บมจ.ปตท. หรือ PTT ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย
แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยภายใต้ MOU นี้ แพลตฟอร์มจะรองรับการให้บริการแก่ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในระยะยาวมีมุมมองเป็นบวกต่อการขยับเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) โดยเชื่อว่าในปี 2025 มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยเครือ ปตท. และใช้แบรนด์ในเครือ PTT
โดยโครงการร่วมทุนนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของกลุ่ม PTT ในการขยายการลงทุนสู่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ New S-Curve ของกลุ่ม PTT ซึ่งการแตกไลน์ธุรกิจครั้งนี้จะเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจของกลุ่ม กรณีที่ความต้องการพลังงานฟอสซิลในอนาคตปรับลดลง
“นับว่าเป็นการเข้าสู่ Mainstream ของไทยและของโลกในช่วงต้นๆ PTT เข้าสู่กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หรือราวปี 2025 จึงจะได้เห็นผลผลิตที่แท้จริง และสามารถประเมินได้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจะเพิ่มมูลค่าให้กับ PTT เท่าไร แต่ก็นับเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ”
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นการตอกย้ำกลยุทธ์ของกลุ่ม PTT ในการแตกไลน์ธุรกิจสู่ Non-Oil มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาดำเนินการผ่านบริษัทในเครือ เช่น GPSC ที่ขยับไปทำธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์ และ OR ที่เพิ่มจุดบริการชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการ
สิทธิชัยกล่าวว่า ท้ายที่สุดเชื่อว่าจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ของกลุ่ม PTT ได้ โดยจากนี้ไปน่าจะได้เห็นกลุ่ม PTT มีการร่วมทุนหรือจัดตั้ง Business Unit ใหม่ที่เกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้กระบวนกรผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีความครบวงจร
ทั้งนี้ Foxconn หรือ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน ดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีโซลูชันชั้นนำ เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เช่น Cloud Computing, Mobile Devices, IoT, Big Data, AI, Smart Networks, Robotics, Automation และ Electric Vehicle
ขณะที่ จักรพงศ์ เชวงศรี นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การร่วมศึกษาโครงการของ PTT และ Foxconn ในครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปี 2564 และหากผลการศึกษาออกมาเป็นที่พอใจและมีความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ ก็น่าจะเริ่มมีการจัดทำไทม์ไลน์ รูปแบบความร่วมมือ สัดส่วนการลงทุน และผลตอบแทน จากนั้นก็น่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงาน
“โดยปกติแล้วการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ใช้เวลาราว 2-3 ปี ถ้า PTT ได้ผลสรุปการศึกษาโครงการแล้วก็น่าจะสร้างโรงงานบริเวณจังหวัดระยอง ซึ่งใกล้กับโรงงานอื่นๆ ของกลุ่ม PTT และยังใกล้กับโรงงานที่อยู่ในสายการผลิตรถยนต์อื่นๆ ด้วย”
ทั้งนี้ มองว่านอกจากประโยชน์ทางธุรกิจที่กลุ่ม PTT จะได้รับแล้ว การร่วมศึกษาโครงการนี้ยังทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยได้รับอานิสงส์ไปด้วย เนื่องจากการพัฒนาแพลตฟอร์มจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง หากศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มในสเกลที่เล็กเกินไปก็จะไม่คุ้มค่าการลงทุน การขยับตัวครั้งนี้ของกลุ่ม PTT จึงช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่ำลง
“ถือเป็นอีกก้าวของ ปตท. ที่ลงไปกว้างขึ้นและลึกขึ้น นอกเหนือจากชาร์จจิ้งสเตชันและแบตเตอรี่ ก็เห็นภาพชัดว่า ปตท. กำลังมองอะไรใน Value Chain”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่ม PTT แล้ว ยังมีผู้ประกอบรายใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น เช่น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ซึ่งก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเครือเอสซีจี ที่เข้ามาเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมมือกับ BYD จากประเทศจีน
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสระบุว่า เบื้องต้นยังคงมูลค่าพื้นฐานหุ้น PTT ปี 2564 เท่ากับ 48.5 บาทต่อหุ้น และแนะนำซื้อเนื่องจากราคาหุ้น Laggard เมื่อเทียบกับกลุ่มพลังงานและราคาน้ำมันอยู่ โดยมองเป็นจังหวะทยอยสะสมลงทุนระยะยาว
ส่วนโครงการร่วมศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ในการร่วมลงทุนสำหรับจัดตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ยังเป็นแผนการระยะยาว ซึ่งต้องรอความชัดเจนที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ก่อน ฃ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์