×

ถอดรหัสโจทย์หินของ PUBAT เพื่อฝ่าวิกฤตและพาสมาชิกรอดชีวิตในธุรกิจสิ่งพิมพ์

04.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

13 Mins. Read
  • ในภาวะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทรงตัว งานสัปดาห์หนังสือคือสิ่งที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT เชื่อว่าเป็นการช่วยเหลือสมาชิกในระยะสั้นเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ในระยะยาวต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพการจัดพิมพ์หนังสือและการขายลิขสิทธิ์ไปยังตลาดเพื่อนบ้านในเอเชีย
  • ภาพรวมของธุรกิจสิ่งพิมพ์อยู่ในระดับทรงตัว แต่การที่สมาคมฯ จัดงานหนังสือได้ 2 ครั้งต่อปีในกรุงเทพฯ โดยที่ยอดขายไม่ตกอย่างมีนัยสำคัญตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ‘คนไทยยังอ่านหนังสืออยู่’
  • วาทกรรมที่ว่า ‘เยาวชนไทยไม่อ่านหนังสือ’ โต้แย้งได้ด้วยตัวเลขจาก PUBAT ที่ระบุว่า 40% ของคนที่มางานสัปดาห์หนังสือคือเยาวชนซึ่งเป็นแฟนคลับตัวยงของสำนักพิมพ์ต่างๆ
  • นิตยสารที่หายไปจากแผง การปิดตัวของร้านหนังสือบนรถไฟฟ้า การหดตัวของจำนวนร้านหนังสือสแตนด์อโลน เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจาก Digital Disruption ที่วงการหนังสือหลีกหนีไม่ได้ และต้องปรับตัวเท่านั้นเพื่อจะอยู่ให้รอด

 

 

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ผ่านมาเกินครึ่งทาง ฝั่งนักอ่านคงได้เฟ้นหาสมาชิกใหม่ของตู้หนังสือมาแล้วไม่น้อย ฝ่ายสำนักพิมพ์น้อยใหญ่คงสาละวนกับการขายและเช็กยอดในแต่ละวันกันแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

เรื่องแปลกก็คือเรามักจะได้ยินวาทกรรมในเชิงค่อนแคะว่า ‘คนไทยไม่อ่านหนังสือ’ แต่เฉพาะในกรุงเทพฯ เรามีงานหนังสือหลักๆ ปีละ 2 งาน และทุกครั้งที่มีการจัดงานในลักษณะนี้ ผลตอบรับที่ได้ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในลักษณะเชิงบวก แม้ในช่วงที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทรงตัวในภาวะขาลง PUBAT หรือสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยยืนยันว่ายอดขายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ลดลง และงานในลักษณะนี้ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของสำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิก ขณะเดียวกันก็มีเสียงบ่นจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มองว่าการที่ผู้ผลิตต้องนำสินค้าออกใหม่มาลดราคาในช่วงจัดงานเป็นการตัดโอกาสกำไรที่ควรจะได้มากกว่านี้

 

เวทีเสวนาเรื่องทางรอดของวงการหนังสือมักจะหยิบยกตัวอย่างประเทศที่เศรษฐกิจชั้นนำและมีรากฐานการอ่านที่ลงหลักปักฐานมานาน ส่วนหนึ่งของประเทศเหล่านี้มีนโยบายที่กำหนดชัดเจนว่าหนังสือออกใหม่ต้องไม่นำมาลดราคาในช่วงกี่ปีแรกหลังตีพิมพ์ก็ว่ากันไป ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ผลิตได้เม็ดเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถนำไปหักลบกลบหนี้กับยอดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยืนยันว่าจากการทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีคนเพียง 5% เท่านั้นที่ตั้งตารอคอยเพื่อมาซื้อหนังสือด้วยราคาต่ำกว่าหน้าปก

 

ประเด็นละเอียดอ่อนที่ว่า พร้อมกับตัวเลขการสั่งซื้อทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และการลดและล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ คือส่วนหนึ่งของหลากเรื่องที่ THE STANDARD สนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองกับ สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพานาวาธุรกิจสื่อกระดาษให้สามารถประคองตัวรอดในมรสุมหลากลูกของยุคดิจิทัล หรือที่เรียกกันติดปากว่า Digital Disruption

ในรอบ 5 ปี ยอดขายในงานสัปดาห์หนังสือไม่ได้ตกมาก คนอ่านก็ยังอ่านอยู่ แต่สิ่งที่เราต้องกังวลหรือต้องไปคิดให้มากกว่าคือคนที่ไม่อ่าน จะทำอย่างไรให้เขาอ่าน อันนี้คือโจทย์ใหญ่ และเป็นโจทย์ที่เราอยากให้ภาครัฐมาดูแล

 

บทบาทหลักๆ ของสมาคมฯ ในการพาสมาชิกให้อยู่รอดในวิกฤตสิ่งพิมพ์เป็นอย่างไร

สมาคมเรามีหน้าที่ 3 เรื่องคือ การส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมวิชาชีพ และส่งเสริมการขายการตลาด

 

ในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และอุตสาหกรรมอยู่ตัวในภาวะที่มันดิ่ง เรามีโครงการว่าในระยะสั้น เรารู้ว่าทุกคนขาดเงินหมุน สภาพคล่องต้องมี ไม่อย่างนั้นธุรกิจจะเดินไม่ได้ ทำอย่างไรให้สมาชิกมีสภาพคล่อง สิ่งที่สมาคมฯ จะช่วยสมาชิกได้ก็คืองานบุ๊กแฟร์ต่างๆ ต้องจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด การออกงานบุ๊กแฟร์แต่ละครั้งเขาได้เงินสด หรือแม้แต่ในเรื่องการขายบนช่องทางออนไลน์ อันนี้ก็ได้เงินสด

 

ทีนี้สมาชิกบางคนก็ยังทำไม่เป็นและยังขายไม่เป็น เราก็จัดเรื่องการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซ อันนี้จะเป็นช่องทางที่สอดรับกับการเติบโตของตลาด เพราะตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาเป็นช่วงที่มูลค่ามหาศาล ปี 2559 และ 2560 บูมขึ้นมาก โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจุบันคนคุ้นเคยกับการซื้อทางออนไลน์กันแล้ว มันสะท้อนภาพการบริโภคในทุกวงการเลยนะคะ ไม่ใช่เฉพาะวงการหนังสือ ทำให้หนังสือไปโตอยู่ทางออนไลน์ ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวเลข เพราะขนาดภาครัฐยังจับไม่ได้เลย ทุกวันนี้ที่ภาครัฐจะทำเรื่องเก็บภาษีก็เพื่อต้องการที่จะจับตัวเลขตรงนี้ ตอนอยู่ในร้านหนังสือ เขาสามารถขอดูตัวเลขได้ว่ายอดเติบโตอย่างไร

 

อีกด้านหนึ่งคืองบประมาณหายไป ตรงนี้จะทำให้ร้านหนังสือ โดยเฉพาะสาขาเดี่ยวๆ ร้านหนังสือประจำจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะมีงบประมาณจากภาครัฐในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ตรงนี้จะมีผลกระทบสำคัญ พองบประมาณจากภาครัฐน้อยลง หรือไม่มี หรือมีน้อย มาไม่ถึง ทำให้ไม่ได้ถูกผันมาใช้ในการซื้อหนังสือ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายส่วน เรามักจะโทษเรื่องออนไลน์เป็นหลักว่าเป็นผู้ร้าย แต่จริงๆ แล้วมีภาวะพวกนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

เรื่องผลกระทบจากออนไลน์เป็นไปตามสภาพแวดล้อมในการบริโภคที่เปลี่ยนไป…

มันคือการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกนะ ทุกวงการเกิดการเปลี่ยนด้วยผลกระทบจาก Digital Disruption อยู่แล้ว อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ ต้องยอมรับมัน และทำอย่างไรที่จะอยู่กับมันได้

 

เมื่อสักครู่เราคุยกันเรื่องแผนระยะสั้นว่าจะทำอย่างไรให้สมาชิกมีสภาพคล่องทางการเงินผ่านการจัดงานหนังสือ การอบรมเรื่องการซื้อขายออนไลน์ แต่ถ้าระยะยาว เราต้องมองว่าสิ่งที่คุณขายตรงใจเขาไหม ถ้าคุณเห็นปรากฏการณ์ ‘บุพเพสันนิวาส’ ว่ามันใช่ มันอาจจะสะท้อนเรื่องคุณภาพการผลิตและการคัดสรรหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือแปลหรือต้นฉบับมาจัดพิมพ์ ตรงนี้คือการพัฒนาเรื่องคุณภาพการจัดพิมพ์หนังสือ การจะพัฒนาตรงนี้ เราดำเนินการผ่านเรื่องของการจัดอบรม เราจับมือกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ ตอนนี้เรามีชมรมบรรณาธิการ ชมรมนักวาดภาพประกอบ สมาคมนักแปลและล่าม สมาคมนักเขียน ล่าสุดจะมีชมรมพิสูจน์อักษรที่เราก่อตั้งกันในงานสัปดาห์หนังสือนี้ แล้วก็ยังมีด้านออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกอีก เหล่านี้เราจับมือกันแล้วก็ทำเรื่องของการพัฒนาวิชาชีพ คืออบรมให้กับเพื่อนสมาชิก ให้เขามีองค์ความรู้ในการพัฒนาทำหนังสือดีๆ ที่มีคุณภาพ

 

พี่เชื่อว่าคนที่ทำหนังสือในปัจจุบันไม่ได้ผ่านการเรียนรู้แบบเป็นหลักสูตร เพราะจริงๆ เราไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องพวกนี้ เรามีหลักสูตรสอนเรื่องหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ไม่มีที่ไหนสอนเรื่องการทำหนังสือเล่ม มีบ้างที่สอนเรื่องบรรณาธิการ สอนเรื่องการผลิตบ้าง แต่ไม่ได้มีสอนครบวงจร เลยคิดว่าในด้านหนึ่ง นี่เป็นจังหวะเวลาที่ดีที่ทุกคนจะได้มีโอกาสเคาะสนิมพัฒนาตัวเอง คนที่มาใหม่ บางทีไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน นี่เหมือนเป็นไกด์ไลน์ เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการอบรม

 

หนังสือดีมีคุณภาพไม่ได้หมายความว่าขายดี สิ่งหนึ่งที่ต้องดูก็คือเรื่องของการตลาด ก็ต้องพัฒนาเรื่ององค์ความรู้ทางด้านการขายและการตลาดด้วย  

 

ซึ่งสิ่งที่เราทำคือเราคิดว่าการขายลิขสิทธิ์เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพื่อนสำนักพิมพ์ได้ สมาคมฯ ก็เลยตั้งศูนย์ทีอาร์ซี (Thai Right Center) เป็นศูนย์ที่สนับสนุนส่งเสริมเรื่องการขายลิขสิทธิ์ให้กับเพื่อนสมาชิกในเอเชีย ประชากรเป็นร้อยเป็นพันล้านคน สิ่งที่เรามองก็คือว่าเรามักจะขายได้กับประเทศในโซนอาเซียนและเอเชีย เราไปขายยุโรปหรืออเมริกาไม่ได้หรอก มีแต่เขาขายให้เรา แต่ถ้าเราผลักดันทีอาร์ซี ผลักดันเรื่องการส่งเสริมการขายลิขสิทธิ์ในโซนเหล่านี้ สมาชิกเราจะมีโอกาสในการขยายตลาด ต้นฉบับที่มี แค่วางอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ก็เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาได้

 

อีกอันหนึ่งคือเรื่องการหาช่องทางการขายใหม่ในรูปของพวงหรีดหนังสือ เพราะว่า พวงหรีดใช้มากเลยในแต่ละวัด บางวัดร้อยพวงขึ้นไป แค่ใส่หนังสือเข้าไปพวงละ 1 เล่ม คุณก็จะขายหนังสือได้ 100 เล่มแล้วต่อคืนนะ

 

ที่มาของการเจาะตลาดนี้คืออะไร

จริงๆ มองมานานแล้วนะคะ เพราะบ้านอยู่ใกล้วัด (หัวเราะ) ขับรถผ่าน เราจะเห็นกองพวงหรีดมหาศาลเป็นขยะอยู่หน้าวัดเวลาจบงานแล้ว ตรงนี้เรามาตั้งคำถามว่าทำไมถึงเยอะแยะขนาดนี้ แล้วรู้สึกว่ามันน่าเสียดายนะ พวงหนึ่งราคา 1,000 บาทขึ้นไป แล้วต้องมากองทิ้งไว้ภายใน 5 หรือ 7 วัน แล้วมันก็กลายเป็นขยะ มูลค่าไม่มีแล้ว

 

สอง เป็นภาระของวัดและคนเก็บขยะ มันสร้างขยะขึ้นมาโดยใช่เหตุ แต่ถ้าเราแปลงขยะตรงนี้เป็นหนังสือ จากวัดไปสู่โรงเรียนวัด โรงเรียนวัดจะได้หนังสือใหม่ทันทีภายใน 5 วัน

 

ตอนนี้เรากำลังทำอยู่ เราจะไปเชื่อมกับวัด โรงเรียน คนขายคือร้านพวงหรีด คนซื้อ คนสั่งซื้อ เราเชื่อมกับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงเห็นด้วยและอยากให้ทางภาครัฐร่วมสนับสนุนในการสั่งพวงหรีดหนังสือ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ถ้าเรื่องดีไซน์เสร็จแล้ว เราจะเอาโมเดลตัวอย่างส่งให้กับร้านพวงหรีดเป็นแนวทางว่าสามารถออกแบบพวงหรีดที่มีหนังสือแบบนี้ได้นะ เราจะขายไอเดียเขานั่นล่ะ เหมือนที่มีพวงหรีดพัดลมแทนที่พวงหรีดดอกไม้นั่นล่ะ

 

การขายพวงหรีดหนังสือเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่เราเพิ่มทางเลือกในแง่ของดีไซน์ให้ และเพิ่มโอกาสในการอ่านทางอ้อมให้เด็กในโรงเรียน

ใช่ หนึ่ง อาจจะไม่สวยงาม สอง เราจะลดปริมาณขยะได้อย่างไร อาจจะลดในแง่ที่ว่า สามารถเอาโครงกลับมาใช้ใหม่เลยได้ไหม หรือออกแบบให้ไม่มีส่วนที่เป็นขยะเลย ตรงนี้เราจะบรรลุวัตถุประสงค์สองอย่าง คือลดปริมาณขยะ และเพิ่มช่องทางการขายหนังสือ ตรงนี้เป็นทางอ้อมที่โรงเรียนได้แน่ๆ ได้หนังสือใหม่เข้าไปตลอดเวลา

ในช่วงที่ตลาดซบเซา พี่คิดว่าคุณภาพของหนังสือดีขึ้น เพราะทุกคนจะไม่ทำงานแบบสาดทิ้ง คือเงินทุกเม็ดที่ลงทุนไปกับหนังสือหนึ่งปกต้องสร้างมูลค่าหรือต้องขายได้ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วเอาหนังสือไปเก็บไว้ในสต็อก ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องคิดเยอะขึ้น

 

ที่เราพูดกันว่าปัจจุบันเป็นช่วงขาลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ภาพรวมจริงๆ เป็นอย่างไร

ภาพรวมจริงๆ มันดูทรงๆ คือมันลงมาแล้วก็อยู่ในระดับทรงตัว พี่คิดว่าปีนี้มีแนวโน้มเหมือนว่าสถานการณ์จะโงหัวขึ้นได้บ้าง อันนี้เป็นความรู้สึกนะคะ ยังไม่มีตัวเลขจับต้องได้ เรากำลังทำสำรวจและวิจัยว่าข้อมูลตัวเลขจากร้านหนังสือก็ดี ในงานสัปดาห์หนังสือก็ดี มันเพิ่มขึ้นไหม

 

ถ้าย้อนกลับไปดูในต่างประเทศ ผลกระทบจาก Digital Disruption ทุกประเทศเป็นเหมือนเรา ตอนนี้ไต้หวันเริ่มโงหัวขึ้น สำหรับเราอาจจะเป็นปีนี้หรือปีหน้า ถ้าเป็นไปตามเทรนด์นะคะ ภาพที่เราเห็นคือไต้หวันสนใจเรามากขึ้น จีนสนใจเรามากขึ้น เพราะเขาเห็นงานสัปดาห์หนังสือแล้วเขาตกตะลึงว่า “ประเทศไทยบอกว่าคนไม่อ่านหนังสือ แต่เวลามางาน คนมากมายมหาศาล” ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะว่าคนอ่านก็ยังอ่านอยู่ ถ้าดูยอดขายในงานก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมนะ ไม่ได้ตกมาก

 

ผลการสำรวจที่ว่าย้อนหลังไปกี่ปี

5 ปี ไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าคนอ่านก็ยังอ่านอยู่ แต่สิ่งที่เราต้องกังวลหรือคิดให้มากกว่าคือคนที่ไม่อ่าน จะทำอย่างไรให้เขาอ่าน อันนี้ คือโจทย์ใหญ่ และเป็นโจทย์ที่เราอยากให้ภาครัฐมาดูแล

 

ถ้าธุรกิจมันแย่ งานสัปดาห์หนังสือปีละ 2 ครั้งในกรุงเทพฯ ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้…

ใช่ค่ะ ตอนนี้เรากำลังจะมีงานที่ 3 เป็นเทศกาลหนังสือเด็กในเดือนสิงหาคม เฉพาะในกรุงเทพฯ เรามีงานสัปดาห์หนังสือเดือนมีนาคม-เมษายน มีงานมหกรรมหนังสือนานาชาติเดือนตุลาคมและเดือนสิงหาคม คือเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 13

 

เราเคยมีงานลักษณะนี้มาแล้ว 12 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาเรียกว่าปิดปรับปรุง (หัวเราะ) ปิดซ่อมแซมในช่วงวาระ 4 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ดี เราก็เลยลองพักไว้ก่อน และอยากจะหาไฮไลต์เด่นๆ ของงาน เพราะการจัดที่ผ่านมาไม่ค่อยดึงดูดเท่าไร ถ้าทำแล้วดีกว่าเดิมไม่ได้ก็อย่าทำดีกว่า ก่อนหน้านั้นเราจัดเดือนกรกฎาคม ปัญหาคือ หนึ่ง โรงเรียนใกล้สอบ สอง เป็นหน้าฝน ก็เป็นปัญหาในการดึงดูดคนให้มา แล้วพื้นที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ใหญ่เกินไป ปีนี้เราจะลองดูที่ใหม่ที่เมืองทองธานี ซึ่งมีพื้นที่จัดงานแคบลง แล้วย้ายไปเดือนสิงหาคม ให้พ้นจากช่วงสอบของเด็กๆ ที่เมืองทองธานีช่วงนั้นก็จะมีงานสัปดาห์หนังสือวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราคิดว่าอาจจะได้กลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กและเยาวชน ครู และโรงเรียนด้วย

 

บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16

 

ที่เราพูดกันเป็นวาทกรรมว่าเยาวชนไทยไม่อ่านหนังสือ มันจริงไหม

ไม่จริง (หัวเราะ) ถ้าคุณไปดูนะ เยาวชนมางานสัปดาห์หนังสือเยอะมาก 40% เป็นเยาวชน และพวกเขาเป็นแฟนคลับตัวยงของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะแนวมังงะ กราฟิกโนเวล ติดตามหนังสือออกใหม่ ติดตามของที่ระลึกตลอดเวลา ถ้ามาดูในงานจะเห็นเขาเข้าแถวยาวเหยียด แสดงว่าเยาวชนเป็นนักอ่านอยู่แล้ว แต่ก็จะมีเด็กที่ไม่อ่านหนังสือเลย แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้กลับมาอ่าน

 

เท่าที่สังเกต ช่วงนี้จะมีหลายสำนักพิมพ์เริ่มมาทำหนังสือเด็ก นี่ก็อาจจะเป็นนัยหนึ่งที่สำคัญที่คนมองเห็นพลานุภาพของหนังสือและการอ่าน มันต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ถ้าเป็นพ่อแม่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ เขาจะจ่ายแบบไม่อั้นเพื่อลูก เพราะรู้แล้วว่าต้องเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ

 

ภาครัฐก็เริ่มเห็นและขยับเขยื้อนทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่ข่ายส่งเสริมให้คนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่เด็กจนสูงวัย นี่คือภาพที่เราเห็นว่าภาครัฐพยายามที่จะผลักดัน แล้ว พ.ร.บ. ปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยที่มีการผลักดันกันอยู่ เข้าใจว่าผ่าน ครม. ไปแล้ว สิ่งที่ห่วงก็คือเมื่อมีการเลือกตั้ง นโยบายจะเปลี่ยนไปไหม อย่างทศวรรษแห่งการอ่าน ครบปีที่ 10 ปีนี้ แต่พอย้อนกลับไปดู มันเงียบมากเลย เหมือนเป็นงานอีเวนต์ ไม่ได้มีความยั่งยืน

 

 

อุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านมีอะไรบ้าง

อุปสรรคสำคัญเลยก็คือผู้ใหญ่นั่นล่ะ ผู้ใหญ่คือคนที่มีอำนาจในการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด แต่ผู้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่า ณ วันนี้โลกมัน 4.0 แล้ว มัวแต่กลัวโน่นกลัวนี่ ป้องกันในสิ่งที่เยาวชนเขาทะลุทะลวงกันไปหมดแล้ว มันเป็นชุดความคิดโบราณ

 

ถ้าคุณต้องการให้เขาอ่านอะไร แค่นี้คุณก็ผิดแล้ว เพราะรสนิยมของเด็กกับผู้ใหญ่ย่อมไม่เหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำคือเขาอยากอ่านอะไร แล้วก็ให้เขาเลือก ในห้องสมุดควรจะมีรายการหนังสือที่เยาวชนควรอ่าน แล้วก็ส่งมอบให้เขา ให้เขาเลือกเองว่าจะอ่านอะไร อย่างน้อยที่สุดมันก็เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา

 

สมาคมฯ มองเห็นตรงนี้ เราเลยทำโครงการ Selected Books หรือโครงการหนังสือคัดสรร เราจับมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการเชิญคณะกรรมการคัดสรรหนังสือทุกหมวด ปกติแล้วที่ผ่านมาจะมีเหมือนกันที่เขาทำเรื่องคัดสรรหนังสือเป็นหนังสือเด็กเล็กและเยาวชน แต่ยังไม่มีใครมาคัดสรรหนังสือแนวประวัติศาสตร์ แนวปรัชญา การเมือง หรือประเภทอื่นๆ แต่โครงการนี้เราจะทำทุกหมวด เนื่องจากเราเป็นสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่งไม่ได้ เราจะแนะนำว่านี่คือหนังสือควรอ่าน เพื่อให้คนที่อยากอ่านหนังสือแล้วไม่รู้จะเริ่มอ่านอะไรมาดู มีการเขียนรีวิว แนะนำให้

 

บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16

 

เวลาจัดงานสัปดาห์หนังสือ มักจะมีเสียงบ่นจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ว่าการต้องลดราคาหนังสือใหม่ในงานเป็นการลดโอกาสในการเพิ่มรายได้พอสมควร สมาคมฯ มองเรื่องนี้อย่างไร

ตรงนี้ห้ามยากนะคะ ประเด็นนี้เป็นเรื่องของการที่เราสปอยล์คนซื้อมานาน สำนักพิมพ์นี้ลด แต่สำนักพิมพ์นี้ไม่ลด มันก็ขายไม่ได้ มันก็กลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาเรื่อยๆ ถามว่าสมาคมฯ ห้ามได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายเรื่องของหนังสือใหม่ ในขณะที่เมืองนอกเขามีกฎหมายระบุว่าหนังสือเล่มใหม่ห้ามลดราคา ถ้ายังอยู่ไม่ถึง 1 ปี ปีที่ 2 ถึงจะลดราคาได้ แต่ของเราไม่มี

 

คุณจะไม่ลดก็ได้…

ใช่ คุณจะไม่ลดก็ได้ แต่คุณจะขายได้ไหม ทีนี้พี่คิดว่าในมุมมองของสำนักพิมพ์ ถ้าไปขึ้นร้านจัดจำหน่าย เขาก็ต้องเสียแล้วอย่างน้อย 30-40% แต่ถ้าเขามาขายเองแล้วลดให้ผู้ซื้อหรือนักอ่านปลายทางโดยตรง การลดให้ 10% จะเป็นอะไรไป ก็เหมือนกับว่าซื้อน้ำใจ ดีกว่าจะต้องไปเสีย 30% ไหม

 

ระบบการจัดจำหน่ายในเมืองไทยมีปัญหาอะไรบ้างในช่วงนี้

มันแทบจะหายไปแล้วมั้งเนี่ย (หัวเราะ) คือในประเทศไทย ในบทบาท 3 อย่างที่เป็นสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และผู้จัดจำหน่าย เราสวมหมวกหมดเลย ซึ่งในต่างประเทศไม่มีใครทำแบบนี้ ในไต้หวัน ถ้าจะทำร้านหนังสือก็เป็นร้านหนังสืออย่างเดียว ถ้าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายก็เป็นผู้จัดจำหน่าย ถ้าจะเป็นสำนักพิมพ์ก็เป็นสำนักพิมพ์ ไม่มีใครมาทำแบบนี้ แต่ของเราทำทั้งหมด พอทำอย่างนี้ก็มันก็จะมีเรื่อง Conflict of interest ผลประโยชน์ทับซ้อนนิดหน่อยจนอาจจะเกิดการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในเรื่องของตัวเลขและข้อมูล พี่คิดว่านี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนาวงการหนังสือไทย

 

เวลาประชุม สมาชิกส่งเสียงอะไรถึงสมาคมฯ บ้าง เกี่ยวกับอุปสรรคที่เผชิญในช่วงนี้ นอกจากผลกระทบจากโลกออนไลน์

ตอนที่มาดำรงตำแหน่งนี้ใหม่ๆ คณะกรรมการของเราคุยกันว่าอยากจับเข่าคุยกับเพื่อนสำนักพิมพ์ แล้วเราก็ทำในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จัดงานสานสัมพันธ์และจับเข่าคุยกัน เหมือนเราทำ SWOT analysis แบ่งสมาชิกเป็นหมวดๆ แล้วให้คุยกัน แต่ละหมวด ปัญหาและอุปสรรคของคุณคืออะไร เขาก็สะท้อนมา เราเก็บข้อมูลตรงนี้มาแล้วส่งให้ทีมสำรวจและวิจัย เสียงเรียกร้องที่เขาอยากได้คืออะไร หัวข้อเสนอแนะคืออะไร เรามีหมด เท่าที่ดูแวบๆ ก็ยังมีคนเรียกร้องให้เราจัดงานบุ๊กแฟร์เพิ่มขึ้นนะ เพราะอย่างที่บอกว่าเขาได้เงินสด เหมือนกับว่าอย่างน้อยๆ เดือนนี้คุณรอดแล้ว คุณเอาทุกสิ่งที่คุณมีอยู่ในสต็อกมาเปลี่ยนเป็นเงิน เขาก็เลยต้องการงานบุ๊กแฟร์เพิ่มขึ้น

 

แต่พี่คิดว่าอันนี้มันไม่จีรังหรอก เราอาจจะทำได้ช่วงหนึ่งสั้นๆ แต่แผนระยะยาวเราก็ต้องทำ อย่างที่แจ้งให้ทราบในเรื่องการพัฒนาทางวิชาชีพและช่องทางการตลาด โดยเฉพาะออนไลน์ มันไม่ใช่แค่ว่าคุณทำเฟซบุ๊กเป็นแล้วจบ มันต้องมีกลยุทธ์อย่างอื่นมากมาย การทำการตลาด การเขียนคอนเทนต์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร เราก็ต้องอบรมเรื่องเหล่านี้หมด คิดว่าอย่างไรเราก็ต้องพุ่งเป้าไปที่การอบรมตรงนี้อยู่ดี ให้เขาช่วยตัวเองได้ ขายเองเป็น

 

อีกอันหนึ่งที่คิดได้ก็คือเรามีนโยบายส่งเสริมการอ่านที่เขียนแล้วจะส่งให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค พรรคไหนประกาศนโยบายส่งเสริมการอ่านสอดคล้องกัน เราจะสนับสนุนคุณ (หัวเราะ) คุณจะได้เสียงสนับสนุนจาก PUBAT 500 รายอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเอานโยบายนี้ให้กับทุกพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งว่าฝากนโยบายเรื่องการส่งเสริมการอ่านและนโยบายหนังสือหน่อย

ในประเทศไทย บทบาท 3 อย่างที่เป็นสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และผู้จัดจำหน่าย เราสวมหมวกหมดเลย ซึ่งในต่างประเทศไม่มีใครทำแบบนี้ ในไต้หวัน ถ้าจะทำร้านหนังสือก็เป็นร้านหนังสืออย่างเดียว ถ้าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายก็เป็นผู้จัดจำหน่ายนะ ถ้าจะเป็นสำนักพิมพ์ก็เป็นสำนักพิมพ์ ไม่มีใครมาทำแบบนี้ แต่ของเราทำทั้งหมด พอทำอย่างนี้มันก็จะมีเรื่อง Conflict of interest ผลประโยชน์ทับซ้อนนิดหน่อยจนอาจจะเกิดการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในเรื่องของตัวเลขและข้อมูล นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนาวงการหนังสือไทย

 

สมาชิกสำนักพิมพ์ 500 รายกับจำนวนประชากรเกือบ 70 ล้านคน มากหรือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง

ถือว่าไม่เยอะ ถ้าเทียบกับสัดส่วนประชากรนะคะ อย่างของไต้หวันเขามี 20 ล้านคน มีร้านค้าอยู่ประมาณ 2,000 ร้านค้า แต่ตอนนี้เท่าที่ทราบ ร้านหายไปเกือบครึ่งหนึ่งเหมือนกันนะ ภาวะมันก็เหมือนกัน ไปโตในออนไลน์เหมือนกัน

 

ร้านหนังสือบางร้านที่มีบุคลิกชัดเจน ขายได้ โดดเด่น เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ แล้วเวลาที่แนะนำสินค้าอะไร คนก็จะเชื่อถือ…

การแนะนำหนังสือคือจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งของการส่งเสริมการขายและส่งเสริมการอ่าน เพราะหนังสือมีเป็นล้านๆ เล่ม ก็เหมือนเราดูหนัง ต้องดูทีเซอร์หรือรีวิวก่อน ถ้าสนใจก็จะได้ไปซื้อตั๋วดู คนที่อยากจะเริ่มต้นอ่านหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าจะอ่านอะไรดีก็เหมือนกัน พี่คิดว่าการรีวิวหนังสือก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการขายและเกิดการติดตาม

 

อีคอมเมิร์ซในปัจจุบันโดยเฉลี่ยของแต่ละสำนักพิมพ์คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

จากการสอบถามเพื่อนที่เป็นกรรมการ บางท่านบอกว่ายอดเขาดีกว่าเชนร้านหนังสือบางเชนที่ขายทั้งปี อย่างสำนักพิมพ์ของพี่เองขึ้นมาประมาณกว่า 50% จากแต่เดิมที่เคยคิดเป็นยอด 10% ของรายได้ ตอนนี้จะประมาณ 20-30% รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากร้านค้า

 

ถ้าพูดถึงเชน จะเห็นว่าทุกคนปรับตัวหมด พี่คิดว่านี่คือนิมิตหมายที่ดี ร้านหนังสือรู้ว่าถึงเวลาแล้ว ตอนปี 2559-2560 ทุกคนมัวแต่เมาหมัด ไอ้นี่ก็เจ๊ง ไอ้นี่ขายกิจการ ไอ้นี่ปิดตัว ทุกคนตกตะลึง ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พี่คิดว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร มีการปรับพื้นที่กันเยอะแยะเลย เปลี่ยนหน้าตาภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูน่าเข้าขึ้น ไม่ใช่ร้านหนังสือแบบโบราณคร่ำครึ หรือจัดกิจกรรมอย่างอื่น มีเวิร์กช็อป การเปิดตัวหนังสือ การพูดคุยกับนักเขียน ทำนั่นทำนี่ สร้างชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในร้านหนังสือ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ร้านหนังสือจะได้เปรียบกว่าการขายออนไลน์ เพราะการขายออนไลน์จะไม่มีมู้ดแบบนี้

 

ภาพที่เราเคยเห็นร้านหนังสือแทบทุกสถานีบนรถไฟฟ้าอวดโฉมนิตยสารปกนั้นปกนี้เล่มล่าสุดแบบที่เคยเห็นเมื่อก่อนค่อยๆ หายไปแล้ว

พี่ว่ามันไม่ใช่ที่ทางของมันด้วย เพราะบนรถไฟฟ้าคนมาเร็วไปเร็ว ไม่มีเวลามายืนเปิดหนังสือดู

 

มีการพูดกันมากพอสมควรเรื่องราคาหนังสือในเมืองไทย ฝ่ายผลิตบอกว่าถูก ฝ่ายคนซื้อบอกว่าไม่ถูก นายกสมาคม PUBAT เห็นว่าอย่างไร

พี่คิดว่าไม่แพง หนังสือเด็กโดนโจมตีประจำเลยว่าแพง จริงๆ มันไม่ใช่เลย

 

ในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเรื่องคุณภาพของหนังสือเล่มได้รับการพัฒนาขึ้นเยอะเลย

ในช่วงที่ตลาดซบเซา พี่คิดว่าคุณภาพของหนังสือดีขึ้น เพราะทุกคนจะไม่ทำงานแบบสาดทิ้ง คือเงินทุกเม็ดที่ลงทุนไปกับหนังสือหนึ่งปกต้องสร้างมูลค่าหรือต้องขายได้ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วเอาหนังสือไปเก็บไว้ในสต็อก ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องคิดเยอะขึ้น พอคิดเยอะขึ้น คุณก็ต้องทำหนังสือที่มันขายได้ คุณต้องไปดูตลาด กระแสเป็นอะไร ต้องการอะไร แล้วตลาดจะซื้อไหม บางคนถึงขั้นต้องทำวิจัยกลุ่มย่อยว่าหนังสือที่จะทำโอเคไหม และที่เห็นชัดๆ เลยคือการใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เขียนขึ้นออนไลน์ก่อน แล้วถ้าเป็นกระแสนิยมค่อยมารวมเล่มพิมพ์ มีพรีออร์เดอร์ด้วย เป็นการประกันความเสี่ยง คือทุกคนคิดเยอะขึ้น

 

ในภาวะที่ตลาดสิ่งพิมพ์ทรงๆ มีหนังสือหมวดไหนที่ยอดขายกลับโตขึ้นไหม

มีหมวดกราฟิกโนเวลที่เขาขายกันอย่างมหาศาลนะ แล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยรวมมันทรุด แล้วเขาก็ไม่ได้ขายผ่านช่องทางร้านหนังสือหรือขายออนไลน์อย่างเดียวนะคะ มีคนมาสั่งตรงที่สำนักพิมพ์เลย

 

หลายปีที่แล้ว หมวดหนังสือที่ขายดีตามร้านหนังสือคือธรรมะกับท่องเที่ยว ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ว่าไปแล้วนะคะ เดี๋ยวนี้คุณจะไปเที่ยวไหน คุณกดมือถือก็รู้แล้ว หนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็ไปแล้ว เพราะดูในออนไลน์หรือมือถือง่ายกว่า อัปเดตหมดเลยไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันไหน เท็กซ์บุ๊กที่เป็นองค์ความรู้บางอย่างอาจจะยังพออยู่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือวรรณกรรมไม่หายไปไหน อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอ่านวรรณกรรมอะไร แนวไซไฟ แนวแฟนตาซี แนวรักหวานแหววหรืออะไรก็แล้วแต่ ยังมีอยู่

 

โดยเฉพาะวรรณกรรมคลาสสิกที่มีการเปลี่ยนปกใหม่ แปลสำนวนใหม่…

ใช่ ตอนนี้หนังสือสตีเวน ฮอว์คิง อย่าง ประวัติย่อของกาลเวลา น่าจะขายดี หลังจากเสียชีวิตไป ทุกคนจะต้องเอามาตั้ง

 

 

เล่มโปรดของนายกสมาคม PUBAT คือ…

แม่ ของแม็กซิม กอร์กี ก็ชอบ จะเป็นวรรณกรรมพวก 14 ตุลาฯ ที่อ่านเยอะ

 

นอกจากร้านหนังสือแล้ว ตัวสำนักพิมพ์เองพยายามสร้างบุคลิกของตนให้ชัดเจน มีภาพจำที่คนซื้อจับต้องได้ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่เน้นวรรณกรรมโดยตรง

สมัยก่อนเราอาจจะคิดแบบแมส ฉันต้องทำให้หมดเลย กางปีกขยายครอบคลุมไปหมดทุกหัวเรือ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ไง คุณถนัดอะไรมากกว่า ถ้าคุณถนัดสิ่งนั้น คุณก็ทำสิ่งนั้น แล้วมันจะได้ผลมากกว่า เพราะทุกคนไม่สามารถจะถนัดได้ทุกหมวด ทุกเรื่องอยู่แล้ว ทุกคนต้องดูว่าตัวเองถนัดอะไร

 

เงื่อนไขการจะเป็นสมาชิกสมาคมฯ เป็นอย่างไร ทำออนไลน์เป็นอีบุ๊กอย่างเดียวได้ไหม

เรากำหนดว่าจะต้องมีหนังสือมาให้ดูตอนสมัครสมาชิก หนังสือต้องมีจำนวนพอสมควร อีกอันหนึ่งก็ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง คือทุกๆ ปีเวลาต่ออายุ เราจะสอบถามว่าผลิตหนังสือไปแล้วกี่ปก ไม่ใช่ทำหนังสือเล่มเดียวแล้วยิงยาวตลอด แล้วไปซื้อพื้นที่บูธเพื่อจะเอาหนังสือมาขาย การสมัครสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการได้บูธ แต่การจะได้บูธ คุณต้องเป็นสมาชิก แต่คนที่เป็นสมาชิกจะได้บูธหรือไม่ อยู่ที่พฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร ทำหนังสือเป็นอาชีพจริงๆ หรือเปล่า ถ้าทำเล่มเดียวแล้วจบ ไม่ได้ทำอีก เราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ต่ออายุให้ เราควรจะสงวนพื้นที่ให้กับคนที่ทำจริงจัง

 

บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16

 

การจัดงานหนังสือมีส่วนผลักดันให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

มีส่วนเยอะ เพราะจริงๆ แล้วหนังสือทุกวันนี้มันไม่ได้เข้าถึงมือผู้บริโภค เวลาที่เราจัดงานหนังสือโดยเฉพาะที่ต่างจังหวัด เราจะมีส่วนลดพิเศษ ในกรุงเทพฯ หรือคนที่มีกำลังซื้อเราไม่ค่อยห่วง เพราะคนกลุ่มนี้สามารถหาหนังสืออ่านตรงไหนก็ได้ แต่ในต่างจังหวัด ถ้าเขามีเงิน 100 บาท เขาจะไม่ซื้อหนังสือ เขาจะเอาไปซื้อข้าวกินใช่ไหม

 

ทีนี้หนังสือมันต้องผ่านกระบวนการของหนังสือที่เป็นหนังสือสาธารณะ หรือหนังสือที่ภาครัฐส่งเสริม แต่มันก็ไม่เกิดการส่งเสริม ไม่มีการซื้อหนังสือเข้าไป แล้วเขาจะเอาหนังสืออะไรอ่านล่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเอางานบุ๊กแฟร์ออกต่างจังหวัด ด้านหนึ่ง เราทำให้หนังสือถึงมือผู้อ่านในราคาที่เหมาะสม จับต้องได้ แต่เราก็ตกเป็นจำเลยอยู่เสมอว่าเราไปทำให้โครงสร้างของธุรกิจร้านค้าต่างจังหวัดมีปัญหา เราเลยทำวิจัยเลย พอไปสำรวจจริงๆ แล้วปรากฏว่าคนที่มางานบุ๊กแฟร์มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่รองานนี้โดยเฉพาะเพื่อซื้อหนังสือ อีกกว่า 90% ก็ยังซื้อหนังสือในท้องถิ่นอยู่ อันนี้ทำให้เราสบายใจว่าเราไม่ได้ไปทำลายโครงสร้างตรงนี้ แต่เป็นภาพที่คนชอบมองแบบนั้น ปีหนึ่งเราไปขาย 5 วัน 10 วัน แต่คุณขายเอง 300 กว่าวัน เราไม่มีทางไปทำลายตรงนี้ได้อยู่แล้ว

 

ตอนนี้จัดงานบุ๊กแฟร์ไปแล้วกี่จังหวัด ผลตอบรับเป็นอย่างไร

มีหาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ที่เราไปร่วมกับสุนีย์ทาวเวอร์ มีที่โคราชด้วย แต่ปีนี้เราให้สมาพันธ์ผู้จัดจำหน่ายหนังสือไปทำ ซึ่งจะแตกต่างจากบุ๊กแฟร์ของสมาคมฯ ในแง่ที่ว่าจะเน้นเรื่องการขายอย่างเดียว เอาหนังสือไปลดราคากระหน่ำ ผลตอบรับในต่างจังหวัดโอเคนะคะ เช่น ที่เชียงใหม่กระแสตอบรับดีมาก คนจองพื้นที่เต็ม เราไม่มีพื้นที่ขายด้วย ปีที่จะถึงนี้ก็พื้นที่จองเต็ม หาดใหญ่ก็มีแนวโน้มที่ดี ที่ขอนแก่นก็โอเค

 

อยากให้ขยายความแนวคิด ‘อ่าน…อีกครั้ง’ ที่ใช้ในงานครั้งนี้

การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ทำให้เราตระหนกตกใจกัน จริงๆ แล้วโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามาทุกๆ สมัย แต่ในการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวล มันมาจากคนบางคน คนบางกลุ่มที่ไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่ หรืออยากจะพัฒนาให้มันดีขึ้น คนเหล่านี้เป็นนักอ่าน การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลกนี้ พี่ว่ามาจากคนที่เป็นนักอ่าน พอเขาอ่านปั๊บก็เอาไปคิดพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด ทดลอง จนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

เราก็เลยมองว่าในเมื่อคุณตระหนกตกใจกับการเปลี่ยนแปลงในโลกใบนี้ โลกยุคดิจิทัล 4.0 นี่ กลับมาอ่านหนังสือกันอีกครั้งสิ การเปลี่ยนแปลงทำให้คนอ่านหนังสือ พออ่านหนังสือปุ๊บก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นวัฏจักร เพราะฉะนั้นโปรดกลับมาอ่านกันอีกครั้ง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising