หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ Sustainable Development กันอยู่บ่อยๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงความหมาย และสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ให้พอนึกภาพออก
สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการด้วยการลงทุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน กระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการร่วมกันจนถึงปี 2030
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Empowering All Toward Inclusive Growth: เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน’ ซึ่งที่ผ่านมา OR ได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมชุมชนทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งทำกิจกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งเน้นสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายตามแนวทางของประเทศไทย ด้วยแนวทาง OR SDG ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้าน ได้แก่ ‘S’ หรือ ‘SMALL’ ที่มุ่งเน้นการให้โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ‘D’ หรือ ‘DIVERSIFIED’ ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตทุกรูปแบบ และ ‘G’ หรือ ‘GREEN’ ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์
โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ OR ได้เข้าไปพัฒนาโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ตามแนวทาง OR SDG คือจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยโครงการที่น่าสนใจดังนี้
โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน อำเภอแม่แจ่ม
กาแฟแฟร์เทรดที่ปลูกและผลิตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ที่ชุมชนบ้านสามสบและบ้านแม่ยางส้าน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่กว่า 120 กิโลเมตร แทบทุกครัวเรือนได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า แต่ด้วยระยะทางและความลำบากจึงไม่ค่อยมีพ่อค้าและตลาดเข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงในพื้นที่ และเมื่อผลผลิตถูกกดราคา ชาวบ้านจึงตัดสินใจล้มเลิกและตัดต้นกาแฟทิ้ง หันไปปลูกพืชไร่อื่นๆ มีการแผ้วถางป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำ อีกทั้งยังใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาสุขภาพต่อชุมชน
OR จึงเข้ามาส่งเสริมโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดยการนำต้นแบบการปลูกกาแฟภายใต้ไม้ร่มเงา (ไม้เศรษฐกิจ) เช่น อะโวคาโดและแมคาเดเมีย เพื่อช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรระหว่างรอผลผลิตกาแฟ มอบโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรปลูกและผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของ Café Amazon ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลดการเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย ลดการใช้สารเคมี ลดมลพิษ ได้ช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟด้วยระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) และได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเริ่มต้นในพื้นที่นำร่อง 2 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ มีเกษตรกรนำร่องปลูกกาแฟ 41 ราย ผ่านการดำเนินงาน 3 รูปแบบ ได้แก่ การเข้าไปพัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลแปลงกาแฟเดิมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและมีมาตรฐาน การเข้าไปส่งเสริมพื้นที่ปลูกกาแฟใหม่ ปรับเปลี่ยนสัดส่วนเป็นปลูกกาแฟร่วมกับไม้ร่มเงาเพื่อเพิ่มรายได้อีกทาง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เปิดรับเกษตรกรต้นแบบเพื่อจัดทำแปลงสาธิต ไปจนถึงต้นแบบการแปรรูปให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ และการสนับสนุนพลาสติกในการสร้างโรงตากกาแฟระดับชุมชน รวมถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรตั้งแต่ฤดูกาลปี 2566/2567 อีกด้วย
โรงแปรรูปและจัดเก็บเมล็ดกาแฟ Café Amazon จังหวัดเชียงใหม่
กรุ่นกลิ่นกาแฟคุณภาพ ส่งตรงจากไร่ถึงแก้วกาแฟของคุณ OR ได้ดำเนินโครงการเปิดโรงแปรรูปและจัดเก็บเมล็ดกาแฟ Café Amazon แห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ 5 ไร่ ที่มีส่วนของโกดังจัดเก็บเมล็ดกาแฟได้ 1,500-1,800 ตัน รับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอาราบิก้าจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ขึ้นทะเบียนผ่านระบบ KALA Application ที่ OR พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกษตรกร พื้นที่การปลูก ปริมาณที่นำมาขาย รวมถึงข้อมูลคุณภาพ และดำเนินการรับซื้อด้วยกรอบราคาที่สอดคล้องตามกลไกการตลาด และจ่ายรายได้ตามระดับคุณภาพของเมล็ดกาแฟโดยตรงถึงมือเกษตรกรอย่างแน่นอน เมื่อได้เมล็ดกาแฟคุณภาพแล้ว ก็จะถูกจัดส่งต่อไปยังโรงคั่วกาแฟ Café Amazon ก่อนจะส่งไปจำหน่ายยังร้าน Café Amazon ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีสถาบันอบรมเกษตรกรที่ทาง OR ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง และบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ลงพื้นที่เพื่อส่งต่อความรู้และพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาความรู้ในการผลิตของเกษตรกรอย่างใกล้ชิดและยั่งยืนอีกด้วย
โครงการส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์ อำเภอแม่วางและอำเภอสะเมิง
ก้าวสู่สังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติอย่างยั่งยืน อีกหนึ่งวิถีทางที่จะเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนได้นั้นก็คือการเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรจากแบบเคมีไปเป็นแบบอินทรีย์ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรที่ต้องการจะเปลี่ยนวิถีนี้อยู่ที่เรื่องการขาดทุนทรัพย์และองค์ความรู้ รวมถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงตลาดหรือแหล่งจำหน่ายอีกด้วย
OR เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำพลาสติกคลุมโรงเรือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่หากขาดพลาสติกคลุมโรงเรือนนี้ไปอาจทำให้ผลผลิตที่เติบโตในช่วงฤดูร้อนเหี่ยวเฉาจนไม่ได้คุณภาพ หรือในช่วงฤดูฝนที่ลมและฝนจะทำให้ต้นพืชแคระแกร็นและเสียหายจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
โดย OR มอบพลาสติกคลุมโรงเรือนให้กับเกษตรกรจากอำเภอแม่วางและอำเภอสะเมิงกว่า 130 ครัวเรือน เพื่อให้เกษตรกรได้มีผลผลิตที่สม่ำเสมอ ลดค่าใช้จ่ายบางส่วน และมีรายได้ที่มั่นคง
โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อำเภอแม่วาง
OR ได้มอบโซลาร์เซลล์เพื่อติดตั้งบนหลังคาให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮักแม่วาง เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมทางการเกษตรอินทรีย์ที่เกี่ยวเนื่องนับตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป ช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่าย ช่วยโลกด้วยพลังงานสะอาด และสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ Application ‘Fusion Solar’ สำหรับรายงานการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์แบบเรียลไทม์ วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเป็นระบบ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
โครงการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจของ OR โดยจะยังคงดำเนินโครงการทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ภาคเหนือ และในอีกหลายพื้นที่ต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ การสร้างคุณค่าร่วม และกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสู่สังคม รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ ‘Empowering All Toward Inclusive Growth’ หรือ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน’