วานนี้ (14 มิถุนายน) วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน กล่าวถึงคดีการจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และเกิดเรือของกลางหายว่า ทางตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) มีหนังสือเรียนถึงท่านอัยการสูงสุดมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ระบุว่า มีการจับกุมเรือทั้งหมด 5 ลำ ซึ่งมีการบรรทุกน้ำมันเถื่อน โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 28 คน ขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร
วัชรินทร์กล่าวว่า ขั้นตอนก่อนที่จะถึงอัยการสูงสุด คดีจะต้องผ่านสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นสำนักงานที่จะรับผิดชอบคดีนอกราชอาณาจักร เมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 ปอศ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พร้อมกับมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ให้มีอัยการเข้าไปร่วมการสอบสวน โดยมีอัยการ 2 คน มีตนเป็นหัวหน้าทีม
เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนมีการปรึกษาหารือเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการนัดหมายประชุมพนักงานสอบสวนในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ แต่มาเกิดเหตุการณ์ของกลางหายไปจำนวน 3 ลำ โดยที่ยังไม่ได้มีการประชุมกัน โดยแม้เรือจะหายไปแล้วต้องแยกคดีคนละส่วน เพราะการกล่าวหาในคดีน้ำมันเถื่อนนี้เป็นการกล่าวหาโดยชุดจับกุม
ซึ่งประกอบด้วยตำรวจน้ำและตำรวจ ปอศ. จับกุมได้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ที่บริเวณอ่าวไทยในจุดใกล้แท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม คดีนี้จะเป็นคดีหลัก ในการทำบันทึกการจับกุมมีของกลางเป็นเรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 5 ลำ ซึ่งมีที่บรรทุกน้ำมัน 3 ลำ อีก 2 ลำไม่มีน้ำมัน โดยกล่าวหาว่าเรือทั้ง 5 ลำร่วมกันเทียบเรือเพื่อถ่ายน้ำมันเลยจับมาทั้งหมด
วัชรินทร์กล่าวต่อว่า มีการแจ้งข้อหาร่วมกันพยายามนำเข้ามาหรือส่งออกภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังไม่ผ่านวิธีทางศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 242 ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสียในทรัพย์ (น้ำมัน) อันของพึงต้องรู้ว่าเป็นของเกี่ยวเนื่องในความผิดดังกล่าว และ พ.ร.บ.สรรพสามิต ในกรณีร่วมกันบรรทุกของลักลอบหนีศุลกากร หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดร่วมของการขาย หรือมีไว้ซึ่งของสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง
ฉะนั้นข้อกล่าวหาจะมีทั้ง พ.ร.บ.ศุลกากร และ พ.ร.บ.สรรพสามิต เท่าที่ทราบจากพนักงานสอบสวนคือหลังจากแจ้งข้อกล่าวหามีการประกันตัวไป 28 คน และให้ไปเฝ้าอยู่ในเรือดังกล่าว ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูงและมีเรื่องค่าปรับที่เป็นจำนวนมาก จากจำนวนราคาที่นับจากปริมาณน้ำมันเป็นหลายเท่าตัว เรื่องที่ให้ประกันเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ปอศ.
แต่เมื่อตอนพนักงานสอบสวนส่งเรื่องมาว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการส่งคำให้การมาให้พนักงานอัยการบางส่วน เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ และเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้วเป็นอำนาจอัยการสูงสุดโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดสามารถให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนฝ่ายเดียวก็ได้ แต่เรื่องนี้อัยการสูงสุดเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ เลยมอบหมายอัยการสำนักงานการสอบสวนเข้าไปร่วมสอบสวน