วันนี้ (5 มกราคม) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายฯ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายด้านแรงงานพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลดผลกระทบจากการของล็อกดาวน์ในส่วนของภาคเอกชนและภาคแรงงานว่า
มาตรการคงการจ้างงาน หรือมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน (Job Retention Schemes) ผ่านการอุดหนุนค่าจ้างจากภาครัฐไปที่บริษัทเอกชน โดยให้เอกชนรักษาระดับการจ้างงานไว้ไม่น้อยกว่ากำหนดนั้น เป็นข้อควรปฏิบัติแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันผลกระทบจากการล็อกดาวน์ จะสนับสนุนมากน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพทางการคลังของรัฐบาลนั้นๆ, ระดับความรุนแรงของการล็อกดาวน์ และระยะเวลาของการล็อกดาวน์
ความผิดพลาดของรัฐบาลไทยในการระบาดรอบแรก คือการขาดมาตรการลักษณะนี้ ปล่อยให้บริษัทปลดคนงานอย่างรวดเร็วและรุนแรง ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ ต้องก่อหนี้ สร้างปัญหาหนี้ครัวเรือน ลามไปถึงแรงงานและธุรกิจผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลไปยังหนี้ในระบบธนาคาร นอกจากนั้นภาระค่าจ้างในช่วงขาดรายได้จากการล็อกดาวน์ทำให้เอกชนจำนวนมากต้องปิดตัวลงโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นหากภาครัฐมีการสนับสนุนตรงนี้อย่างสมเหตุสมผลและทันเวลา
ดร.เผ่าภูมิกล่าวอีกต่อไปว่า สำหรับการระบาดระลอกนี้ ตนเห็นว่าในระยะแรกรัฐบาลควรพิจารณา ‘มาตรการคงการจ้างงาน’ โดยอย่างน้อยต้องสนับสนุนค่าจ้างของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคําสั่ง ศบค. ที่ 1/2564 หรือคำสั่งอื่นจากภาครัฐที่ให้ห้ามเอกชนดำเนินกิจการ หรือลดชั่วโมงการดำเนินกิจการ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงในปัจจุบันซึ่งมีทั้งสิ้น 28 จังหวัดโดยทันที เพื่อประคองระดับการจ้างงาน อย่างน้อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และหากมีการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็ควรปรับมาตรการให้สอดคล้องกับความรุนแรงเป็นระยะๆ
“มาตรการคงการจ้างงานควรใช้ระบบขั้นบันไดในการสนับสนุนค่าจ้าง ตามลักษณะของธุรกิจ ตามความเป็นไปได้ของการรอดของธุรกิจ และตามรุนแรงของผลกระทบ นอกจากนั้นควรปรับอัตราการสนับสนุนขึ้นลงตามระยะของการล็อกดาวน์ว่าอยู่ในช่วงการระบาดด้วยอัตราเร่ง หรืออยู่ในช่วงการฟื้นตัว” ดร.เผ่าภูมิกล่าว
ดร.เผ่าภูมิยังบอกด้วยว่า ตนขอให้พึงระลึกเสมอว่า ในปัจจุบันผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงด้านสุขภาพ ยังน้อยกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐที่ใช้สกัดโควิด-19 อยู่มาก จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่รักษาความสมดุล และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล