ความเคลื่อนไหวของหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. ซึ่งประกอบไปด้วย 7 บริษัท ได้แก่ PTT, PTTEP, OR, PTTGC, GPSC, TOP และ IRPC โดยมูลค่า (Market Cap.) รวมของทั้ง 7 บริษัทอยู่ที่ 2.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.5% ของมูลค่าหุ้นไทยทั้งตลาด
ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ประมาณ +7% จากปลายปีก่อน แต่หุ้นที่มีมูลค่ามากสุดในตลาดหุ้นไทยอย่าง PTT ยังคงติดลบ 10% แม้ว่าบรรดาบริษัทลูกของ PTT ส่วนมากจะยืนอยู่ในแดนบวก ยกเว้นเพียง GPSC ที่ -7.5%
หุ้นในกลุ่ม ปตท. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ฟื้นตัวและปรับขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมของตลาด แต่สำหรับหุ้นแม่อย่าง PTT กลับทำผลงานได้แย่กว่าตลาด แต่โดยภาพรวมแล้วทั้ง PTT และหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มยังมีอัปไซด์จากราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ ยกเว้นเพียง OR ที่นักวิเคราะห์ประเมินราคาเป้าหมายไว้ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า การที่ราคาหุ้นของ PTT อ่อนตัวลงสวนทางกับภาพรวมตลาด เพราะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ราคาหุ้น PTT ไม่ได้ลดลงมากนัก ส่งผลให้การฟื้นตัวน้อยกว่า ประกอบกับแรงกดดันจากการขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ซึ่ง PTT เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงสุดในตลาดหุ้นไทย เมื่อนักลงทุนลดน้ำหนักหุ้นไทย PTT จะถูกแรงขายไปด้วย
ในมุมของกำไรบริษัท โดยรวมแล้วยังมีโมเมนตัมเชิงบวก โดยเฉพาะธุรกิจหลักอย่างก๊าซธรรมชาติและท่อก๊าซ ซึ่งอยู่ในทิศทางที่ดีทั้งหมด จะเห็นว่าต้นทุนของก๊าซที่ผ่านมาค่อนข้างนิ่ง ขณะที่ราคาขายก๊าซสามารถขยับขึ้นตามราคาน้ำมันได้
ส่วนธุรกิจของบริษัทลูกส่วนใหญ่ กำไรหลักยังปรับตัวขึ้นได้ อย่างกรณีของ PTTEP ซึ่งยอดขายฟื้นตัว 14% จากปีก่อน และราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนธุรกิจโรงกลั่นก็เริ่มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 เมื่อปีก่อน ซึ่งอัตรากำไรเริ่มฟื้นตัวได้ดีตามภูมิภาค ด้านธุรกิจปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มดีที่สุด ทั้งในไตรมาสแรกที่ผ่านมา และจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันได้แรงหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมันในไตรมาสแรก
“ในระยะสั้นธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหน่วยที่โดดเด่นสุดของกลุ่ม โดยมีหุ้นเด่นอย่าง PTTGC ซึ่งช่วงนี้ราคาหุ้นยังเทรดต่ำกว่า Book Value เพราะแรงกดดันจากการขายหุ้นคืน”
ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ต้องยอมรับว่าปิโตรเคมีอาจจะอ่อนลง ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นจะเริ่มดีขึ้น ตามความต้องการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นหลังการทยอยเปิดประเทศทั่วโลก โดยหุ้นเด่นในกลุ่มคือ TOP ขณะที่ SPRC ซึ่งอยู่นอกกลุ่ม ปตท. จะโดดเด่นเช่นกัน เนื่องจากมีสัดส่วนของแก๊ซโซลีนค่อนข้างมาก
ด้าน ศรชัย พิทยาพฤกษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มกำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานในไตรมาส 2 น่าจะเติบโตสูงจากปีก่อน เพราะแรงกดดันจากโควิด-19 ที่ลดลง แต่จะลดลงจากไตรมาสแรก เพราะไม่มีกำไรพิเศษจากสต๊อกน้ำมันก้อนใหญ่เข้ามาแล้ว
กลุ่มต้นน้ำ คาดปริมาณการขายฟื้นตัวตามความต้องการใช้และการปิดซ่อมโรงแยกก๊าซลดลง รวมถึงอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่ม
กลุ่มโรงกลั่น อัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน และการที่ไม่มีผลขาดทุนของสต๊อกเข้ามาฉุด รวมถึงแรงหนุนจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะแก๊สโซลีนและน้ำมันอากาศยาน
กลุ่มปิโตรเคมี ฟื้นตัวหลังจากที่ไม่มีผลขาดทุนสต๊อกก้อนใหญ่เหมือนปีก่อน และอัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ทั้งสายโอเลฟินส์ อะโรเมติกส์ และโพลีเอสเตอร์ หลังจากภาวะอุปทานส่วนเกินลดลง
กลุ่มค้าน้ำมัน ได้แรงหนุนจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของสถานีบริการและลูกค้าอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายสถานีบริการเพิ่มต่อเนื่อง
โดยรวมยังคงน้ำหนัก ‘Bullish’ ต่อหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี แต่เป็นโทนบวกลดลงจากการฟื้นตัวหลักจะโดดเด่นช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งราคาหุ้นในกลุ่มบางส่วนตอบรับปัจจัยบวกไประดับหนึ่งแล้ว ส่วนระยะยาวยังคงมุมมองการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดกำไรปกติในปี 2564 ทั้งปีจะฟื้นตัวสูง 190% หลังจากผลกระทบของโควิด-19 ลดลง มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาหนุน ผลกระทบจากการปิดซ่อมลดลง และไม่มีขาดทุนสต๊อกก้อนใหญ่
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า