เป็นระยะเวลา 4 วันที่วงการฟุตบอลอังกฤษถูกเขย่าอย่างรุนแรงจากแผนการใหญ่ที่ริเริ่มจาก 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้รหัส ‘Project Big Picture’ (PBP) ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ในประเทศที่เป็นแม่แบบของเกมลูกหนังสมัยใหม่
เพราะในแผนการดังกล่าวมีข้อเสนอมากมายในการปฏิรูปวงการฟุตบอลอังกฤษแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ตั้งแต่ระดับสูงสุดลงมาจนถึงระดับรากหญ้า ไปจนถึงวงการฟุตบอลหญิงเลยทีเดียว
แผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก 72 สโมสรในอาณัติของฟุตบอลลีก (EFL) ภายใต้การนำของ ริค แพร์รี ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก ที่ได้ประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งที่จะได้รับจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกมากขึ้นจากเดิม 4 เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมาสโมสรเหล่านี้ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง หลายสโมสรเอาตัวแทบไม่รอด และโควิด-19 กำลังจะลบชื่อสโมสรอีกหลายแห่งไปจากหน้าประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวมีจุดที่น่ากังขา โดยเฉพาะ ‘อำนาจ’ ในการตัดสินเรื่องต่างๆ จากเดิมที่ทุกสโมสรทุกแห่งมีสิทธิ์และเสียงเท่ากัน แต่ในแผน PBP อำนาจในการตัดสินใจสำหรับพรีเมียร์ลีก (และสำหรับ เดอะ แชมเปียนชิป ในเรื่องของการเจรจาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ฯลฯ) จะตกอยู่ในมือของ 9 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่เรียกว่า Long-Term Shareholder ซึ่งจะมีสถานะพิเศษเหนือกว่าสโมสรอื่น ( วิเคราะห์ ‘Project Big Picture’ แผนปฏิวัติฟุตบอลอังกฤษครั้งมโหฬารของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
จากเดิมที่การลงมติจะต้องใช้เสียงจำนวน 14 จาก 20 เสียงตามจำนวนสโมสรในพรีเมียร์ลีก หากเป็นไปตามแผนการจะมีเพียง 9 สโมสรเท่านั้นที่มีสิทธิ์โหวต และการผ่านมติต้องการเสียงแค่ 2 ใน 3 หรือ 6 จาก 9 สโมสรเท่านั้น
โดยสโมสรอภิสิทธิ์ชนซึ่งมาจากสโมสรที่อยู่ในพรีเมียร์ลีกมายาวนานกว่าสโมสรอื่นสามารถตัดสินได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการตรากฎ ไปจนถึงเรื่องของเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
เรื่องนี้เองที่ทำให้พรีเมียร์ลีกลุกเป็นไฟ เพราะต่อให้ 72 สโมสรของฟุตบอลลีกยินดีจะ ‘ขายวิญญาณ’ ให้ ก็ไม่ได้แปลว่าสโมสรที่อยู่นอกเหนือจากคณะผู้ก่อการที่เชื่อกันว่าคือกลุ่ม Big Six ของพรีเมียร์ลีกจะยินยอมมอบศักดิ์และสิทธิ์ให้โดยง่าย
นั่นจึงเป็นที่มาของการประชุมผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีกเร่งด่วนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
เป็นการประชุมเพื่อหยุดสโมสรยักษ์ใหญ่ที่คิดว่าเหนือกว่าสโมสรอื่นไม่ให้เหิมเกริมไปมากกว่านี้
การประชุมครั้งประวัติศาสตร์
ในการประชุมผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาถูกคาดหมายว่าจะเป็นการประชุมที่ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์
เหตุผลเพราะแผน PBP นั้นแสดงให้เห็นถึงความละโมบและเหิมเกริมของสโมสรใหญ่ที่ทึกทักเอาเองว่ามีอำนาจมากพอที่จะบีบให้ทุกสโมสรต้องเห็นชอบด้วยได้
หลายคนเชื่อว่า ลิเวอร์พูล ภายใต้การนำของ จอห์น เฮนรี ที่เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการสโมสรครบรอบ 10 ปีพอดีในวันนี้ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ริเริ่มแผนการ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้ โจเอล เกลเซอร์ ในฐานะผู้สมคบคิดหมายเลข 1 จะถูกสับจนเละเทะในการประชุม
แต่ในการประชุมไม่มีการโต้แย้งที่รุนแรงขนาดนั้นแต่อย่างใด โดย แกรี ฮอฟฟ์แมน ประธานพรีเมียร์ลีกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันหลังสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความสับสน
ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกตำหนิจากสโมสรต่างๆ เกี่ยวกับแผนการดังกล่าวที่ควรจะมีการพูดคุยกันเป็นการภายในก่อนจะเปิดเผยต่อสาธารณะ โดย เดนิส บาร์เร็ตต์-บาเซนเดล ประธานบริหารเอฟเวอร์ตันเรียกร้องให้สองตัวแทนผู้บริหารที่ก่อเรื่องอย่าง ทอม เวอร์เนอร์ และ เอ็ด วูดเวิร์ด กล่าวคำขอโทษ
แต่ทั้งเวอร์เนอร์ และวูดเวิร์ด ปฏิเสธที่จะขอโทษเพราะไม่เชื่อว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น พร้อมชี้แจงว่า PBP ยังไม่ใช่ ‘แผน’ หากแต่เป็นแค่ ‘ความคิด’
อีกหนึ่งคนที่กลายเป็น ‘ศัตรู’ กับเหล่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกไปจนถึงสมาคมฟุตบอล ซึ่ง เกร็ก คลาร์ก ประธานเอฟเอ ได้กล่าวโจมตี ริค แพร์รี ประธานฟุตบอลลีก ที่ถูกมองว่าเป็นนกสองหัว ต่อหน้าพรีเมียร์ลีกพูดอย่าง แต่ลับหลังกลับไปวางแผนอีกอย่าง
ความโกรธเคืองต่อแพร์รี ถึงขั้นที่มีกระแสข่าวว่าสโมสรหรือแม้แต่พรีเมียร์ลีกเองไม่ต้องการที่จะเจรจาด้วย และจะไม่ช่วยเหลือ 72 สโมสรในอาณัติของฟุตบอลลีกหากยังมีอดีตประธานบริหารลิเวอร์พูล ซึ่งเคยเป็นประธานบริหารพรีเมียร์ลีกคนแรกนั่งแท่นเป็นผู้นำ
อย่างไรก็ดี ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รู้ตัวว่าในการต่อสู้ครั้งนี้พวกเขาพลาดและเป็นผู้แพ้ ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามผลักดันแผนการต่อไปเมื่ออีก 4 สโมสรในกลุ่ม Big Six ด้วยกันอย่าง เชลซี, อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ยังไม่กล้าที่จะออกมายืนหยัดร่วมกัน
แผนการ PBP จึงถูกเผาทิ้งกลางการประชุมโดยไม่จำเป็นต้องพูดอะไรให้มากความ
“สโมสรพรีเมียร์ลีกทั้ง 20 แห่งได้ตกลงร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า Project Big Picture จะไม่ได้รับการเห็นชอบจากพรีเมียร์ลีกหรือสมาคมฟุตบอล”
แต่เพื่อแก้ไขปัญหาของวงการฟุตบอลอังกฤษที่ชัดเจนว่าไม่สามารถปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ได้ จึงมีการตกลงกันใน 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ไม่ใช่ให้เป็นความคิดของสโมสรใหญ่ไม่กี่แห่ง
โดยบทสรุปของการประชุม พรีเมียร์ลีกตกลงที่จะ
- ประเมินกลยุทธ์ใหม่เพื่อช่วยเหลือวงการฟุตบอลอังกฤษทันที โดยจะเป็นการคิดและคุยร่วมกันของ 20 สโมสร ไม่ใช่แค่ 2 สโมสร โดยสาระสำคัญอยู่ที่โครงสร้างการแข่งขัน ปฏิทินการแข่งขัน และความยั่งยืนทางการเงิน ซึ่งเป็น 3 วัตถุประสงค์เดียวกับ PBP
- ตกลงให้เงินช่วยเหลือสโมสรในระดับลีกวัน และลีกทู 50 ล้านปอนด์ โดยก่อนหน้านี้ได้ให้เงินช่วยเหลือไปแล้ว 27.2 ล้านปอนด์ รวมเป็น 77.2 ล้านปอนด์ ซึ่งจะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่สโมสรในระดับลีกล่างใกล้ล้มละลาย และรัฐบาลเรียกร้องให้พรีเมียร์ลีกยื่นมือช่วยเหลือได้มาก
- สำหรับในส่วนของสโมสรใน เดอะ แชมเปียนชิป จะมีการหารือร่วมกับฟุตบอลลีกอีกครั้ง แต่สโมสรพรีเมียร์ลีกส่วนใหญ่ไม่คิดว่าสโมสรส่วนใหญ่ใน เดอะ แชมเปียนชิป จะมีปัญหาทางการเงินรุนแรงขนาดที่ต้องการเงินช่วยเหลือ โดยประเมินจากการที่สโมสรหลายแห่งมีเจ้าของสโมสรที่ร่ำรวย บางแห่งขายนักฟุตบอลทำเงินได้มหาศาล และอีกหลายแห่งปฏิเสธที่จะขายนักฟุตบอลให้ซึ่งแปลว่าไม่ได้เดือดร้อนทางการเงิน
ริชาร์ด มาสเตอร์ส ในฐานะประธานบริหารพรีเมียร์ลีก ซึ่งเจอบททดสอบยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากที่ต้องนำ 20 สโมสรฝ่าวิกฤตช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว เชื่อว่าบทสรุปดังกล่าวที่ได้มาจากการหารืออย่างสร้างสรรค์เป็นนั้นเป็นผลดี โดยที่ข่าวเล่าข่าวลือตลอด 4 วันก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพรีเมียร์ลีกเสียหายแต่อย่างใด และแผนการปฏิรูปวงการฟุตบอลก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวาระอยู่แล้ว ดังนั้นพรีเมียร์ลีกจึงไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องทบทวนกลยุทธ์ต่างๆ แต่อย่างใด
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพรีเมียร์ลีกกับฟุตบอลลีก แม้จะยอมรับว่าผิดหวังอย่างรุนแรงต่อแพร์รี แต่ไม่ได้แปลว่าทั้งสององค์กรจะไม่ญาติดีต่อกันอีก โดยเฉพาะต่อสโมสรระหว่างสององค์กรที่ไม่ได้มีปัญหาระหว่างกัน
แต่จะจริงอย่างที่มาสเตอร์สกล่าวหรือไม่ต้องรอดูท่าทีขั้นต่อไปของพรีเมียร์ลีก
PBP ตายแค่ร่างแต่จิตวิญญาณยังอยู่?
แต่ถึงร่าง PBP จะตายไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในมุมของลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมองว่าพวกเขาได้รับชัยชนะมากกว่าความพ่ายแพ้
อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการทบทวนต่อเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ปฏิทินการแข่งขัน และเรื่องสำคัญคือเงินรายได้ต่างๆ โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับ จอห์น เฮนรี เจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลกล่าวอย่างมั่นใจว่า “เราผลักดันข้อเสนอและตอนนี้พวกเขาก็กำลังพิจารณามัน”
ขณะที่สโมสรอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีกปฏิเสธแผนการนี้ แต่อย่างน้อยมันทำให้พวกเขารู้ว่ามีอีก 72 สโมสรในฟุตบอลลีกที่พร้อมจะเอาด้วยหากถึงเวลาจริงๆ ซึ่งรวมถึงการมีคีย์แมนอย่างแพร์รีเป็นพวก
หรือหากจะนับอย่างละเอียดแล้วจะมีราว 65 จาก 72 สโมสรที่เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว เพราะมีสโมสรบางแห่งที่ไม่เห็นด้วยกับการยกสิทธิ์และเสียงให้แก่สโมสรใหญ่ รวมถึงไม่พอใจแพร์รีที่กล่าวอ้างว่าได้รับการเห็นชอบจากสโมสรทุกแห่งทั้งที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น
ทั้งนี้ในแผนการ PBP นั้นนอกจากสิ่งที่ได้มีการเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งผ่านการร่างมาแล้ว 17 ฉบับในระยะเวลา 3 ปี) ยังมีการวิเคราะห์ว่าลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และสโมสรอื่นในกลุ่ม Big Six มีเป้าหมายแอบแฝง
โดยปลายทางของสิ่งที่ทำทั้งหมดจะนำไปสู่การเข้าร่วมการแข่งขันรายการใหม่ที่จะรวมเหล่าสุดยอดสโมสรของยุโรปไว้ด้วยกันในนาม ‘ซูเปอร์ ลีก’ ซึ่งเป็นแผนการที่มีการคิดร่วมกันมาเป็นระยะเวลานานแล้วในการตั้งรายการใหม่ซึ่งจะแยกตัวจากยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
การปรับลดจำนวนทีมและความหนาแน่นของตารางแข่งขัน มีเป้าหมายเพื่อทำให้สโมสรสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น และใช้อำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนตารางแข่งขันในลีกจากเดิมที่อยู่ในช่วงสุดสัปดาห์เป็นหลักมาแข่งขันในช่วงกลางสัปดาห์ และแข่งขันซูเปอร์ลีกในช่วงสุดสัปดาห์แทน
เพราะในสายตาของเฮนรี มองว่าแฟนฟุตบอลทั่วโลกต้องการจะดู ลิเวอร์พูล เจอกับยักษ์ใหญ่อย่าง บาเยิร์น มิวนิก หรือ บาร์เซโลนา มากกว่า เบิร์นลีย์ หรือ เซาแธมป์ตัน
จำนวนสโมสรในลีกที่ลดลงตามแผน PBP ยังหมายถึงการที่เกมเหย้าจะลดลงไปด้วย และทำให้สโมสรในระดับกลางหรือเล็กขาดรายได้จากวันแข่งขัน (Matchday) ไม่นับส่วนแบ่งในการถ่ายทอดสดที่จะลดลงไปตามลำดับ เท่ากับความสามารถในการแข่งขันของสโมสรเหล่านี้จะลดลง
นั่นคือการทำให้ทีมอื่นอ่อนแอ สวนทางกับกลุ่มสโมสรใหญ่ซึ่งจะมีรายได้จากเกมยุโรปและส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากขึ้น ทำให้แทบจะการันตีความสำเร็จที่จะกระจุกอยู่ในวงแคบ และช่องว่างระหว่างสโมสรที่ร่ำรวยกับยากจนก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก
โดยที่ ‘ไม้ตาย’ คือการที่ Big Six อาจจะแยกตัวจากพรีเมียร์ลีกและไปร่วมกับฟุตบอลลีก หรือจัดตั้งลีกใหม่ขึ้นเอง แม้ว่ามันจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับเมื่อครั้งที่สโมสรในดิวิชัน 1 แยกตัวมาตั้งพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 1992 ก็ตาม
ดังนั้นแม้ PBP จะตายไปแล้ว แต่ก็เป็นการตายแค่ตัว หากแต่เจตนารมณ์ยังอยู่ และไม่ช้าก็เร็วที่เรื่องนี้จะกลับมาอีกครั้ง
นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/10/14/liverpool-man-united-forced-forced-abandon-project-big-picture/
- https://www.theguardian.com/football/2020/oct/14/premier-league-efl-bailout-project-big-picture
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/premier-league-clubs-kill-off-project-big-picture-at-emergency-meeting-dp8jwq69g
- https://www.bbc.com/sport/football/54545053
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/yes-english-football-needs-leaders-but-not-mercenary-opportunists-like-joel-glazer-and-john-w-henry-3lqxlj029
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/yes-english-football-needs-leaders-but-not-mercenary-opportunists-like-joel-glazer-and-john-w-henry-3lqxlj029
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/10/12/project-big-picture-inside-story-liverpool-man-utd-efl-plan/
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/10/12/americanisation-english-football-project-big-picture-money-control/
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/10/12/project-big-picture-loan-system-will-help-biggest-clubs-build/