×

ภาวุธแนะผู้ประกอบการปั้นแบรนด์เอง เสนอรัฐ ‘กั้นกำแพงภาษี’ ให้หนา สกัดแบรนด์จีนออนไลน์ล้นทะลักจนตีตลาดไทย

18.09.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่ผู้ใช้งาน Twitter ได้โพสต์ถึงประเด็นปัญหาที่แบรนด์สินค้าจากจีนรุกเข้ามาตีตลาดในไทยอย่างหนักด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้ง Lazada และ Shopee จนส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในประเทศไทยที่นำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย 

 

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการจากจีนยังได้เปรียบจากการมีสายป่านที่ยาว สามารถตั้งโกดังสินค้าด้วยตัวเอง ได้รับการสนับสนุนการส่งออกสินค้าจากรัฐบาลจีน ทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าบางส่วน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://thestandard.co/eec-alibaba-smart-digital-hub/)

 

ต่อกรณีนี้ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com และกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) โดยได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า

 

โดยปกติในอดีต เวลาที่พ่อค้าแม่ค้าจีนจะนำสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายในล็อตใหญ่ก็ต้องดำเนินเรื่องอย่างถูกต้องและเสียภาษี ซึ่งการจะเข้ามาจำหน่ายในไทยก็มักจะเป็นไปในรูปแบบการหา ‘ตัวแทน’ หรือตั้งบริษัทร่วมค้า ฉะนั้นทุกอย่างจะมีโครงสร้างภาษีป้องกันเอาไว้ทั้งหมด 

 

แต่ปัจจุบันในยุคที่แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยม โดยเฉพาะในวันที่ Lazada ถูก Alibaba ซื้อกิจการไป ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้กับผู้ประกอบการจีนรุกเข้ามาหาช่องทางการขยายตลาดในต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีนายหน้าจากจีนรับหน้าที่พาผู้ประกอบการในจีนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้กันได้ง่ายขึ้น

 

ภาวุธบอกว่า “วิธีการคือเขาจะนำรายการสินค้าของผู้ประกอบการจากจีนเหล่านั้นขึ้นมาลิสต์ไว้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หลังจากนั้นเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ออร์เดอร์นั้นก็จะถูกส่งกลับไปยังจีน แล้วเขาก็จะนำสินค้าดังกล่าวในจำนวนหลักพันชิ้นมาแพ็กใส่ถุงใหญ่ สมมติน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 ตัน เมื่อคิดค่าส่งเหมารวมทั้งหมดมันอาจจะเหลือแค่ไม่กี่พันบาท

 

“ดังนั้นเมื่อหารค่าส่งต่อชิ้นออกมาแล้วก็จะถูกมากๆ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท แล้วรัฐบาลจีนก็สนับสนุนการส่งออกเหล่านี้ด้วย กลายเป็นว่าเมื่อนำเข้าสินค้าจีนมาแล้ว มันมาในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นถุงขนาดใหญ่ แต่เมื่อเข้ามาในไทยมันจะถูกมองเป็นขนาดชิ้นเล็กๆ ซึ่งกฎหมายศุลกากรไทยเขียนไว้ชัดเจนว่าหากสินค้าถูกส่งผ่านไปรษณีย์เข้ามาและมีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ผู้นำเข้าจะไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สินค้าเหล่านั้นไม่โดนจัดเก็บภาษี แถมยังมีต้นทุนค่าส่งที่ถูกอีก

 

“เมื่อมาถึงแล้ว สินค้าก็ถูกกระจายส่งต่อจำหน่ายในไทยกันอีกทอดหนึ่ง จึงกลายเป็นว่าพ่อค้าแม่ค้าไทยที่ได้รับผลกระทบ คือกลุ่มที่นำสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายโดยผ่านวิธีการที่ถูกต้องกับศุลกากรไทย ที่สำคัญกลุ่มพ่อค้าจีนก็เริ่มหัวใส เช่าโกดังในไทยเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ ทำให้ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าได้รับของเร็วขึ้นกว่าเดิมอีก แล้วผลกระทบมันจะเริ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า ECC และการลงทุนของ Alibaba ที่ทำให้นักลงทุนจากจีนรายนี้ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล เปิดให้นำสินค้าเข้ามายังพื้นที่ได้ สมมติมีลูกค้าสั่งซื้อของเข้ามาในไทย หากลูกค้าปฏิเสธที่จะรับสินค้าภายใน 14 วัน นักลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ได้รับผลประโยชน์มากมาย”

 

ภาวุธบอกกับ THE STANDARD ว่าส่ิงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือการที่สินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซที่จำหน่ายสินค้าในไทยอย่างหนัก โดยได้เสนอวิธีการที่พอจะสกัดกั้นการล้นทะลักของสินค้าจากจีน นั่นคือรัฐบาลต้องมาคุมเข้มสินค้าจากจีนส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจำหน่ายแล้วไม่ได้รับการรับรองที่ผ่านมาตรฐาน อย. หรือ มอก. ในไทย 

 

“ตอนนี้ผมก็เห็นว่ารัฐเริ่มเดินเกมแล้วผ่านการที่ Lazada และ Shopee ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการรับรองตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าโดยหน่วยงานในไทยจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ซึ่งผมคาดว่าจะทำให้สินค้าจากจีนลดลง”

 

นอกจากนี้กรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยยังบอกอีกด้วยว่า ภาครัฐจะต้องกั้น ‘กำแพงภาษีศุลกากร’ ให้มากขึ้น ขณะที่การทำ ‘สงครามด้านราคา’ กับแบรนด์จีนอาจจะเป็นเรื่องยาก จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเริ่มหนีด้วยการ ‘สร้างแบรนด์’ ให้กับสินค้าตัวเอง สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในเชิงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการขยับขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์และตลาดต่างประเทศในกลุ่ม CLMV

 

โดยวิธีการที่สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยได้นำเสนอให้รัฐดำเนินการคือการสร้าง ‘ผู้ประกอบการกลุ่ม E-commerce Enable’ ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญด้านออนไลน์ดิจิทัลขึ้นมา และสนับสนุนให้พวกเขารุกเข้าไปจำหน่ายสินค้าในจีน ทำการตลาดให้สำเร็จ เพื่อที่ผู้ประกอบการตัวกลางเหล่านี้จะกลับมาช่วยเหลือ แนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยที่เหลือเจ้าอื่นๆ ในการออกไปรุกตลาดต่างประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising