×

แพลตฟอร์มโดยประชาชน: การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะจากเสียงสะท้อนและการมีส่วนร่วมของทุกคน

16.07.2021
  • LOADING...
public-resource-allocation-platform

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2016 สภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในการร่างแผนปฏิบัติเพื่อการบริหารท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีโครงสร้างและฟังก์ชันการทำงานที่ครบถ้วนขึ้น จนกลายมาเป็น ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ’ ที่สมบูรณ์และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลกในชื่อ เดซิดิม (Decidim)
  • เดซิดิมกลายเป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการสาธารณะในหลายประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจัดสรรงบประมาณสาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นและโครงการสาธารณะอีกหลายพันโครงการ
  • แล้วประเทศไทยถึงเวลาหรือยังที่จะเริ่มพูดคุยอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ที่จะนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะเป็น ‘ของประชาชน’ และ ‘โดยประชาชน’ อย่างแท้จริง

Your voice can change the world. – บารัก โอบามา

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการร่างแผนปฏิบัติเพื่อการบริหารท้องถิ่น (Municipal Action Plan) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยสภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนาเปิดให้ประชาชนเสนอแนวทางในการจัดสรรเงินงบประมาณของสภาเทศบาลเมือง เพื่อการจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะและใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางในการพูดคุยและลงคะแนนเพื่อเลือกแผนการจัดสรรงบประมาณที่ประชาชนเห็นชอบร่วมกัน ผลปรากฏว่ามีประชาชนเสนอแผนการจัดสรรงบประมาณกว่า 10,860 แผน ประชุมกันกว่า 410 ครั้ง และมีประชาชนร่วมลงคะแนนเสียงกว่า 160,000 คน

 

หลังจากที่การจัดสรรงบประมาณผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ประสบความสำเร็จด้วยดี ประชาชน นักวิชาการ ตลอดจนนักการเมืองท้องถิ่น ก็เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มดิจิทัลในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ จึงร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีโครงสร้างและฟังก์ชันการทำงานที่ครบถ้วนขึ้น สามารถรองรับสินค้าและบริการสาธารณะ ตลอดจนกิจกรรมสาธารณะที่หลากหลายขึ้น จนกลายมาเป็น ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ’ ที่สมบูรณ์และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก ผมขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักแพลตฟอร์มเดซิดิม (Decidim)

 

เดซิดิมเป็นภาษาคาตาลันแปลว่า ‘เราตัดสินใจ’ (We Decide) ซึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงเป้าหมายและรูปแบบการทำงานของแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้ประชาชนเริ่มคิด ร่วมคิด และร่วมทำกิจกรรมสาธารณะ โดยยึดหลักที่ว่าคนทุกคนควรมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสาธารณะอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Democratic Participation) เดซิดิมสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในท้องถิ่น และเปิดพื้นที่ให้คนริเริ่มโครงการสาธารณะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและลงคะแนนสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการสาธารณะ

 

ปัจจุบันเดซิดิมกลายเป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการสาธารณะในหลายประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เดซิดิมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจัดสรรงบประมาณสาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองบาร์เซโลนา สนับสนุนให้เกิดโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทางเท้าเพื่อเชื่อมต่อสถานที่สำคัญในเมืองลีลล์ ประเทศฝรั่งเศส และโครงการสาธารณะอีกหลายพันโครงการ

 

ในบทความฉบับที่แล้ว ผมกล่าวถึงแพลตฟอร์ม ‘ของประชาชน’ หรือแนวคิดที่ประชาชนสามารถประยุกต์แพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ในบทความฉบับนี้ผมจะเล่าถึงโครงสร้างของแพลตฟอร์ม ‘โดยประชาชน’ และชี้ให้เห็นว่าพวกเราในฐานะคนธรรมดาก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะขึ้นมาได้

 

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดีคือการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

แพลตฟอร์มเดซิดิมจัดสรรเงิน คน และทรัพยากรมาสร้างสินค้าและบริการสาธารณะที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน หากนำมาทาบกับเศรษฐศาสตร์ การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ดีคือการจัดสรรที่ ‘มีประสิทธิภาพ’ และ ‘เท่าเทียม’ การจัดสรรที่มีประสิทธิภาพทำให้คนในระบบเศรษฐกิจได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร นั่นคือ ใช้อย่างคุ้มค่า ขณะที่การจัดสรรที่เท่าเทียมหมายถึงการกระจายทรัพยากรไปให้กับคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ความเท่าเทียมมีหลายความหมายและขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนิยาม ความเท่าเทียมขึ้นกับว่ามี ‘อะไร’ เท่ากัน เช่น มีเงินเท่ากัน หรือมีสินทรัพย์เท่ากัน เป็นต้น ไม่ว่าจะให้ความหมายอย่างไร การจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมควรทำให้คนมี ‘โอกาส’ เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการก่อตั้งกิจการ โอกาสในการเข้าสู่ตลาด หรือโอกาสทางการศึกษา ในทางตรงกันข้าม การจัดสรรทรัพยากรที่ล้มเหลวจะสร้าง ‘ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส’

 

รูปที่ 1 รายได้ต่อหัวประชากรและดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในปี 2018

 

อ้างอิง: ธนาคารโลก

 

จากประสบการณ์ในต่างประเทศ ประเทศที่จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมักเป็นประเทศที่จัดสรรได้อย่างเท่าเทียม จากรูปที่ 1 จะเห็นว่ารายได้ต่อหัวซึ่งบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรกับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ซึ่งวัดโดยดัชนี Gini มีความสัมพันธ์เป็นลบ งานวิจัยเห็นตรงกันว่ากลไกการจัดสรรทรัพยากรในเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอาจซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงขึ้น เพราะจะทำให้คนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าอยู่แล้วมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า นอกจากนี้คนที่มีพื้นฐานที่ดีกว่าก็มักมีโอกาสแทรกแซงกลไกการจัดสรรเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น สุดท้ายการจัดสรรจะไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ซึ่งย่อมได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดีต้องอาศัยระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการจัดสรรทรัพยากรแบบไหนที่มีประสิทธิภาพที่สุดและเท่าเทียมที่สุด? การจัดสรรทรัพยากรมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นกลไกจัดสรรควรนำความต้องการและความคิดเห็นของทุกคนในระบบเศรษฐกิจมาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อกำหนดนิยามของประสิทธิภาพและความเท่าเทียม และกำหนดมรรควิธีในการจัดสรรเพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ‘โดยประชาชน’

 

เพื่อให้การจัดสรรสะท้อนความต้องการร่วมกันของคนในระบบเศรษฐกิจ กลไกจัดสรรต้องมีระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ โครงสร้างของระบบนิเวศควรมีลักษณะเป็น ‘พื้นที่เปิด’ ที่คนในระบบเศรษฐกิจสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ร่วมคิดและหาข้อสรุปในการจัดสรรทรัพยากรที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกคนมากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะด้วย

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เอื้อให้เกิดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ขึ้น แพลตฟอร์มจึงอาจช่วยให้คนในระบบเศรษฐกิจเอาชนะความล้มเหลวของตลาด และสามารถมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรได้โดยตรง ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ของการจัดสรรมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมขึ้น…

 

…จะดีแค่ไหนหากเราสามารถมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรโดยตรง?

 

แพลตฟอร์มเดซิดิม: องค์ประกอบและการทำงานของแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการสาธารณะ

เราจะออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการสาธารณะอย่างไร? แพลตฟอร์มเดซิดิมมีคุณลักษณะสำคัญคือการสนับสนุนให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จากการสร้างเครือข่ายของผู้ใช้กลไก และกลไกที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ รูปแบบการทำงานนับตั้งแต่การริเริ่มโครงการสาธารณะ การแสดงความเห็น การลงคะแนนเสียง และการติดตามผลการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะล้วนถูกออกแบบภายใต้แนวคิดที่ว่าผู้ใช้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

 

แพลตฟอร์มเดซิดิมแบ่งกระบวนการพิจารณาโครงการสาธารณะออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

 

  1. การริเริ่มโครงการสาธารณะและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Initiatives and Proposals) แพลตฟอร์มเดซิดิมเปิดพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นสามารถริเริ่มโครงการสาธารณะโดยการโพสต์ข้อเสนอลงในส่วน Initiatives โครงการริเริ่มที่ได้รับความสนใจ อาทิ มีคนอ่านรายละเอียด กดติดตามหรือแสดงความคิดเห็นเยอะจะเลื่อนระดับไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในส่วน Proposals ซึ่งจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น ปรับข้อเสนอและเปิดลงคะแนนเสียงเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน (รูปที่ 2)

 

รูปที่ 2 การริเริ่มโครงการและข้อเสนอเชิงนโยบาย

 

 

  1. การแสดงความคิดเห็น (Comments and Debates) ข้อเสนอโครงการทุกข้อเสนอจะมีส่วนที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยผู้แสดงความเห็นสามารถจัดความเห็นออกเป็นความเห็นสนับสนุนและความเห็นโต้แย้ง ความเห็นจะมีส่วนแสดงความคิดเห็นเสริม ทำให้ความคิดเห็นต่อขยายออกไป สำหรับประเด็นที่โต้เถียงในวงกว้างจะย้ายมาอยู่ในส่วน Debates ซึ่งเป็นกระทู้สนทนาหรือห้องสนทนาที่ผู้ใช้เข้ามาร่วมแสดงความเห็นได้อย่างสะดวก ในกรณีที่มีความเห็นจำนวนมาก แพลตฟอร์มเดซิดิมมี Text Analysis Module ที่ช่วยสังเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้ง่าย (รูปที่ 3)

 

รูปที่ 3 การแสดงความคิดเห็น

 

 

  1. การลงคะแนนสนับสนุนโครงการ (Voting) ข้อเสนอที่ผู้ใช้พูดคุยกันจนเข้าใกล้ข้อสรุป จะเข้าสู่กระบวนการลงคะแนน ซึ่งมีทั้งการลงคะแนนพื้นฐานคล้ายกับการกด Like บนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถโอนสิทธิ์ให้ผู้ใช้รายอื่นตัดสินใจแทนได้ ในกรณีที่ผู้ใช้เชื่อความคิดเห็นของผู้ใช้รายอื่น (Liquid Voting)

 

  1. การติดตามความคืบหน้าของโครงการ (Accountability) แพลตฟอร์มเดซิดิมติดตามและแสดงความคืบหน้าของโครงการที่ผ่านการลงคะแนนแล้วในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ละเอียด และติดตามได้แบบเรียลไทม์ รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างของการแสดงผลความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสาธารณะในเมืองบาร์เซโลนา โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปอ่านความคืบหน้าของแต่ละโครงการอย่างละเอียด

 

รูปที่ 4 การติดตามความคืบหน้าโครงการ

 

 

นอกจากการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์แล้ว แพลตฟอร์มเดซิดิมยังมีหลักการในการทำงานที่สำคัญ 4 ประการ ซึ่งผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเรียกว่า ‘สัญญาทางสังคม’ ที่ผู้พัฒนามีต่อผู้ใช้ ดังนี้

 

  1. โปร่งใส ตรวจสอบได้และซื่อตรง (Transparency, Traceability and Integrity) นั่นคือแพลตฟอร์มเดซิดิมเปิดเผยแหล่งที่มาและพัฒนาการของข้อเสนอเชิงนโยบาย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและลงความเห็น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสามารถดาวน์โหลด ทำซ้ำ และวิเคราะห์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการเปิดเผยข้อมูลไม่ละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แพลตฟอร์ม นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถสืบค้นย้อนหลังถึงพัฒนาการของโครงการสาธารณะว่าใคร คิดอย่างไร ทำอะไร และลงความเห็นอย่างไร และเนื่องจากผู้ใช้สามารถติดตามพัฒนาการของโครงการได้อย่างละเอียด จึงลดช่องว่างในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจของผู้ใช้แพลตฟอร์ม

 

  1. โอกาสที่เท่าเทียมกัน ภายใต้การรักษาข้อมูลอย่างปลอดภัย (Equal Opportunities with Data Confidentiality) แพลตฟอร์มเดซิดิมออกแบบให้ผู้ใช้ทุกคนมีโอกาสในการเสนอโครงการ แสดงความเห็นและลงคะแนนอย่างเท่าเทียมกัน ตัวตนของบุคคลจะได้รับการนำเสนอในรูปแบบที่เสมอภาคและสงวนข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเมิดสิทธิ โดยที่บุคคลที่สามไม่สามารถคัดลอกหรือถ่ายโอนข้อมูลออกไปได้ ขณะที่การยืนยันตัวตนหรือถ่ายโอนสิทธิในการลงคะแนนเสียงใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มทะเบียนราษฎร์ของรัฐบาลที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุด

 

  1. รับผิดชอบ (Accountability and Responsibility) แพลตฟอร์มเดซิดิมฟังคำขอและตอบคำถามของผู้ใช้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ และฟังตลอดกระบวนการในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ โดยใช้เทคโนโลยีในการเก็บและประมวลผลข้อมูลข่าวสารในการติดตามและบันทึกผลของการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ และศึกษาความสำเร็จและบทเรียนจากการจัดสรรในอดีตเพื่อปรับปรุงกระบวนการในอนาคตเสมอ

 

  1. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันที่หลากหลาย (Continuous Improvement and Inter-Institutional Collaboration) แพลตฟอร์มเดซิดิมดูแลและพัฒนาโดยคนจากหลายสถาบัน หลายช่วงอายุ และหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาโปรแกรม นักการเมือง ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เดซิดิมมีแพลตฟอร์มเมตาเดซิดิม (Meta.Decidim) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลังบ้านที่เปิดพื้นที่ให้นักพัฒนาแพลตฟอร์มและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากลไกการทำงานของเดซิดิม จึงทำให้แพลตฟอร์มพัฒนาตัวเองตลอดเวลาในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ทุกคน

 

การทำนโยบายสาธารณะ คือการทำนโยบายที่สะท้อน ‘เสียง’ ของประชาชน

It is citizens – ordinary men and women, determined to forge their own future – who throughout history have sparked all the great change and progress. – บารัก โอบามา

 

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะคือกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเท่าเทียมทางด้านโอกาสอันเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มศักยภาพ และสนับสนุนให้คนในระบบเศรษฐกิจทุกคนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยป่วยเพราะโรคร้ายและอ่อนแอเพราะความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้าง การปฏิรูปกลไกจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอาจเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยรักษาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิม และแข็งแรงพร้อมกันไปทุกภาคส่วน

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ที่จะนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ และคนไทยควรจะได้มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเข้มข้นและทั่วถึงกว่าเดิม เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะเป็น ‘ของประชาชน’ และ ‘โดยประชาชน’ อย่างแท้จริง ผมเชื่อว่าเสียงสะท้อนและการมีส่วนร่วมของทุกคนคือเป้าหมาย เป็นมรรควิธีที่ดีที่สุดที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนำพาประเทศไทยให้ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

เราเดินทางมาถึงคำถามสุดท้ายที่ว่า ไทยมีความพร้อมมากแค่ไหนสำหรับการปฏิรูปกลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ? …มาร่วมหาคำตอบกันในบทความฉบับหน้า ในบทความที่มีชื่อว่า ‘แพลตฟอร์มเพื่อประชาชน’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X