×

‘Project Restart’ แผนการและความหวังที่จะช่วยให้พรีเมียร์ลีกกลับมาคิกออฟได้อีกครั้ง

26.04.2020
  • LOADING...

‘พรีเมียร์ลีก’ เตรียมแผนการสำหรับการกลับมาทำการแข่งขันต่อเพื่อปิดฤดูกาล 2019-20 ที่คั่งค้าง โดยในแผนการจะแข่งในสนามได้รับการ ‘อนุมัติ’ ทันทีที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้สโมสรต่างๆ กลับมาเดินหน้าต่อได้

 

ความคืบหน้าของการกลับมาแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมีการเปิดเผยเพิ่มเติมจาก The Times ว่าขณะนี้ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกีฬาต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในนามของตัวแทนกีฬาอาชีพทุกประเภทในการที่จะทำให้กีฬากลับมาทำการแข่งขันได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งลีกฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย

 

ทั้งนี้มีการประเมินว่าเพื่อการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจจะมีการจำกัดจำนวนสนามที่จะใช้ในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความต้องการในการจัดหาชุดทดสอบ การสนับสนุนทางการแพทย์ และจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องมาดูแลความเรียบร้อยด้วย

 

สำหรับพรีเมียร์ลีกเองได้จัดเตรียมแผนการเอาไว้แล้วเช่นกันในชื่อ ‘Project Restart’ ซึ่งได้มีการแชร์ให้กับคณะทำงาน รวมถึงเหล่าบรรดาผู้ถือหุ้น – หรือสโมสรในพรีเมียร์ลีกทั้ง 20 ทีม – ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

เนื้อหาของโปรเจกต์นี้มีอะไรบ้าง

  • การแข่งจะทำใน ‘สนามปิด’ และมีการพูดคุยกันถึงเรื่องของการจำกัดจำนวนสนามที่จะใช้ทำการแข่งขัน
  • กรอบระยะเวลาที่คาดหวังคือการกลับมาแข่งขันภายในวันที่ 8 มิถุนายน
  • เพื่อจะกลับมาแข่งในช่วงเวลานั้น นักฟุตบอลจะต้องกลับมาซ้อมอีกครั้งภายในเดือนพฤษภาคม โดยเป้าหมายอยู่ที่ 9 พฤษภาคม แต่มีความเชื่อกันว่าอีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้นคือช่วงเวลาที่เป็นไปได้มากกว่า
  • กรณีเลวร้ายที่สุดคือกลับมาซ้อมภายใน 1 มิถุนายน แต่แบบนั้นการจะจบฤดูกาลภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมอาจจะต้องลงแข่งมากถึงสัปดาห์ละ 3 นัด
  • การซ้อมเป็นอีกปัญหา เพราะต้องซ้อมแยกกลุ่มเล็ก กลุ่มละ 3 คน ซึ่งสำหรับนักฟุตบอลและโค้ช มันไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีมากนัก
  • นักฟุตบอลจะต้องเดินทางไปกลับสนามซ้อมด้วยตัวเอง และต้องมาในชุดที่พร้อมสำหรับการซ้อม ไม่มีการเปลี่ยนชุดที่ห้องพัก
  • ก่อนเกมเริ่มจะมีสิ่งต่างๆ ที่ถูกติดตั้งเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่าง
  • อาจมีการเว้นระยะในช่วงของการอบอุ่นร่างกายก่อนเกม

 

นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเป้าหมายในการกลับมาอยู่ที่วันที่ 8 มิถุนายน และจะจบฤดูกาลได้ไม่เกินวันที่ 27 กรกฎาคม ส่วนในฤดูกาลใหม่จะเริ่มต้นในวันที่ 22 สิงหาคม

 

ลอนดอน มาราธอน เป็นหนึ่งในรายการกีฬาที่ถูกเลื่อนเพราะโควิด-19 

 

รัฐบาลอังกฤษกับการกลับมาสนใจเรื่องกีฬา

ความคืบหน้าที่น่าสนใจอีกด้านคือท่าทีของรัฐบาลอังกฤษที่กลับมาให้ความสนใจกับการจัดแข่งกีฬาอีกครั้ง โดยได้มีการจัดเตรียมการประชุมต่อเนื่องระหว่างผู้บริหารขององค์กรกีฬาใหญ่และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ระดับสูง ซึ่งจะมีการประชุมทุกสัปดาห์ โดยงานนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี เป็นคนนั่งหัวโต๊ะ

 

BBC ระบุว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะทำให้กีฬาสามารถกลับมาทำการแข่งขันได้ภายในระยะเวลา ‘ไม่กี่สัปดาห์’ หากกระบวนการสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

สิ่งที่จะทำให้กีฬากลับมาทำการแข่งได้คือการพิจารณาจากฝ่ายสาธารณสุข ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าในแต่ละชนิดกีฬาจะต้องมีการกำหนดวิธีการปฏิบัติอย่างไรบ้าง อะไรที่จำเป็นต้องทำ และทุกอย่างที่ต้องทำจะต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

การทดสอบ มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม มาตรฐานด้านสุขอนามัย และการจำกัดจำนวนคนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปที่สนามเป็นสิ่งที่จะต้องมีการหารือกัน โดยจะมีกีฬาบางประเภทที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการแข่งขันได้ก่อน ขณะที่อีกหลายประเภทจะต้องรอเวลาที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี ท่าทีในครั้งนี้เป็นเพียงความพยายามในการที่จะไม่ทำให้การกลับมาของกีฬาในอังกฤษเป็นไปอย่างล่าช้าไปมากกว่านี้ โดยทางการยอมรับแล้วว่าการแข่งสามารถทำในสนามปิดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาได้ในทันที

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างจะดำเนินได้ต้องผ่าน 5 ด่านสำคัญให้ได้

 

  1. ต้องมั่นใจว่าบริการสาธารณสุข (NHS) สามารถรับมือได้
  2. มีจำนวนการลดลงของผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
  3. จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่สามารถรับมือได้
  4. มั่นใจว่าชุดทดสอบและชุดป้องกัน PPE มีเพียงพอสำหรับอนาคต
  5. มั่นใจว่าการผ่อนปรนมาตรการจะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดรอบสอง

 

 

มูลค่าความเสียหายหากพรีเมียร์ลีกแข่งไม่จบที่ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้

 

กรณีศึกษาจากลีกดัตช์และสิ่งที่พรีเมียร์ลีกกังวล

การประกาศยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาล 2019-20 ของลีกดัตช์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดคำถามต่ออนาคตของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกระดับ Top 5 ที่มีความเคลื่อนไหวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่มีความหวังจะกลับมาในเดือนหน้า ขณะที่ลาลีกา สเปน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส และเซเรีย อา อิตาลี มีแผนการที่เดินหน้าไปค่อนข้างมาก

 

ยิ่งเมื่อเทียบกับในสเปนที่มีการกำหนดแผนการอย่างละเอียด 4 ขั้นตอนก่อนที่ทีมฟุตบอลจะกลับมาทำการแข่งได้จะยิ่งเห็นความแตกต่าง

 

ความล่าช้าและสถานการณ์ในประเทศอังกฤษทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามว่าพวกเขาจะกลับมาทำการแข่งได้จริงหรือไม่ โดย ชุสต์ สปรี ประธานสมาคมฟุตบอลดัตช์ (KNVB) มองว่าไม่ว่าจะในอังกฤษหรือแม้แต่ชาติอื่นในยุโรปเองก็ตาม การจะกลับมาทำการแข่งในสนามปิดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 

ปัญหาคือหลายชาติ – รวมถึงอังกฤษ – ไม่มีไกด์ไลน์ที่ชัดเจนมากพอ เมื่อเป็นเช่นนั้นอำนาจในการตัดสินใจจะอยู่กับภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าความเป็นไปได้มีน้อย ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะตัดจบการแข่งขันเหมือนในลีกดัตช์


อย่างไรก็ตาม การตัดจบลีกของชาวเนเธอร์แลนด์เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมการรวมตัวของคนหมู่มาก เช่น การแข่งกีฬา ไปจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ KNVB รวมถึงสโมสรประเมินแล้วว่าไม่เหมาะสมที่จะรอเพื่อกลับมาแข่งต่อ เพราะจะกระทบต่อฤดูกาลหน้าได้

 

ส่วนเรื่องการที่ตัดสินให้ไม่มีแชมป์ แม้ว่าอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม จะนำจ่าฝูงเหนืออาแซด อัลค์มาร์ ด้วยผลต่างประตูได้เสีย รวมถึงการไม่มีการเลื่อนชั้นตกชั้น ทั้งๆ ที่คัมบูร์ สโมสรในระดับดิวิชัน 2 มีคะแนนนำโด่ง 11 คะแนน เกิดขึ้นจากการโหวตที่ไม่ลงตัวของบรรดาสโมสร ทำให้สุดท้ายเป็น KNVB ที่ตัดสินใจเช่นนี้ ทำให้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งลีกเมื่อปี 1956 ที่ไม่มีทีมแชมป์ เป็นการตัดสินใจที่ ‘น่าละอายที่สุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬาดัตช์’ และเป็นวันที่ ‘ขมขื่น’ 

 

ในกรณีของพรีเมียร์ลีก ซึ่งลิเวอร์พูลมีคะแนนนำโด่ง 25 คะแนนในเวลานี้เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และจะต้องมีการพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนหากพรีเมียร์ลีกไม่สามารถกลับมาทำการแข่งขันต่อได้จริงๆ ซึ่งในกรณีของลีกเบลเยียมหรือสกอตแลนด์ที่คะแนนค่อนข้างขาดก็ให้อันเดอร์เลชต์และกลาสโกว์ เซลติก ได้เป็นแชมป์

 

นอกจากนี้ยังต้องมีการหารือเรื่องวิธีการคำนวณแต้ม หากต้องการจบฤดูกาลแบบมี ‘บทสรุป’ เช่น จะใช้วิธีการคำนวณแต้มเฉลี่ยต่อนัด หรือคำนวณผลเกมที่เหลือจากผลงานที่ผ่านมา หรือจะนับเฉพาะเกมนัดแรกที่พบกัน 

 

เพราะเรื่องของ ‘เงินรางวัล’ ที่แตกต่างกันอันดับละ 1.9 ล้านปอนด์ ก็มากพอที่ทีมระดับกลางๆ หลายทีมจะตั้งใจเล่นเมื่อฤดูกาลกลับมา (เช่น ถ้าจบฤดูกาลด้วยอันดับ 10 จะได้เงินมากกว่าอันดับ 15 ถึง 9.5 ล้านปอนด์)

 

แต่ในความเห็นของสปรียังเชื่อว่าการจะหาบทสรุปเรื่องแชมป์ใน ‘ปีแบบนี้’ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนัก

 

กระนั้นปัญหาสำหรับพรีเมียร์ลีกไม่ได้อยู่แค่ในสนามเท่านั้น เพราะปัญหาใหญ่ที่ทำให้พรีเมียร์ลีกถูกกดดันให้กลับมาทำการแข่งต่อให้ได้คือเรื่องของเงินรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ที่หากไม่สามารถแข่งต่อได้จะต้องใช้เงินคืนหรือถูกหักเงินในอนาคตจำนวน 752 ล้านปอนด์

 

แผนสำรองของสำรองคือการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำงานร่วมกับ DLA Piper บริษัททางกฎหมายที่ให้คำปรึกษาเรื่องของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด โดยกองทุนฉุกเฉินนี้จะมีเงินมอบให้ทุกสโมสรจำนวน 10 ล้านปอนด์ ขณะที่ทุกสโมสรเองก็พยายามในการต่อรองเรื่องการลดค่าเหนื่อยของผู้เล่นหรือการชะลอการรับค่าเหนื่อย ซึ่งขึ้นอยู่กับสโมสร

 

แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการกลับมาแข่งให้ได้ และนั่นทำให้ Project Restart จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่เหลือจึงอยู่ที่การตกลงรายละเอียดให้ได้ทั้งกับเหล่าสโมสรด้วยกันเองกับภาครัฐ และภาวนาว่าตัวเลขผู้ป่วยจะลดลงต่อเนื่อง เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือจำนวนชุดทดสอบที่ยังมีไม่เพียงพอ และอาจทำให้การเตรียมการทุกอย่างมีค่าเท่ากับอากาศ

 

เชื่อว่าความคืบหน้าในเรื่องนี้จะชัดเจนขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะหลังการประชุมรอบหน้าของเหล่าสโมสรพรีเมียร์ลีกในวันที่ 30 เมษายนนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising