ปตท. ประกาศรายได้ปี 2566 ทะลุ 3 ล้านล้านบาท แม้ลดลง 6.6% จากปี 2565 แต่ทำกำไรได้ 1.12 แสนล้านบาท โต 23% หลังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ได้แรงหนุนกำไร PTTEP ช่วยดัน
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT เปิดเผยว่า ในปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.08 หมื่นล้านบาท หรือ 23% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 9.11 หมื่นล้านบาท โดยหลักจากขาดทุนตราสารอนุพันธ์ลดลง รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น แม้ว่า EBITDA ลดลง ทั้งนี้ในปี 2566 มีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-Recurring Items) สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 500 ล้านบาท
โดยหลักจากรายการด้อยค่าสินทรัพย์โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจ และต้นทุนของโครงการเอซี/อาร์แอล 12 (Oliver) สุทธิกับการรับรู้กำไรจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการเอซี/อาร์แอล 7 (Cash-Maple) ของ บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP ขณะที่ในปี 2565 ที่มีการรับรู้รายการ Non-Recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นผลขาดทุนประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท โดยหลักจากรายการด้อยค่าสินทรัพย์โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขายจากโครงการในประเทศบราซิล รวมถึงประมาณการหนี้สิน
สำหรับการระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์แหล่งมอนทาราของ PTTEP และการจ่ายเงินสนับสนุนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤต สุทธิกับการรับรู้ค่าปรับจากปริมาณที่ผู้ผลิตก๊าซฯ ส่งได้ไม่ถึงปริมาณตามสัญญา (Shortfall) ของ ปตท.
ขณะที่ในปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 3.14 ล้านล้านบาท ลดลง 2.23 แสนล้านบาท หรือ 6.6% จากปี 2565 โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น มีรายได้จากการขายลดลงจากราคาขายเฉลี่ยปรับตัวลดลงตามราคาปิโตรเลียม และปิโตรเคมีในตลาดโลกแม้ว่าปริมาณขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้ลดลง โดยหลักจากธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคา Pool Gas
ประกอบกับราคาขายให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงตามราคาอ้างอิงแม้ว่าปริมาณขายเพิ่มขึ้น ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซฯ มีรายได้ลดลงจากการปรับอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติมีรายได้ลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาด
ได้แรงหนุนกำไร PTTEP
โดยสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรีทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจได้เป็นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทลูก บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP สัดส่วน 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น สัดส่วน 9% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่นๆ สัดส่วน 17% ซึ่งมีผลการดำเนินงานจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นจากบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ที่มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และจากบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited (Lotus) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาสามัญในประเทศไต้หวัน และกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 7% ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil เช่น กาแฟ และร้านสะดวกซื้อ ที่มีกำไรต่อรายได้แค่เพียง 1% ขณะที่เป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. เพียง 22%
ทั้งนี้คณะกรรมการ ปตท. มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2 บาท โดยได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อเดือนกันยายน 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์รับปันผลรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจปี 2566 ให้กับรัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท