×

อัยการขอเวลา 7 วันสอบปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส​ อยู่วิทยา’ เบื้องต้นจะพิจารณาตามกรอบ 3 ประเด็น

โดย THE STANDARD TEAM
28.07.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่อัยการสูงสุดมีการสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี โดยมีคณะกรรมการพิจารณา 7 คน กรณีที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้มีการสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตที่ย่านสุขุมวิทเมื่อปี 2555 ตามที่สังคมตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น

 

ล่าสุดวันนี้ (28 กรกฎาคม) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่าเช้าวันนี้มีการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นนัดแรก โดยมีผู้เข้าประชุม 6 คน ได้เริ่มประชุมตามกรอบที่อัยการสูงสุดได้สั่งการใน 3 ประเด็นคือ เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่, เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่, มีเหตุในการสั่งอย่างไร ซึ่งที่ประชุมจะเร่งพิจารณาหาข้อสรุปให้ได้ใน 7 วัน

 

ส่วนที่สังคมมีการตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น เรื่องพยานบุคคล 2 รายที่ให้การยืนยันเรื่องความเร็วรถของ บอส อยู่วิทยา ทำให้อัยการเชื่อได้ว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานประมาทร่วมแทนข้อกล่าวหาเดิม ในรายละเอียดคงไม่สามารถระบุได้ว่าที่ประชุมจะมีการนำความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลมาเป็นประเด็นพิจารณาหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการพิจารณาของคณะกรรมการที่จะดูว่าเกี่ยวข้องตามกรอบที่วางไว้หรือไม่ 

 

ส่วนกรณีที่อัยการและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตรงกันจะสามารถรื้อฟื้นคดีนี้มาได้อีกหรือไม่นั้น สำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปในประเด็นนี้ ขอให้คณะทำงานได้ตรวจสอบสำนวนทั้งหมดก่อน แต่หากพิจารณาตามหลักของกฎหมาย หากมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด อัยการจะไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้ เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี หรือญาติของผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลเอง ส่วนที่ญาติหรือสังคมเป็นกังวลว่าเป็นเพราะได้ทำข้อตกลงกับคู่กรณีไปแล้วจะไม่สามารถฟ้องร้องได้อีกนั้นจะทำได้เฉพาะกรณีของคดีแพ่ง ส่วนที่เป็นคดีอาญาไม่สามารถยอมความกันได้ 

 

สำหรับการทำงานของอัยการสูงสุดที่สังคมเคลือบแคลงว่าเป็นกลางหรือไม่นั้น ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะหาข้อเท็จจริง รวมทั้งการสั่งคดี การทำงานของอัยการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการทำงานบกพร่องจะลงโทษกับพนักงานอัยการผู้สั่งคดีหรือไม่ อย่างไร รวมถึงผลจากคณะกรรมการชุดนี้จะเท่ากับเป็นความเห็นสุดท้ายของอัยการสูงสุดด้วยหรือไม่ 

 

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งตั้ง พล.ต.อ. ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการรวม 10 ราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่

 

พล.ต.อ. ศตวรรษ เปิดเผยว่าแม้จะยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้นัดหมายให้คณะกรรมการที่มีรายชื่อทั้งหมดไปประชุมเรื่องนี้เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการที่จะร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงจะเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เช่น จเรตำรวจ, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอการหารือในที่ประชุมก่อน แต่ยืนยันได้ว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะเร่งพิจารณาข้อเท็จจริงทันทีเพื่อหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เคลือบแคลง สงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อีกทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง ก็ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X