×

ข้อดี-ข้อเสียอย่างไร? หลังคลังเล็งช่วยลูกหนี้ NPL ลดเวลาติดเครดิตบูโรให้ต่ำกว่า 8 ปี หวังดึงลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบ

30.05.2024
  • LOADING...

คลังเล็งแก้กฎหมาย ลดเวลาติดประวัติเครดิตบูโรให้ต่ำกว่า 8 ปี หวังดึงลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบ ด้านเครดิตบูโรชี้ การแก้ไขลดระยะเวลาจาก​ 8 ปีสามารถทำได้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงสถาบันการเงินและผู้ฝากเงินด้วย

 

วานนี้ (29 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันระยะเวลาที่ลูกหนี้ NPL ติดประวัติกับเครดิตบูโรที่ 8 ปี ‘ยาวนานเกินไป’ พร้อมระบุ เตรียมพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อลดระยะเวลาติดประวัติดังกล่าวลง หวังทำให้ประชาชนกลับเข้าสู่ระบบ หรือเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบเครดิตบูโรได้เร็วและมากขึ้น

 

“เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า คนหนึ่งคนติดเครดิตบูโร 5 ปี + 3 ปี รวมเป็น 8 ปี นานเกินไป น่าจะต้องมีการพิจารณาดูว่าจะลดระยะเวลาได้อย่างไร เช่น 3 ปี + 3 ปี หรือ 2 ปี + 3 ปี จะทำได้ไหม” พิชัยกล่าว

 

ข้อมูลเครดิต ‘ลูกหนี้ NPL’ ถูกเก็บนานแค่ไหน? อย่างไร?

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำหรับกรณีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน (เป็นหนี้เสียหรือ NPL) สถาบันการเงินจะต้องนำส่งข้อมูลของลูกหนี้ให้กับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือจนกว่าจะมีการชำระเป็นปกติ​ หรือมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้​ (TDR)

 

โดยเครดิตบูโรจะต้องเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้รับจากสถาบันการเงินไว้ในฐานข้อมูลต่อไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่เครดิตบูโรได้รับข้อมูลมาจากสถาบันเงิน

 

ดังนั้น ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ข้อมูลของลูกหนี้ที่ค้างชำระจะปรากฏในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรรวมทั้งสิ้น 8 ปี จากนั้นประวัติที่เป็นหนี้เสียของลูกหนี้ดังกล่าวจะถูกลบออกจากฐานข้อมูลของเครดิตบูโร

 

หมายความว่าหลังจากปีที่ 8 ลูกหนี้ก็น่าจะสามารถเข้าถึงระบบการเงินได้บ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ และความน่าเชื่อถือในเวลานั้น

 

แก้กฎหมายทำได้หรือไม่? อย่างไร?

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) อธิบายผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า การแก้ไขลดระยะเวลาจาก​ 8 ปีสามารถทำได้ โดยการออกประกาศ​ของคณะกรรมการ​คุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​ (ประกาศ​ กคค.)

 

ซึ่งไม่ต้องแก้กฎหมาย​ใด แค่ออกประกาศ​ใหม่ทับประกาศเก่าเท่านั้น และขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการ​คุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​ (กคค.)

 

สำหรับคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน​ มีผู้ช่วยผู้ว่าการ​ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการ ในส่วนของคณะกรรมการ​บริษัทของเครดิตบูโร​ และผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ไม่มีอำนาจใดในเรื่องดังกล่าว แต่พร้อมให้ข้อมูล​และรับคำสั่งมาปฏิบัติ

 

เปิดข้อดี-ข้อเสีย หากลดเวลาติดประวัติเครดิตบูโร​

 

อย่างไรก็ดี สุรพลเตือนว่า การแก้ประกาศดังกล่าวต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลับเข้ามาในระบบ’ และ ‘ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ฝากเงิน’ โดยระบุว่า “ต้องชั่งน้ำหนักว่าความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน​หรือเป้าหมายที่จะให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียที่ไม่จ่าย​ ไม่ทำ​ TDR นั้นสามารถยื่นขอกู้ได้ โดยว่าที่เจ้าหนี้ใหม่ไม่เห็นข้อมูล​เมื่อใด​ ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ฝากเงินรับได้ตรงไหน​ มาตรฐาน​สากลเป็นอย่างไร​ หากมีข้อมูล​ครบ​ก็ตัดสินใจได้ครับ​ เครดิตบูโร​ไม่มีอำนาจตัดสินใจ​ เรามีหน้าที่ดำเนินการตามประกาศ​คำสั่งอย่างเดียวเลย”

 

เครดิตบูโรยังห่วงลูกหนี้ NPL จากโควิด (รหัส 21)

 

นอกจากนี้ สุรพลยังกล่าวว่า มีประเด็นที่น่าคิดคือในช่วงปี​ 2563-2565 ที่เกิดเหตุโควิดระบาด ส่งผลทำให้เกิด​ Income Shock มีการสั่งห้ามการพบหน้ากัน​ (Lockdown) เหตุ​ปัจจัย​นี้จะไปบอกว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ที่ค้าขาย​ ทำงาน​ ทำอาชีพอิสระ​ ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้จนเป็นหนี้เสียเลยทั้งหมดก็คงไม่ได้​

 

ดังนั้นในระบบการเงินไทยเราจึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่มีบัญชีหนี้เสียเพราะโควิด ที่เรียกว่า​บัญชีหนี้เสียรหัส​ 21 ​หรือ​บัญชี​ NPLs​ code 21​ ตรงนี้ทุกรัฐบาลก็พยายามหาหนทางในการแก้ไข​

 

วิธีการในการแก้ไขหลักๆ คือการปรับโครงสร้าง​หนี้​ที่มีปัญหาหรือการทำ​ TDR เพื่อให้บัญชีหนี้เสียกลายมาเป็นบัญชีหนี้ปรับโครงสร้าง​ฯ และกลายเป็นบัญชีหนี้ปกติในที่สุดครับ​

 

แนวทางต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำหนดไว้ รวมทั้งมีความพยายามสื่อสารให้ลูกหนี้​ เจ้าหนี้​ มาตกลงกันในจุดที่พอจะไปกันได้​ จูงมือกันเดินต่อไป​ ผลก็เป็นอย่างที่มีการแถลงตัวเลขกัน

 

การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบภัย​จากโควิดจนกลายเป็นหนี้เสีย​ ชำระหนี้ไม่ได้​ เป็นนโยบายมาทุกรัฐบาล​ และทุกรัฐบาลต้องการให้ลูกหนี้ที่มีบัญชีหนี้เสียนี้กลับเข้าสู่ระบบ​กู้เงินได้อีกครั้ง​ แต่จะใช้วิธีการอย่างใดจึงจะสมดุลทั้ง

 

  • ความเป็นธรรมของผู้เป็นหนี้เสีย​ที่ทุกข์​ทรมานจากผลกระทบของโควิดจนไปต่อได้ยาก
  • หลักกฎหมาย​ เป็นหนี้ต้องใช้หนี้​ สัญญาต้องเป็นสัญญา​
  • ความเสี่ยงและความมั่นคงของระบบการเงิน​ ว่าหนี้เสียจะเพิ่ม​ จะลด​ คนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มหรือลดลง
  • ความเสี่ยงของผู้ฝากเงินที่จะถูกนำไปปล่อยกู้ต่อว่าเขาเหล่านั้นคิดอย่างไร
  • ความรู้สึกของลูกหนี้ดีที่ชำระหนี้ตามปกติมาโดยตลอด เขาจะคิดอย่างไร​ 
  • เป้าหมายทางนโยบายที่ต้องการผลสำเร็จที่ตอบโจทย์​กับปัญหาทางเศรษฐกิจ​ในปัจจุ​บัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X