คงไม่มีใครปฏิเสธความสาหัสของแผลที่โควิด-19 ได้ฝากไว้ แม้ ‘วิกฤตสาธารณสุข’ ครั้งนี้จะยังไม่ผ่านพ้นไปและการล็อกดาวน์รอบสองยังไม่เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยก็เปรียบเสมือนผู้ป่วยเรื้อรังที่ยังไม่ทราบว่าจะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้เมื่อไร และยังมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่จ่อคิวรุมเร้าอยู่ หากไม่ประคับประคองตัวและใช้ยาให้ถูกขนาน
‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของรายได้ประเทศ คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศ ในปี 2562 เดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมากถึง 39.8 ล้านคน สร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าแม้รัฐจะออกมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย เที่ยวปันสุข คนละครึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจทดแทนมูลค่ารวมของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งด้านกำลังซื้อ (Spending Power) และการกระจุกตัวในบางพื้นที่และช่วงเวลา ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพทั่วถึง โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 27% น้อยกว่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 63% ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือผลกระทบต่อ ‘ตลาดแรงงานไทย’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสถานประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการประกาศปิดตัวและเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก
นอกจากแรงงานไทยจะต้องเผชิญกับการเลิกจ้างเพราะพิษเศรษฐกิจ ยังถูกซ้ำเติมด้วยดิสรัปชันที่สำคัญอีก นั่นคือเทคโนโลยีที่นายจ้างนำมาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในไตรมาสที่ 2 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเกือบเท่าตัว
นอกจากนี้ผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 แสนคน ยังไม่รวมผู้เสมือนว่างงานที่กำลังจะกลายเป็นผู้ว่างงานในที่สุดที่เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคนจากปีก่อน และเด็กจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานราว 3-4 แสนคน
ที่สำคัญที่สุด ความเปราะบางที่แท้จริงของตลาดแรงงานไทยคือภาพสะท้อนที่ลวงตา เพราะแรงงานในระบบประกันสังคมนั้นเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น
แนวโน้มภาระหนี้สินและคดีความในปีหน้า
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลโดยตรงต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่และเล็ก กลุ่มพนักงาน ลูกจ้างรายวัน ไปจนถึงคนรากหญ้า พ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนขับแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ ก็มีภาระ ‘หนี้สินก้อนโต’ ที่ต้องแบกรับไม่ต่างกัน จำนวนคดีที่กำลังจะถูกนำมาฟ้องร้องมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ผ่อนปรนต่างๆ กำลังจะหมดลง
ตามสถิติปี 2562 ของศาลยุติธรรม มีคดีที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลทั้งสิ้น 1.8 ล้านคดี เป็นคดีแพ่งและคดีผู้บริโภครวมกันอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคดี คดีประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) บัตรเครดิต และกู้ยืมมีจำนวนมากถึง 600,665 ข้อหา ฉะนั้นหากพิจารณาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ ตัวเลขของข้อพิพาททางการเงินที่เกิดขึ้นจะเป็นเสมือนคลื่นสึนามิที่รอวันซัดเข้าหาฝั่งอย่างแน่นอนและหนักหน่วงในปี 2564 ขณะที่มีศาลชั้นต้นรองรับคดีอยู่ทั่วประเทศ 262 แห่ง เป็นศาลชั้นต้น (ศาลแขวง ศาลแพ่ง และศาลจังหวัด) ที่มีอำนาจเหนือคดีทางเศรษฐกิจเหล่านี้เพียง 150 กว่าแห่งเท่านั้น
ยังไม่นับรวม ‘หนี้ก้อนโต’ ที่กำลังรอวันปะทุของกลุ่มครู กยศ. และสหกรณ์ทั่วประเทศ จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตพบว่าในระบบการเงินมีบัญชีที่อยู่ในวังวนของหนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจ เกษตร และอื่นๆ มากถึง 78 ล้านบัญชี มูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมหนี้สหกรณ์และหนี้ กยศ. จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท สะท้อนภาพความจริงของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่เพิ่มขึ้นกว่า 25% ภายใน 10 ปี
เพื่อสะท้อนภาพให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้กับผู้ให้บริการบัตรเครดิต วันที่มีหมายศาลมาที่บ้าน วันสืบพยาน วันพิพากษา จนถึงวันยึดทรัพย์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ในหนึ่งคดีต้องใช้เวลายาวนานแรมปี และจะต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งของเจ้าหนี้และลูกหนี้ไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายต่อสู้คดี เวลา แรงงาน ยังไม่นับรวมทรัพยากรของกระบวนการยุติธรรม ที่หากไม่มีคดีประเภทนี้ เวลาและความรู้ของเจ้าหน้าที่และทรัพยากรที่มีในระบบจะสามารถนำไปใช้ระงับข้อพิพาทในคดีประเภทอื่นได้มากมายมหาศาลเพียงใด ในทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่มีมูลค่ามหาศาล รัฐจึงจำเป็นต้องดำเนินการผันเม็ดเงิน แรงงาน และเวลาเหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที
จากสภาพการณ์ที่ได้กล่าวมา เมื่อภาระหนี้สินภาคประชาชนยังคงอยู่ แต่รายได้ของแต่ละครัวเรือนลดลง ในระยะอันใกล้ หากตัวเลขบัญชีหนี้สินทั้งหมดเพิ่มขึ้นเพียง 3-5% จากที่มีอยู่เกือบ 80 ล้านบัญชี จะส่งผลให้ตัวเลขข้อพิพาททางระบบการเงินถีบตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจส่งผลต่อโครงสร้างกระบวนการระงับข้อพิพาทที่ไม่อาจรับไหว
บาดแผลที่กำลังกลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจและ ‘วิกฤตสังคม’
ดังนั้นหากไม่ดำเนินการใดๆ ภาระหนี้สินเหล่านี้จะกลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Scars) ของผู้ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการเงินเองและครอบครัว ทั้งการอยู่กับปัญหาทางการเงิน แบกรับภาระหนี้สิน การถูกดำเนินคดี บังคับคดี อายัดเงินเดือน มีประวัติคดีติดตัว หรือถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย และปัญหาอื่นๆ เช่น อาชญากรรม ความปลอดภัยในสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ถดถอย คุณภาพประชากร และด้านทุนมนุษย์ ที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นและหยั่งรากลึกเป็น ‘วิกฤตสังคม’ ที่ยากจะเยียวยา
การหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็น ‘ทางรอด’ ที่จะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ร่วมกัน ไม่ใช่เพียงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และอุปทานเพื่อรองรับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงในโลก New Normal เท่านั้นที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
แต่รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างจริงจังและทันท่วงทีด้วยนโยบายและมาตรการที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ของประชาชน แก้ไขเพนพอยต์ของกระบวนการที่มีอยู่เดิม เช่น การนำการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution: ADR) อย่าง ‘การไกล่เกลี่ย’ (Mediation) มาประยุกต์ใช้ในการแก้วิกฤตครั้งนี้โดยจำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งถือเป็น ‘วาระแห่งชาติทางเศรษฐกิจ’
ฉะนั้นการบูรณาการความร่วมมือขององค์กรที่สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสามเสาหลักในกระบวนการยุติธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ที่มุ่งหวังเพื่อชะลอคลื่นยักษ์แห่งคดีที่จะถาโถมเข้าใส่ พยายามลบ Economic Scars ในสังคม รวมทั้งป้องกันบาดแผลใหม่ของภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจน่าจะเป็นข่าวดีและความหวังที่น่าจับตามอง
*โปรดติดตามอ่านเกี่ยวกับโครงสร้างและกฎหมายของกลไก ‘การไกล่เกลี่ย’ ที่เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ในตอนต่อไป
**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์