ประกอบด้วย Voice TV, THE STANDARD, The Reporters, ประชาไท และเยาวชนปลดแอก Free YOUTH ในระหว่างการชุมนุมของคณะราษฎร ซึ่งได้ส่งให้ศาลเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทางกระทรวงพิจารณาแล้วว่าข้อมูลที่ส่งให้ศาลนั้นพบว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
โดยในวันนี้ศาลมีคำสั่งให้ปิดทุกแพลตฟอร์มในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าว Voice TV ส่วนสำนักข่าวอื่นๆ อีก 3 สำนักและเพจของผู้ชุมนุมได้ส่งหลักฐานไปพร้อมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งจากศาล
ภุชงค์ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่าหลังจากนี้จะส่งคำสั่งศาลไปให้เจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ พิจารณาดำเนินตามคำสั่งของศาล ส่วนสำนักข่าว Voice TV ยังสามารถนำเสนอข่าวได้ แต่ต้องดำเนินการเปิดแอ็กเคานต์ใหม่ และต้องนำเสนอข่าวหรือข้อมูลให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่าฝ่าฝืนคำสั่ง ส่วน Telegram ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ในการนัดหมายชุมนุมนั้น ทางกระทรวงได้มีคำสั่งปิดให้บริการจำนวน 4 แอ็กเคานต์
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงยืนยันว่ามีอำนาจในการปิดกั้นไม่อนุญาตให้ใช้ Telegram แต่ขณะนี้ยังคำนึงถึงผู้ที่ใช้งานในด้านการค้าและประโยชน์อื่นๆ ดังนั้นจึงสั่งปิดเพียงแอ็กเคานต์ที่กระทำฝ่าฝืนเท่านั้น
ด้าน พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าทาง กอร.ฉ. ได้ประสานกับทางกระทรวงให้ดำเนินการเปิดแอ็กเคานต์ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินจำนวน 58 แอ็กเคานต์ ประกอบด้วย Facebook Twitter และเว็บไซต์ ทั้งนี้ยังพบการกระทำในลักษณะที่เรียกว่า Looting หรือการปล้นสะดม ซึ่งเป็นการชุมนุมชักชวนให้เข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือร้านค้า ซึ่งถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์ มีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินและความผิดข้อหาลักทรัพย์ จึงขอเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมอย่ากระทำการดังกล่าว พร้อมกันนี้ขอขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่คอยห้ามปรามกลุ่มที่จะกระทำผิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์