วันนี้ (2 พฤษภาคม) ในการแถลงข่าว ‘ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย’
นำโดย วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย, รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
รศ.ดร.เสาวณีย์นำเสนอผลการสำรวจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายการสำรวจคือ ประชาชน จำนวน 1,020 ตัวอย่างทั่วประเทศ (สำรวจระหว่างวันที่ 16-25 เมษายน 2568) ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 711 ตัวอย่าง และ กลุ่มประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง (อายุ 15 ปี) จำนวน 309 ตัวอย่าง
ธนวรรธน์ระบุว่า ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยทำงานกับภาคีภาคสังคม โดยเริ่มขยายขอบเขตการต่อต้านคอร์รัปชันลงถึงฐานหน่วยเลือกตั้งหน่วยแรก เริ่มจากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญพื้นฐานในระดับพื้นที่หรือจังหวัด รวมทั้งเทศบาลเป็นกำลังสำคัญ การเมืองเป็นหน่วยเศรษฐกิจสังคมในระดับจุลภาค หรือระดับย่อย เชื่อมต่อถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถ้าเราต่อซีรีส์ผลสำรวจลักษณะนี้ได้ และก่อนจะถึง สส. เราจะเห็นพัฒนาการระบบแนวคิด ทัศนคติประชาชนที่มีต่อระบบเลือกตั้ง เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเพราะเราทำงานวิชาการระดับประเทศ
ธนวรรธน์กล่าวต่อไปว่า จากผลสำรวจทั้งสองกลุ่มเป้าหมายชัดเจนว่า ประชาชนมองว่าการโกงเป็นสิ่งไม่ดี พร้อมจะปฏิเสธคนไม่ดี ถ้าได้ทราบประวัติหรือข้อบกพร่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือก แต่น่าเสียดายที่ผลเลือกตั้งที่ออกมาทุกครั้งมีความล้มเหลวเกิดขึ้น ประชาชนจะตอบปานกลางกับน้อย แปลว่าไม่โปร่งใส ผลสำรวจบอกซื้อเสียง 1,100 บาทต่อหัว แต่ในสนามจริง 2,000 บาทก็มี จึงขอฝากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย สำหรับเยาวชนอายุ 15-17 ปี ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ชัดเจนว่า เน้นความโปร่งใสอันดับ 1 ขณะที่ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญเรื่องนี้ลำดับท้ายๆ ทำให้ภาคีและมหาวิทยาลัยเห็นร่วมกันว่า ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ เอาเด็กมาเติมน้ำใสไล่น้ำเสีย
“ผมขอสรุป ผลสำรวจชัดเจนประชาชนปฏิเสธผู้นำองค์กรที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และพร้อมจะร่วมมือทุกภาคส่วนในการกำจัดคอร์รัปชันให้สิ้น ไม่ยอมรับผู้นำที่ไม่โปร่งใสแต่ทำผลงาน ส่วนแนวทางในอนาคต ตัวเลข CPI ไทยอันดับ 108 คะแนน 34 คะแนน ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยได้ 40 คะแนน ทำไมเวียดนามทำได้ 40 คะแนน เพราะเวลาเราพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นักลงทุนจะมองเรื่องคอร์รัปชันเป็นสำคัญ ถ้าต้องจ่ายเงินจะไม่น่าสนใจในการลงทุน ในขณะที่เวียดนามมีเสน่ห์ในการลงทุน ดังนั้น การที่ในระดับท้องถิ่นยังมีการซื้อเสียง มีการทุจริตและน่าจะมีเงินสะพัดมาก ยิ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองหลังพฤษภาคม ตัวเลขเงินสะพัดน่าจะมากกว่านี้”
ธนวรรธน์คาดหวังว่า กกต. น่าจะทำงานเข้มข้นขึ้นในการสกัดการซื้อเสียง เพื่อให้ได้คนโปร่งใส ผลสำรวจยังบอกว่า ในอนาคตของภาคีภาคสังคมทั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และอีกหลายองค์กร จะขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่มากขึ้น เพราะประชาชนต้องการมีส่วนร่วม เหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน จะทำให้ภาคประชาชนมีพลัง การสำรวจเทศบาลจึงสำคัญในอันดับต้นๆ เพราะเป็นการเลือกตั้งในระดับพื้นฐาน ถ้ามีการทุจริตในการเลือกตั้งระดับนี้ การเลือกตั้งระดับอื่นย่อมจะมีตามมาด้วย ด้านวิเชียรมองว่า ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนในเขตเทศบาลต่างๆ รับทราบและไม่ยอมรับคนโกง ประชาชนทราบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันกว้างขวาง และทราบว่าการทุจริตมีผลต่อมิติต่างๆ ในชีวิตความเป็นอยู่ จึงไม่พอใจกับผลงานของผู้บริหารเทศบาลในอดีต พอใจน้อยมาก ปานกลาง และไม่พอใจเป็นส่วนมาก ทราบด้วยว่ามีการทุจริตและจะให้สตางค์ แต่คราวนี้บอกว่า ผมจะไม่เลือกคนไม่โกง แสดงว่า ประชาชนไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มีพอใจไม่ถึง 10%
“ถ้าผมเป็นผู้บริหารองค์กรทำได้ประมาณนี้ ผู้ถือหุ้นคงให้ผมออก เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ประชาชนยังอยากมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบ รู้จักการเข้าถึงช่องทางข้อมูล ACT AI หมาเฝ้าบ้าน ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก ที่ผ่านมา มีการลงโทษเอาผิดกับผู้รับตำแหน่งในท้องถิ่นมีมากพอสมควร นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดี สิ่งเหล่านี้ เรารับทราบและไม่ยอมรับ งานสำรวจฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการชื่อ 1 สิทธิ์พลิกชีวิตมหาศาล ที่มีภาคสังคมหลายองค์กรทำร่วมกัน อยากเชิญชวนประชาชนว่าท่านไปใช้สิทธิ์ แต่หากว่าไม่มีตัวเลือก ก็ไปกาโนโหวต”
วิเชียรกล่าวด้วยว่า คราวหน้าหวังว่าจะมีโอกาสได้คนดี ทำงานด้วยความโปร่งใส พัฒนางานท้องถิ่นให้ดีขึ้น ก็คือชีวิตของประชาชนจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งคราวนี้อาจไม่กล้าหวังผลเลิศ เรามีความหวังกับเยาวชนอายุ 15-17 ปี จะเข้ามาร่วมพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยของเราให้เข้มแข็งได้ แม้โอกาสไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเกิดขึ้นเร็ว แต่เราจะเห็นพัฒนาการในระบบประชาธิปไตยที่ให้ความหวังและเราต้องเรียนรู้ต่อไป
ขณะที่ ดร.มานะกล่าวว่า รูปแบบการโกง พฤติกรรมการโกงในภาครัฐและในท้องถิ่นไม่แตกต่าง และมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จากผลสำรวจนี้ เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นข้อมูลความเห็นของประชาชนในพื้นที่จริงๆ การเลือกตั้ง อบจ. ก่อนหน้านี้ เราก็มีผลวิจัยสะท้อนให้เห็นผลกระทบการทุจริตต่อประชาชนในหมู่บ้าน และชัดเจนว่า ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เลือกตั้งครั้งนี้ เทศบาลทั่วประเทศสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก หากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจเลือกตั้ง ไม่ยอมแลกการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้ยึดหลัก 1 สิทธิ์พลิกชีวิตมหาศาล ก็จะเป็นการสร้างแนวพัฒนาที่ดีทางการเมือง สิ่งที่ ACT และภาคีพยายามเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงระดับชุมชนเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น