เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มเปิดให้บริการระบบ ‘PromptBiz’ (พร้อมบิซ) แก่ภาคธุรกิจผ่านธนาคารนำร่อง 6 แห่ง โดยคาดหวังว่า PromptBiz จะเข้ามาเป็น Game Changer ที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัลได้เหมือนกับที่ระบบ PromptPay (พร้อมเพย์) ทำสำเร็จกับภาคประชาชนมาแล้ว
ระบบ PromptBiz ที่ว่านี้คืออะไร? ให้บริการอะไรบ้าง? และมีประโยชน์แค่ไหน? THE STANDARD WEALTH จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักและเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
PromptBiz คืออะไร?
PromptBiz เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการทำธุรกิจแบบดิจิทัลที่สามารถข้ามธนาคารได้อย่างครบวงจร โดยกลไกการทำงานจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงิน ตั้งแต่ข้อมูลใบแจ้งหนี้ไปสู่การวางบิล การชำระเงิน จนถึงการออกใบเสร็จ นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดการใช้ข้อมูลไปยังธุรกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจ
ระบบ PromptBiz ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานระบบการชำระเงินที่สำคัญของไทย รวมถึงระบบ PromptPay
PromptBiz ให้บริการอะไรบ้าง?
ปัจจุบันบริการของ PromptBiz มีอยู่ 2 ด้านหลัก ได้แก่
- บริการด้านการค้าและการชำระเงิน (Digital Trade and Payment) ให้บริการส่งและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Invoice และ e-Receipt และสามารถนำข้อมูลทางการค้าดังกล่าวไปชำระเงินผ่านบริการโอนเงินทั้งภายในและระหว่างธนาคาร (Bulk Payment) และยังต่อยอดการใช้ข้อมูลไปยังธุรกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจ
- บริการด้านสินเชื่อ (Digital Supplychain Finance) เป็นบริการที่ต่อยอดจากข้อมูลในบริการแรกที่นำมาใช้สนับสนุนการให้สินเชื่อกับธุรกิจ SMEs โดย SMEs สามารถใช้ข้อมูลธุรกรรมการค้าบนระบบ PromptBiz ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบความจริงแท้แล้ว และการใช้ข้อมูลการมาขอสินเชื่อซ้ำ (Double Financing) เพื่อมาประกอบการขอสินเชื่อประเภท Invoice Factoring / Financing ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นและสะดวกรวดเร็วขึ้น รวมทั้งยังอาจได้รับอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจภายใต้เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดด้วย
ประโยชน์ของ PromptBiz
ในภาพรวมระบบ PromptBiz จะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point ในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำพวกค่ากระดาษ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บเอกสาร และค่าจ้างพนักงาน
โดยจะเปลี่ยนเอกสารทางการค้าจากเดิมที่เป็นกระดาษมาเป็นเอกสารการค้าดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การวางบิล รับวางบิล ตรวจสอบความถูกต้อง และชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมไปถึงการทำรายการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตโนมัติ โดยไม่ต้องออกใบ 50 ทวิให้กับคู่ค้า ทั้งนี้ ประเมินว่าระบบ PromptBiz จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนจากการใช้กระดาษได้ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี
ขณะเดียวกันระบบ PromptBiz จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ พัฒนากระบวนการทำงานให้เร็วขึ้น และลดข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน เช่น ประหยัดเวลา, ลด Manual Process, สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ และปิดข้อจำกัดในการทำธุรกรรมข้ามธนาคาร ช่วยให้ฝั่งผู้ขายสามารถส่งข้อมูลใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินได้สะดวกขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องมีบัญชีทุกธนาคารตามที่ผู้ซื้อกำหนด
ขณะที่ในฝั่งผู้ซื้อก็สามารถรับข้อมูลใบแจ้งหนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีบริการแจ้งเตือน การชำระเงิน และได้รับใบเสร็จรับเงินโดยไม่ต้องทวงถาม ซึ่งในภาพรวมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs จากการช่วยให้ SMEs มีข้อมูลทางการค้าและการชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital Footprint) ที่เชื่อถือได้ (Trusted Source) มาประกอบการขอสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบความจริงแท้ และการใช้ข้อมูลมาขอสินเชื่อซ้ำ (Double Financing)
ปัจจุบันมีธนาคารใดบ้างที่ให้บริการแล้ว?
ในระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 มีธนาคารผู้ให้บริการนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ KTB, BBL, BAY, KBANK และ TTB โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเลือกใช้บริการแบบต่างธนาคารได้ในแต่ละบริการ และประมาณไตรมาส 2/67 จะมี SCB เป็นผู้ให้บริการเพิ่มเติม รวมทั้งธนาคารอื่นๆ และนอนแบงก์ทยอยเข้าเป็นผู้ให้บริการในระยะถัดไป
มีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร?
ในช่วงเริ่มต้นธนาคารนำร่องจะยังไม่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับการรับ-ส่งข้อมูลเอกสารทางการค้าบนระบบ PromptBiz จนถึงสิ้นปี 2567 แต่ในระยะต่อไปค่าธรรมเนียมการชำระเงินจะคิดตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารตามปกติ ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดอีกครั้ง
ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจต้องเตรียมตัวอย่างไร และสมัครผ่านช่องทางใดได้บ้าง?
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจและเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Manager) ของธนาคารนำร่อง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 เพื่อขอคำแนะนำในการปรับระบบงานสำหรับการทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล