×

นายกสมาคมจิตแพทย์เตือนสื่อ เว้นระยะห่างการนำเสนอข่าวทีมหมูป่า สมาคมนักข่าวเตรียมถอดบทเรียนครั้งใหญ่ร่วมกับภาครัฐ

09.07.2018
  • LOADING...

นอกจากภารกิจพาทีมหมูป่ากลับบ้านที่ประชาชนให้ความสนใจในวงกว้างแล้ว อีกแง่มุมหนึ่งยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหลายสำนักที่พยายามเกาะติดรายงานความคืบหน้าให้รวดเร็วที่สุด ท่ามกลางกรอบกติกาในพื้นที่การทำงานที่รัดกุม จนทำให้สื่อบางรายใช้วิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม และเกิดเป็นวิกฤตความน่าเชื่อถือตามมา

 

ก่อนหน้านี้สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือแนะนำการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน หรือไกด์ไลน์ในการนำเสนอข่าวโดยร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อวางกรอบกติกาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และล่าสุดสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือ ‘ขอความร่วมมือ’ สื่อมวลชนคำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในการรายงานข่าวถ้ำหลวง เพราะขณะนี้สื่อมวลชนไทย ‘ตกเป็นเป้า’ การจับจ้องและตรวจสอบของสังคมเป็นอย่างมาก

 

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทำไมสื่อจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

 

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า การเว้นระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างสื่อกับสมาชิกทีมหมูป่าหลังออกจากถ้ำถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ผ่านการเผชิญอุบัติภัยมาหมาดๆ อาจมีผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างมาก ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูจิตใจโดยทั่วไป คนไข้จะเก็บกักความทรงจำที่เลวร้ายนั้นไว้ ก่อนจะพยายามทำให้บรรเทาเบาบางลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป ก่อนที่จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นจนกลับสู่ภาวะปกติ

 

แต่หากถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจจะทำให้กระบวนการดังกล่าวถูกรบกวน เพราะเมื่อต้องเล่าให้คนอื่นฟัง เด็กๆ ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และทำให้เด็กๆ รู้สึกเสมือนว่าต้องกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ทั้งที่ออกจากถ้ำมาแล้ว

 

แล้วเมื่อไรจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนได้? สำหรับประเด็นนี้นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ แนะนำว่า ระยะแรกควรปล่อยให้สมาชิกทีมหมูป่าได้กลับไปอยู่กับครอบครัวหลังการพักฟื้นร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะการอยู่กับครอบครัวจะเป็นปัจจัยปกป้องที่จะทำให้ปัญหาสภาพจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นบรรเทาลงได้ หลังได้รับการปลอบประโลมแล้ว สภาพจิตใจก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และกลับสู่ภาวะปกติที่สามารถพูดคุยเรื่องดังกล่าวได้อย่างสบายใจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ รศ.นพ.ชวนันท์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการปกปิดชื่อของทีมหมูป่าที่ถูกช่วยออกมาแล้วว่า ในทางการแพทย์การปกปิดชื่อผู้ป่วยอาจไม่ได้มีผลในแง่ของการรักษา แต่น่าจะเป็นเหตุผลในแง่ของความเป็นส่วนตัว เพราะเมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อ อาจะทำให้เกิดประเด็นความสนใจทั้งจากสื่อมวลชนและสังคมว่า แล้วพ่อแม่ของเด็กๆ ที่ยังไม่ถูกนำตัวออกมาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งอาจมีคนไปพยายามสอบถามในขณะที่เขามีความกังวลอยู่แล้ว ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อควรหลีกเลี่ยง

 

“เหตุการณ์ที่ผ่านมาจริงๆ แล้วสื่อมีประโยชน์มาก เราต้องยอมรับว่าการช่วยของสื่อในครั้งนี้ คือการกระจายข่าวออกไป นำมาสู่ความช่วยเหลือมากมาย เพียงแต่อยากคำนึงถึงคำเตือนที่ออกมาในเวลานี้ ซึ่งเป็นการระมัดระวังผลกระทบด้านลบ ก็อยากให้เข้าใจตรงนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่มีประโยชน์และสื่อทำได้คือการชี้นำประเด็นที่เอาไปเรียนรู้หรือเอาไปใช้ได้ในอนาคต เช่น การร่วมมือร่วมแรงกัน การปลุกปลอบใจกัน”

 

ด้าน ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในเวลานี้ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้สื่อที่ทำงานผิดพลาดมีการระมัดระวังตัวมากขึ้นในอนาคต

 

ส่วนบทลงโทษต่อสื่อที่นำเสนอข่าวไม่เหมาะสม สำหรับองค์กรวิชาชีพพอจะมีแนวทางอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ทันใจสังคม จึงจำเป็นต้องหารือ และถอดบทเรียนร่วมกันครั้งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับสื่อมวลชนด้วยกันเอง แต่ยังรวมถึงฝ่ายต่างๆ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดหารือกันเร็วๆ นี้

 

นอกจากนี้ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังแนะนำสื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวอย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือต้องเคารพกติกาในพื้นที่อย่างเคร่งครัดด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X