เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ครอบครัว อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ โพสต์ข้อความแจ้งว่า อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 04.00 น. โดยประมาณ หลังจากไม่รู้สึกตัว และรับการรักษาตัว 35 วัน จากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่และหมดสติภายใต้การควบคุม
ก่อนหน้านี้ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวภายในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ล่าสุด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยระบุว่า อับดุลเลาะ อีซอมูซอ มีอาการคงที่มาโดยตลอด และเริ่มมีอาการทรุดลงประมาณ 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยพบว่ามีการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อ มีภาวะผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทางทีมรักษาพยาบาลได้มีการปรับตั้งเครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงมาตลอด อีกทั้งปรับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค
จนกระทั่งคืนวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม อาการของผู้ป่วยเริ่มทรุดลงด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำและมีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติมากขึ้น ทางทีมรักษาได้ให้ยาควบคุมความดันโลหิตในขนาดสูงแต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาพยาบาล ยังคงมีความดันโลหิตต่ำลง มีความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซและมีความเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น ทางทีมรักษาพยาบาลได้ให้ข้อมูลกับญาติผู้ป่วยมาโดยตลอดจนกระทั่งก่อนเสียชีวิต ทางญาติผู้ป่วยเข้าใจในการดำเนินของโรคและพยากรณ์ของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 04.03 น. ของวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562 สรุปสาเหตุของการเสียชีวิตคือ เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock)
ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า
“ผมเน้นย้ำถึงผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่อคำถามหลายประการ ทั้งกระบวนการสอบปากคำ กล้องวงจรปิดที่ทราบว่าเสียหมดทุกตัว อาการของอับดุลเลาะ ตลอดจนการเยียวยาครอบครัวหากเกิดกรณีการสูญเสียชีวิต
“ซึ่งวันนี้อับดุลเลาะได้จากเราไปแล้ว แต่คำตอบต่อคำถามที่ผมได้สอบถามไปนั้นยังมาไม่ถึง และไม่ทราบว่าจะมาถึงได้เมื่อไร
“สังคมเขาก็สงสัย อดสูในการสูญเสียของผู้จากไปรายนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง? เรื่องราวเป็นมาอย่างไร? และเหตุใดถึงจบกันในรูปแบบนี้?
“เรื่องดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับรุนแรงด้วยหรือไม่? จะมีกรณีคล้ายๆ กันแบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า? เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวใครก็ได้ภายใต้กฎหมายไม่ปกติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกกระนั้นหรือ?
“นายกรัฐมนตรีในฐานะเบอร์ 1 ของ กอ.รมน. ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเบอร์ 1 ของการงานความมั่นคง ซึ่งประจวบเหมาะเป็นคนเดียวกัน ท่านจะเสียใจหรือไม่กับการจากไปของประชาชนชายแดนใต้คนนี้ นั่นเป็นเรื่องความรู้สึกของท่าน ท่านจะทราบเรื่องนี้หรือเปล่า ผมก็ไม่รู้
“แต่คำตอบในการจัดการความไม่ชอบมาพากลหลายประการในกรณีนี้นั้นเป็นความรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นกิจการสาธารณะ ท่านควรพิจารณา ชี้แจง และสร้างมั่นใจต่อสังคม ไม่ใช่สร้างความหวาดระแวง ผลักชาวบ้านไปตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกรณีนี้ ถือเป็นอีกบาดแผลทางใจอีกครั้งจากผลกระทบของกฎหมายไม่ปกติ
“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนยกเครื่องใหม่ อะไรที่ใช้ไม่ได้อย่าคงไว้เลยครับ มันจะเสียกันไปทั้งหมดไปเปล่าๆ ผมขอเกริ่นให้มีการทบทวนพิจารณาด้วยความหวังดี”
ขอบคุณภาพจาก: Thaweesak Pi
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า