×

เปิดประมาณการ ‘เศรษฐกิจไทยปี 2567’ จากศูนย์วิจัยต่างๆ พร้อมวิเคราะห์ทุกเครื่องยนต์ จับตาทุกโอกาสและความท้าทาย

02.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ คาด GDP ไทยปี 2566 โต 2.4-2.75% เท่านั้น นับว่าแทบไม่โตจากปีก่อนหน้า และต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีอย่างมาก
  • สำหรับปี 2567 หน่วยงานต่างๆ คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัว 2.9-3.4% แบบไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้น คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3.6-4.0%
  • แม้ว่าหลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงรอบด้านทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
  • โดยหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวกว่าคาด ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น อาจทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างจำกัด
  • ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ บางส่วนยังต้องรอความชัดเจนจากมาตรการภาครัฐ ท่ามกลางปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง

ในช่วงสิ้นปี สำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ได้ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2566 โดยจากการรวบรวมตัวเลขคาดการณ์ GDP ของ 11 หน่วยงาน THE STANDARD WEALTH พบว่าหน่วยงานต่างๆ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ราว 2.4-2.75% เท่านั้น นับว่าแทบจะไม่โตจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6%

 

โดย 5 จาก 11 หน่วยงานคาดการณ์ว่า GDP ไทยในปี 2566 จะขยายตัว 2.4% ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ผู้จัดทำตัวเลข GDP อย่างเป็นทางการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.5%

 

คาดการณ์ดังกล่าวแทบเรียกได้ว่าเป็นการหักปากกาตัวเองของหลายหน่วยงาน ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีต่างแห่ฟันธงว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2565 แน่นอนที่ 3-3.5% เนื่องจากต่างฝากความหวังไว้กับภาคการท่องเที่ยว

 

สำหรับปี 2567 ของ 11 หน่วยงาน คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะโตระหว่าง 2.9-3.4% แบบไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้น คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3.6-4.0%

 

หน่วยงานต่างๆ ประเมินผลโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้เท่าไร?

 

สำหรับการประเมินผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแต่ละหน่วยงานแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท เชื่อจะมีส่วนดัน GDP เพิ่ม 1-1.5%

 

ขณะที่ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของธนาคารโลก (World Bank) ฉบับเดือนธันวาคม 2566 คาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ซึ่ง World Bank ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือ 2.7% ของ GDP) ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีก 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี

 

ส่วน ttb analytics คาดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2567 ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 0.4-0.7% ของ GDP โดยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปี 2567 เทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการที่ 3.1%

 

 

วิเคราะห์เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยแต่ละภาคส่วน

 

เปิดบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ประเมินเครื่องยนต์เศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่ส่งออก ท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุนภาครัฐและเอกชน ว่ามีปัจจัยสนับสนุนหรือความท้าทายอะไรบ้าง

 

การส่งออกน่าจะดีขึ้น แต่มีแนวโน้มโตต่ำ

สำหรับภาคส่งออก สภาพัฒน์มองว่าในปี 2567 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะขยายตัวถึง 3.8%

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงกว่าประมาณการของศูนย์วิจัยหลายแห่ง รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2567 ไว้ที่ราว 2% เท่านั้น

 

ส่วน ttb analytics ที่มองว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวที่ราว 2% ในปี 2567 ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์ของฐานต่ำในปีนี้ รวมถึงปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และวัฏจักรการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ และยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 อันเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น

 

ท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับระดับก่อนโควิด

โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคน ในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคน ในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคนก็ตาม

 

สอดคล้องกับ ttb analytics สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.1 ล้านคน ในปี 2567 จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยน้อยกว่าคาด รวมถึงจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งแม้ว่าจะมีนโยบายการยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (Visa Free) แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนนักท่องเที่ยวจีนได้ ทำให้อัตราการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติเหมือนเช่นปี 2562

 

การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งในปีหน้า แต่ยังอ่อนแอกว่าที่เห็น

หน่วยงานต่างๆ มองว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีมองว่ามีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

 

สอดคล้องกับสภาพัฒน์ที่มองว่าปัจจัยสนับสนุนการบริโภคในปี 2567 ยังมาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ttb analytics เตือนว่าการบริโภคในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น เนื่องจากระดับรายได้ของครัวเรือนไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ด้านอัตราดอกเบี้ยก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลให้การปล่อยกู้สินเชื่อภาคธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2566 ขณะที่คุณภาพหนี้ภาคครัวเรือนก็ย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย (NPL) และความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย (Stage 2) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถในไตรมาสล่าสุดที่เร่งขึ้นอย่างมีนัย

 

การใช้จ่ายภาครัฐอาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง

สภาพัฒน์เตือนว่าแรงขับเคลื่อนทางการคลังอาจเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567 โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณปี 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป

 

สอดคล้องกับ ttb analytics ที่ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐในปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง หลังการลงทุน Mega Project โครงการใหม่ๆ คาดว่าจะล่าช้าออกไปจากกรอบปีงบประมาณปกติราว 6 เดือน จากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ราวปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3 ก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ

 

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง

สภาพัฒน์มองว่าในปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนยังจะขยายตัวในเกณฑ์ดีถึง 2.8% ตามยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบกับการขยายพื้นที่และการเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 และ 2568 อยู่ที่ 3.6% และ 4.5% ตามลำดับ ตามการส่งออกสินค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ตามการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีแนวโน้มจะลงทุนจริงในปี 2567

 

เปิดความเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2567

 

กระนั้นประมาณการต่างๆ ด้านบนยังถือว่ามีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศที่ต้องจับตา โดย THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

 

ปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตา

  • เศรษฐกิจและการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง

โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เตือนว่าภาวะดังกล่าวอาจทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด โดยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยาวนาน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลงและอาจขยายตัวไม่ถึง 5% จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

  • ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น

“โดยตลอดทั้งปี 2567 จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อินเดีย, รัสเซีย, อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดบางส่วนคาดหวังว่าจะเห็นการทยอยผ่อนคลายการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Dovish) ของประเทศหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2567 ซึ่งอาจกดดันตลาดการเงินทั่วโลก รวมไปถึงค่าเงินบาทอาจจะมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นได้เช่นกัน” ttb analytics ระบุ

 

  • ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสูงในหลายประเทศ

ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า “ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ อาจกดดันเศรษฐกิจและภาคการเงินในประเทศแกนหลักของโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป”

 

ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องจับตา

  • โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

SCB EIC ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สำคัญจากนโยบายการคลัง อาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังเปราะบางและมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคสูง อย่างไรก็ดี โครงการนี้ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลัง”

 

  • นโยบายการเงินของไทยที่ตึงตัว

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า “นโยบายการเงินของไทยที่ตึงตัวภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ตลอดปี 2566 ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือน นอกจากนี้ยังต้องติดตามมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของ ธปท. ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง โดยจะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งอาจกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของครัวเรือน”

 

  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า “สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับเพิ่ม ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม”

 

โดยสรุปแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงรอบด้านทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวกว่าคาด ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น อาจทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศบางส่วนยังต้องรอความชัดเจนจากมาตรการภาครัฐ ท่ามกลางปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X