×

ภาคประชาชนยื่นข้อเรียกร้องการนิรโทษกรรมต้องรวมคดี ม.112 ด้าน กมธ. เร่งหาข้อสรุปวันนี้

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2024
  • LOADING...
การนิรโทษกรรม ม.112

วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 12 คน อาทิ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ

 

เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง และรวมความผิดในคดีมาตรา 112 ด้วย ขณะที่ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับหนังสือ

 

พูนสุขกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ต่อสภาแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา ขณะที่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ แต่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่คณะกรรมาธิการฯ จะมีผลของการศึกษาพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม เรามีข้อกังวลว่าเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางคณะกรรมาธิการฯ มีมติว่าจะไม่มีมติที่จะรวมเอาความผิดในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 แต่ให้เป็นความเห็นของกรรมาธิการแต่ละคน

 

จากนั้น ณัฏฐธิดา มีวังปลา ตัวแทนประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ระบุถึงผลเสียของมาตรา 112 ต่อประชาชนและนิสิตนักศึกษาว่า เป็นกฎหมายที่ห้ามหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท ซึ่งมีข้อกังวล 5 ประเด็น ดังนี้

 

  1. การตีความกฎหมายมาตรา 112 ถูกวิจารณ์ว่ากว้างขวางและครอบคลุมเกินไป ส่งผลให้การแสดงออกที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกลับถูกดำเนินคดีไปด้วย

 

  1. การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในทางการเมือง ถูกวิจารณ์ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้ามหรือผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ

 

  1. การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บ่อยครั้งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

  1. ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

 

  1. มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมว่าการใช้มาตรา 112 ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม

 

ด้าน ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำคณะราษฎร 2563 กล่าวว่า เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาดได้ การนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือต่างๆ รวมถึงนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายทศวรรษ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา หรือว่ามีความปรารถนาดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง เสื้อแดง รุ่นพ่อ รุ่นแม่ จนกระทั่งรุ่นลูก รุ่นหลาน และเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ บางคนต้องลี้ภัย หรือบางคนที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร

 

“การให้อภัย สร้างความมุ่งหมายและร่วมมือในการนิรโทษกรรมประชาชน คือหัวใจสำคัญ การนิรโทษกรรมไม่ใช่การกำชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ ความเชื่อใจ และให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นประตูที่จะบอกว่าประเทศเราพร้อมก้าวไปข้างหน้าได้หากเริ่มการพูดคุยกันด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน แต่สภากลับปิดโอกาสนี้ เราจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดไป” ธัชพงศ์กล่าว

 

ขณะที่ภัสราวลีกล่าวว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐบาลอยากให้จบลงก็จะไม่มีวันจบ

 

“ความขัดแย้งจะไม่ได้จบลงเพียงเพราะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ต้องให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย และใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอภาคกัน เรื่องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หากรัฐบาลและคณะกรรมาธิการฯ ไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้เลย เท่ากับว่าผลักดันเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยกันบนถนน และผลักภาระให้พี่น้องประชาชนไปโดยปริยาย ในเมื่อตอนนี้เราได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ควรจริงจังกับการคืนความปกติให้เรื่องนี้เสียที”

 

ขณะที่ณัฐนิชกล่าวว่า ล่าสุดมีคนเสียชีวิตเพราะกฎหมายมาตรา 112 แล้ว คือ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง กฎหมายนี้ก็เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกฎหมายใด จึงไม่มีเหตุให้นิรโทษกรรมไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีเวลาถกเถียงว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่ควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของเพื่อนๆ เราอีก

 

ด้านทานตะวันย้ำว่า มีคนเจ็บปวดจริงๆ จากมาตรา 112 มีคนตายจริงๆ และคนตายทั้งเป็นอยู่ในตอนนี้ เช่น กรณีของเนติพร

 

“แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะสามารถฟื้นคืนชีวิตพวกเขากลับมาให้เราได้ แต่อย่างน้อยๆ คุณก็มีอำนาจที่จะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับเขาได้ และแม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ได้ลดลงเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ คุณมีอำนาจตรงนั้นอยู่แล้ว และที่สำคัญคือถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน”

 

ก่อนที่ศศินันท์จะกล่าวว่า ผ่านมา 6 เดือนแล้ว สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการถกเถียงว่าจะลงมติกันหรือไม่ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กรรมาธิการแต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสีย ซึ่งสามารถติดตามเหตุผลของแต่ละท่านได้ในบันทึกการประชุม

 

สำหรับวันนี้ก็จะให้กรรมาธิการที่เหลือได้แสดงความเห็น และสิ่งสำคัญคือทุกเสียงควรต้องได้รับฟังว่ามีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมีความเห็นตรงหรือต่างกับกรรมาธิการบางท่าน หวังว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของประชาชนจะสามารถส่งเสียงไปยังกรรมาธิการทุกท่านได้อย่างแท้จริง

 

ศศินันท์ย้ำว่า รายงานของกรรมาธิการเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนี้จะไม่ใช่แค่ Digital Footprint แต่จะเป็น Paper Footprint ด้วย ว่ากรรมาธิการแต่ละท่านมีความเห็นในช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองเป็นเช่นนี้อย่างไรบ้าง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising