วันนี้ (12 เมษายน) หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า รัฐควรใช้ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขชี้นำการจัดการควบคุมโควิด-19 โดยสืบเนื่องรายงานการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่รัฐบาลประกาศวันหยุดราชการหวังให้คนเดินทางและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ความท้าทายต่อการจัดการของภาครัฐที่ถนัดใช้มาตรการกฎหมายบังคับใช้กับประชาชน แต่มักยกเว้นการปฏิบัติกับอภิสิทธิ์ชนและพวกใช้กลไกราชการหาประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นเรื่องที่น่าตรวจสอบอย่างเข้มงวด
นพ.พรหมินทร์กล่าวถึงข้อเท็จจริงหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณา ประกอบด้วย
1. พัฒนาการของโรค ด้วยเชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสที่โดยธรรมชาติมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด จึงมีปัญหาที่การให้ยาและการให้วัคซีนรักษาและป้องกัน จึงไม่อาจเป็นมาตรการเด็ดขาด แต่ต้องอาศัยภูมิต้านทานร่างกายกำจัดโรคด้วย อีกด้านหนึ่ง เชื้อโรคสายพันธุ์ดุร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยที่อ่อนแอก็ตายไปพร้อมผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นเชื้อที่แพร่ขยายต่อจึงแพร่ในกลุ่มคนที่สุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื้อมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวเลยเพราะไม่มีอาการ หรือมีอาการด้านทางเดินหายใจเล็กน้อยแล้วหายไปเอง นี่เป็นสาเหตุใหญ่ของการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในปริมาณมากในจุดอ่อนเปราะที่มีคนรวมกันมากๆ แต่การป้องกันน้อย เช่น สถานบันเทิง บ่อนการพนัน สนามมวย และที่พักคนงานที่แออัด แต่ในอีกด้านหนึ่งอัตราคนที่ป่วยตายน้อยลงมากเช่นกัน เพราะการระวังตัวมากขึ้น ความรู้ทางการแพทย์ และประสบการณ์ดูแลรักษาดีขึ้นมาก
2. ข้อมูลอัตราการติดเชื้อต้องจำแนกแยกแยะว่าเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ เจ็บป่วยเล็กน้อย แยกจากผู้ป่วยมาก และอัตราการตายที่เปลี่ยนแปลงตามห้วงเวลา ทำให้ผู้รับผิดชอบต้องติดตามเพื่อเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ความรุนแรง และการระบาดของโรคมากำหนดวางแผนล่วงหน้าให้ดี
3. พัฒนาการของการผลิตวัคซีนนานาชนิดที่เร่งค้นคว้าและผลิตออกมาล้วนมีข้อดี ข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพ ข้อบ่งชี้ และกรรมวิธีการผลิต แม้กระทั่งกรรมวิธีการขนส่งและเก็บรักษา การปิดกั้นกำจัดทางเลือกให้ประชาชนอยู่กับวัคซีนเฉพาะชนิดย่อมไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะธรรมชาติของการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของโรค ในอีกด้านหนึ่งการวิจัยของคนไทยในทุกๆ การวิจัยที่มีศักยภาพก็ต้องมีการเหลียวแลสนับสนุนอย่างเหมาะสม เพราะงบประมาณก็เคยเตรียมไว้ 5 หมื่นล้านบาทแต่ใช้ไปหมื่นกว่าล้านบาท ควรเจียดมาใช้ส่งเสริมการวิจัยที่คนไทยมีศักยภาพอย่างเหมาะสม ดีกว่าการผันไปเป็นงบแจกระลอกแล้วระลอกเล่า
4. ระยะนี้ด้วยความตระหนกของประชาชนต่อการระบาดระลอกใหม่ การขอตรวจเชื้อจากผู้สงสัยติดเชื้อจึงเป็นเรื่องจำเป็น การบริการจากภาครัฐและเอกชนย่อมต้องเสริมกัน รัฐต้องเร่งขจัดข้อจำกัดของรัฐเองที่มีต่อภาคเอกชนโดยด่วนเพื่อเอกชนจะเร่งแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน
5. ในอีกด้านหนึ่งคือ Rapid Test Kit การพัฒนาการตรวจเชื้อที่ให้ผลแม่นยำและรวดเร็ว ราคาถูก ที่ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ สามารถขจัดความสงสัย จำกัดการควบคุมโรคได้แม่นยำไม่ต้องเหวี่ยงแห และลดระยะเวลา กักกันโรค (Quarantine) ลงเท่าที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งหลายประเทศก็ให้ความใส่ใจจัดหาไว้แล้ว เช่น อังกฤษได้สั่งซื้อไว้ใช้จากผู้ผลิตอย่างต่ำ 2 ราย ในขณะที่คณะวิจัยไทยก็ทำสำเร็จเบื้องต้น และได้เผยแพร่บทความในวารสารชั้นนำของโลกทาง https://www.nature.com/articles/s41551-020-00603-x ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ไม่ทราบว่าได้รับการสนับสนุนเพียงใด
6. การจัดการภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ของรัฐผ่านมากว่า 1 ปีน่าจะผ่านพ้นภาวะช็อกหรือตระหนกได้แล้ว ตั้งสตินำพาประเทศด้วยความรู้ วิทยาการ บูรณาการ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจรวมศูนย์ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ ทั้งจากการตระเตรียมงบประมาณที่น่าจะเพียงพอ ทั้งจากประสบการณ์การจัดการของแต่ละพื้นที่ที่มีระยะเวลากว่า 1 ปีที่น่าจะเพียงพอจะพัฒนาปรับตัวให้พ้นความโกลาหลโดยไม่จำเป็น แต่วันนี้ยังมีการส่งเสริมให้คนเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยว ผสมกับการระงับจำกัดการท่องเที่ยว ด้วยหน่วยงานของรัฐต่างหน่วยต่างเขตกัน สร้างเกณฑ์ที่ปฏิบัติได้จริงบ้างไม่จริงบ้างขึ้นอีก หวังว่าหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะฝ่ายนโยบายจะไม่นิ่งนอนใจติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดตลอดวันหยุดราชการยาวนี้ด้วย
7. เทคโนโลยีด้านข้อมูลพัฒนาจนถึงเรียลไทม์ หวังว่าหน่วยงานของรัฐจะเร่งพัฒนาฐานข้อมูลการตรวจ การติดเชื้อ การสัมผัส สถานการณ์ของโรค การวิเคราะห์ที่ทันการณ์ เพื่อประโยชน์การให้บริการ การประสานงาน การสื่อสารกับประชาชน ทั้งข่าวสาร ข้อมูล ทั้งช่องทางออนไลน์ การสื่อสารข่าวสารอื่นๆ สร้างความรับรู้ที่ถูกต้อง ความมั่นใจให้ผ่านพ้นวิกฤตได้
8. ดับไฟแต่ต้นลม มาตรการเยียวยาจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่อาจจะถูกลดทอนจากการจัดการควบคุมโรคที่ดีในระยะนี้
“ขอคนไทยทุกคนพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยมาตรการของรัฐที่แก้ปัญหาบรรเทาทุกข์ของประชาชนให้ตรงจุด และที่สำคัญป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชนแออัด หมั่นล้างมือหรือล้างแอลกอฮอล์หลังออกไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ภายนอก” นพ.พรหมินทร์กล่าวทิ้งท้าย