×

อัยการส่งคืนสำนวนคดีเยาวชนก่อเหตุยิงพารากอน ชี้สอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเด็ก ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

โดย THE STANDARD TEAM
28.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (28 ธันวาคม) นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566

 

โดยเป็นคดีกล่าวหาเด็กชาย พ. ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร โดยเหตุเกิดภายในห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นั้น

 

คดีดังกล่าว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พนักงานสอบสวนได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจและบำบัดรักษา 

 

ซึ่งสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้รับตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไว้บำบัด รักษา และตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชแบบผู้ป่วยใน เพราะเชื่อว่าผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ และจากการตรวจสำนวนการสอบสวนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดียังไม่เสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยที่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับผลการตรวจประเมินและวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด 

 

อีกทั้งยังมิได้ดำเนินการสอบสวนแพทย์ผู้ตรวจการรักษาให้ได้ความโดยกระจ่างชัดเพื่อประกอบคดี และยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้ส่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถของจิตแพทย์เจ้าของไข้ 

 

และทีมสหวิชาชีพ นิติจิตเวช ได้ตรวจวินิจฉัยและประเมินผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถาม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ ผลการประเมินสรุปว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

 

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในคดีนี้ โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ในเรื่องความสามารถของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กก่อน แล้วทำการสอบสวนพร้อมกับมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และมาตรา 134 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 

 

โดยถือว่าเป็นการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยไม่ชอบ จึงมีคำสั่งให้คืนสำนวนการสอบสวนในคดีนี้ไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

 

นาเคนทร์กล่าวต่อว่า การคืนสำนวนในครั้งนี้ พนักงานอัยการยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของสำนวนแต่อย่างใด เพราะเห็นว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งสำนวนคืนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอยู่ในสภาวะหายป่วยเป็นปกติและสามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นแล้วส่งสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาอีกครั้งภายในอายุความตามกฎหมาย โดยอายุความในคดีนี้มีอายุความสูงสุด 20 ปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X