×

วิเคราะห์ ‘Project Big Picture’ แผนปฏิวัติฟุตบอลอังกฤษครั้งมโหฬารของลิเวอร์พูล และ แมนฯ ยูไนเต็ด

12.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 mins. read
  • ลิเวอร์พูลร่างแผนการที่ได้รับการขนานนามว่า Project Big Picture โดยได้รับการสนับสนุนจากแมนฯ​ ยูไนเต็ด รวมถึงแมนฯ ซิตี้, อาร์เซนอล, เชลซี และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ หรือกลุ่ม Big Six ในการปฏิวัติวงการฟุตบอลอังกฤษ
  • ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยมีเนื้อหาหลายส่วนที่น่ากังขา เช่น อำนาจในการตัดสินที่จะตกอยู่กับแค่ 9 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่สามารถ ‘ชี้เป็นชี้ตาย’ วงการฟุตบอลในประเทศได้
  • หนึ่งในตัวละครสำคัญคือ ริค แพร์รี ประธาน EFL ที่เอาด้วยกับแผนการนี้ เพราะมองแล้วว่า 72 สโมสรในอาณัติจะได้มากกว่าเสีย
  • นี่คือแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลอังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่มีการแยกตัวมาก่อตั้งพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 1992

โดยไม่มีใครคาดคิด จู่ๆ แผ่นดินฟุตบอลอังกฤษก็ถึงคราวสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อมีรายงานข่าวระดับ World Exclusive ของสำนักข่าว The Daily Telegraph เกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอในการปฏิวัติวงการฟุตบอลอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในชื่อ ‘Project Big Picture’

 

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกฝ่ายคือข้อเสนอดังกล่าวมาจากสองมหาอำนาจที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศอย่างทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล และ ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ในยามปกติแล้วเป็นคู่แค้นตลอดกาล แต่กลับจับมือกันอย่างแน่นแฟ้นเพื่อผลักดันข้อเสนอนี้

 

สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ริเริ่มโดยลิเวอร์พูล ที่ปัจจุบันเป็นของ Fenway Sports Group (FSG) กลุ่มธุรกิจกีฬาสัญชาติอเมริกัน โดยเดิมใช้ชื่อว่า ‘Revitalisation’ หรือการทำให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งแผนนี้ได้รับการสนับสนุนจากแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสโมสรที่เป็นสมบัติของครอบครัวเกลเซอร์ กลุ่มทุนอเมริกันเช่นเดียวกัน

 

ในรายงานข่าวระบุว่าสโมสรอื่นๆ ในกลุ่มที่ได้รับการเรียกว่า ‘Big Six’ ซึ่งประกอบไปด้วยแมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, เชลซี และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ต่างเห็นชอบด้วยเช่นกัน

 

แผนการฉบับนี้ไม่ได้เพิ่งคิดขึ้น แต่เริ่มหารือกันมาตั้งแต่ปี 2017 และผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แฟนบอลไม่สามารถเข้าสนามได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการผลักดันแผนนี้

 

โดยในตอนหนึ่งของเอกสารมีการระบุว่ามีเจตนาใน ‘การตั้งต้นใหม่ของระบบเศรษฐกิจและการปกครองของโครงสร้างฟุตบอลอังกฤษที่มีมาช้านาน’ 

 

ทั้งนี้ ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องดีคือการกระจายรายได้ใหม่ที่จะแบ่งรายได้ของพรีเมียร์ลีกให้แก่ฟุตบอลลีกมากขึ้น จากเดิม 4% เป็น 25% ซึ่งทำให้ ริค แพร์รี ประธานฟุตบอลลีก ยินดีที่จะร่วมผลักดันข้อเสนอนี้แม้ว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับทางพรีเมียร์ลีกก็ตาม

เหตุผลของแพร์รีคือ การร่วมแผนนี้จะทำให้ฟุตบอลลีกมีโอกาส ‘ลืมตาอ้าปาก’ มากขึ้นหลังจากที่ช่องว่างกับพรีเมียร์ลีกยิ่งห่างไกลกันราวกับอยู่ดาวคนละดวง ซึ่งแม้ในแผนดังกล่าวจะมีจุดที่น่ากังขาอยู่บ้าง เช่น ยกเลิกการแข่งขันฟุตบอล EFL Cup ซึ่งเป็นรายการเก่าแก่ของ EFL แต่ประเมินแล้วพวกเขา ‘ได้’ มากกว่า ‘เสีย’ และสมาชิกของฟุตบอลลีกจำนวน 72 สโมสร ‘เอาด้วย’ กับเรื่องนี้

 

ในส่วนที่น่ากังขาคือเรื่อง ‘อำนาจ’ ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่จะตกอยู่กับ 9 สโมสรของพรีเมียร์ลีกทั้งหมดที่ถูกเรียกว่า Long-Term Shareholders ซึ่งประกอบไปด้วย 6 สโมสรในกลุ่ม Big Six รวมกับ เอฟเวอร์ตัน, เซาแธมป์ตัน และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

 

ในจำนวน 9 สโมสรนี้ ขอเพียงแค่ 6 เสียงก็สามารถโหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญได้ทั้งหมด แม้กระทั่งการคัดค้านการเข้าเทกโอเวอร์ของสโมสรใหม่ต่อให้ผ่านการพิจารณาของพรีเมียร์ลีกก็ตาม​ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎต่างๆ

 

ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้พรีเมียร์ลีกรวมถึงรัฐบาลอังกฤษออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงและแสดงท่าทีผิดหวัง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ ริค แพร์รี) ต่อการที่มีการเปิดเผยแผนดังกล่าวในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายเผชิญวิกฤต เพราะโดยหลักการเดิมของพรีเมียร์ลีกจะยึดหลัก​ ‘เท่าเทียม’ กันเป็นหลัก

 

ความเท่าเทียมเบื้องต้นคือทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกจะมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง การโหวตเรื่องใดๆ ก็ตาม (ในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น การโหวตเรื่อง Project Restart) จะต้องใช้เสียง 14 เสียงหรือมากกว่า 2 ใน 3 จึงจะอนุมัติ

หรือในเรื่องของรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็จะมีส่วนที่แบ่งเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน (รายได้จากลิขสิทธิ์ภายในประเทศ) ส่วนที่เหลือจะคำนวณตามจำนวนนัดในการถ่ายทอดสด แต่ทุกสโมสรจะได้รับเงินในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีกจาก 20 เหลือ 18 ทีมโดยให้เหตุผลเรื่องการลดจำนวนแมตช์ แต่มีการมองว่าเป็นการเปิดช่องเพื่อให้สโมสรใหญ่สามารถหารายได้จากการเดินสายทัวร์รอบโลกในระหว่างพรีซีซันได้สะดวกขึ้น

 

ทั้งนี้ หลังรายงานฉบับดังกล่าวเผยแพร่ออกมาได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในวงการฟุตบอลอังกฤษว่าเป็นแผนการ ‘ยึดอำนาจ’ ของเหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่โดยใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นข้ออ้าง (ในยามที่ EFL ลำบากเอาตัวแทบไม่รอด) เพื่อกรุยทางในการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งรวมถึงแผนการสร้างลีกระดับสุดยอดของยุโรปที่เป็นที่รู้จักว่า ‘ซูเปอร์ ลีก’ ซึ่งจะสร้างรายได้มหาศาลแก่สโมสรเหล่านี้

 

นอกจากนี้ฟุตบอลอังกฤษยังมีองค์ประกอบมากมาย ไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬา แต่เป็นวัฒนธรรม เป็นส่วนสำคัญของชีวิต เป็นลมหายใจของคนอังกฤษ การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต้องคำนึงถึงภาคส่วนนี้ด้วย โดยเฉพาะแฟนบอลว่าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ และคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีจริงหรือ

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ฝ่ายปฏิวัติที่นำโดยลิเวอร์พูล และแมนฯ ยูไนเต็ดได้ ‘เปิดหน้า’ มาแล้ว หลังจากนี้น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่ 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดนี่คือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกของฟุตบอลอังกฤษในรอบเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่การต่อสู้เพื่อแยกตัวของสโมสรในระดับดิวิชัน 1 มาตั้งพรีเมียร์ลีก

 

และฟุตบอลอังกฤษจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

ริค แพร์รี อดีตผู้บริหารคนสำคัญของลิเวอร์พูล ปัจจุบันเป็นประธาน EFL คือหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องนี้

 

สำหรับแผนการ Project Big Picture นั้น ในส่วนที่มีความสำคัญประกอบไปด้วย

 

กองทุนช่วยเหลือ (Rescue Fund)

จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ 350 ล้านปอนด์สำหรับ EFL (English Football League-หน่วยงานที่กำกับดูแลลีกและสโมสรฟุตบอลในระดับ 2-4 ของอังกฤษ) และสมาคมฟุตบอล (FA) สำหรับฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21

 

แบ่งเป็น

 

สำหรับ EFL:

  • เงินช่วยเหลือ 50 ล้านปอนด์สำหรับรายได้ที่สูญเสียจากวันที่มีการแข่งขัน (Matchday) ของฤดูกาล 2019/20
  • เงินช่วยเหลือ 200 ล้านปอนด์สำหรับรายได้ที่สูญเสียสำหรับฤดูกาล 2020/21
  • เงินช่วยเหลือจะถูกจ่ายให้ล่วงหน้าโดยมาจากเงินรายได้ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับ FA:

  • เงินให้เปล่า 100 ล้านปอนด์ โดยมาจาก 55 ล้านปอนด์สำหรับค่าปฏิบัติงานที่สูญเสียไป, 25 ล้านปอนด์สำหรับการช่วยเหลือสโมสรในลีกที่ต่ำกว่า EFL (สโมสรนอกลีก/กึ่งอาชีพ), 10 ล้านปอนด์สำหรับช่วยเหลือลีกฟุตบอลหญิง วีเมนส์ ซูเปอร์ ลีก และแชมเปียนชิป และอีก 10 ล้านปอนด์สำหรับช่วยเหลือฟุตบอลในระดับรากหญ้า
  • เงินช่วยเหลือทั้งหมดจะมาจากการอนุมัติของสโมสรในพรีเมียร์ลีกผ่านการกู้ยืมที่สโมสรเป็นผู้ค้ำประกันให้

 

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรับปรุงสนาม (Infrastructure Plan)

  • มีการตั้งกองทุนที่จะแบ่งเงิน 6% ของรายได้สุทธิของพรีเมียร์ลีกให้แก่สโมสรใน 4 ดิวิชันสูงสุด
  • ทุกปีแต่ละสโมสรจะได้รับเงิน 100 ปอนด์ต่อจำนวนที่นั่งในสนาม 1 ที่ (เช่น มี 10,000 ที่นั่งจะได้รับเงิน 1,000,000 ปอนด์)
  • เงินส่วนนี้จะใช้สำหรับการดูแลปรับปรุงสนามและประสบการณ์ของแฟนบอลเท่านั้น

 

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับแฟนบอล (Fan Charter)

  • มีการกำหนดค่าตั๋วเข้าชมเกมพรีเมียร์ลีกนัดเยือนเอาไว้ที่ 20 ปอนด์ (ปรับทุก 3 ปีตามอัตราเงินเฟ้อ)
  • มีการช่วยเหลือค่าเดินทางสำหรับเกมเยือนพรีเมียร์ลีก
  • มีการสร้างอัฒจันทร์ชมฟุตบอลแบบยืนที่ปลอดภัย (Safe-Standing) ตามความเหมาะสมของแต่ละสโมสร โดยขึ้นอยู่กับการเห็นชอบจากรัฐบาล
  • จำนวนผู้ชมทีมเยือนจะต้องมีอย่างน้อย 3,000 ที่นั่งหรือ 8% ของความจุสนามในกรณีใดกรณีหนึ่ง

 

Annual Good Causes

  • เพิ่มงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายเพื่อสังคมในอังกฤษ 66%
  • รายได้ของพรีเมียร์ลีกจำนวน 5% จะถูกแบ่งใช้เพื่อสังคมและวงการฟุตบอลระดับรากหญ้าอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ

 

 

 

พรีเมียร์ลีกผิดหวังกับแผน Project Big Picture และเรียกร้องให้ทุกสโมสรทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีของวงการฟุตบอล

 

สัดส่วนการแบ่งรายได้จากสื่อ สปอนเซอร์ (มีให้เลือก 3 ออปชัน)

Option A: 50% แบ่งเท่ากันหมด, 25% แบ่งตามจำนวนนัดที่ถ่ายทอดสด, อีก 25% แบ่งตามจำนวนนัดที่ถ่ายทอดสด 3 ปีที่ผ่านมา

Option B: ใช้แผนปัจจุบันของพรีเมียร์ลีก (50% แบ่งเท่ากัน, 25% ตามจำนวนนัดที่ถ่ายทอดสด และอีก 25% สำหรับค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภค) แต่สโมสรที่ขึ้นชั้นมาใหม่จะถูกสงวนเงินไว้ 25 ล้านปอนด์สำหรับ 2 ปีแรกในพรีเมียร์ลีกเพื่อบรรเทาความเสี่ยงกรณีที่ตกชั้น

Option C: ใช้แผนปัจจุบันของพรีเมียร์ลีก แต่สโมสรที่ขึ้นชั้นมาใหม่จะได้รับเงิน 25% ของค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภคใน 3 ปีแรกในลีก

 

ข้อเสนออื่นๆ

  • ยกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือสโมสรที่ตกชั้น (Parachute Payments) และปรับแผนการแบ่งจ่ายเงินใหม่เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลลีก โดยจะเพิ่มส่วนแบ่งจาก 4% ในปัจจุบันเป็น 25%
  • ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลลีกสำหรับรายการในประเทศและต่างประเทศจะถูกนำจำหน่ายรวมกันโดยพรีเมียร์ลีก
  • เงินชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่ EFL และ FA, เงินค่าโครงสร้างและเงินกู้ยืมจะลดลงตามความตั้งใจในการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม

 

โครงสร้างพีระมิดใหม่ (Pyramid Structure)

  • จำนวนสโมสรในพรีเมียร์ลีกซึ่งเดิมก่อตั้งโดย 18 สโมสรจะลดลงจาก 20 เหลือ 18 สโมสร
  • การปรับลดจะช่วยลดความแน่นของปฏิทินการแข่งขัน ด้วยจำนวนทีมที่ลดลง และการยกเลิกเงิน Parachute Payments จะทำให้มีเงินสนับสนุน EFL มากขึ้น
  • ลดจำนวนการแข่งขันจาก 38 เหลือ 34 นัดต่อฤดูกาล ซึ่งจะช่วยทีมชาติได้อีกทางด้วย
  • สำหรับจำนวนสโมสรในแชมเปียนชิพ, ลีกวัน และลีกทู จะมี 24 สโมสร

 

การเลื่อนชั้นและตกชั้น

  • การตกชั้นของพรีเมียร์ลีก: จะมีอย่างน้อย 2 ทีมที่ตกชั้นโดยอัตโนมัติ (อันดับ 17 และ 18)
  • การขึ้นชั้นของสโมสรในแชมเปียนชิป: อันดับ 1 และ 2 จะเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ
  • ทีมอันดับ 16 ของพรีเมียร์ลีกจะต้องเล่นเพลย์ออฟร่วมกับสโมสรอันดับ 3-5 ของแชมเปียนชิป โดยทีมอันดับ 16 ของพรีเมียร์ลีกจะพบกับทีมอันดับ 5 ของแชมเปียนชิป และอีกคู่อันดับ 3-4 ของแชมเปียนชิปพบกันเอง ผู้ชนะระหว่างสองคู่นี้จะพบกันในนัดชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ ใครที่ชนะจะได้เล่นในพรีเมียร์ลีก
  • การตกชั้นของทีมในแชมเปียนชิป: จะมีจำนวนการตกชั้น 3 ทีม
  • สำหรับลีกวัน: ขึ้นชั้น 3 ทีม ตกชั้น 4 ทีม
  • สำหรับลีกทู: ขึ้นชั้น 4 ทีม ตกชั้น 4 ทีม

 

สิทธิ์ในการโหวตแบบพิเศษ (Special Voting Rights)

  • 9 สโมสรซึ่งเป็นสมาชิกของพรีเมียร์ลีกมาต่อเนื่องยาวนานกว่าสโมสรอื่นจะได้รับการพิจารณาในฐานะ ‘ผู้ถือหุ้นระยะยาว’ (Long-Term Shareholder)
  • ในการโหวตอนุมัติใดๆ สามารถกระทำได้ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นระยะยาว 2 ใน 3 (เดิมทุกสโมสรมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง และการอนุมัติต้องใช้เสียงทั้งหมด 14 เสียง) โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสโมสรอื่น ซึ่งจะใช้ในกรณี
  1. การเลือกหรือถอดถอน CEO หรือสมาชิกบอร์ดบริหาร
  2. การออกระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่าย
  3. สัญญาการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและสื่อของลีก
  4. สามารถโหวตค้านในกรณีที่พรีเมียร์ลีกอนุมัติเจ้าของสโมสรใหม่

 

ข้อเสนออื่นๆ

  • ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกมีสิทธิ์ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจำนวนฤดูกาลละ 8 นัดให้แก่แฟนบอลโดยตรงผ่านช่องทางของสโมสรในทุกภูมิภาคทั่วโลก
  • ทุกสโมสรของพรีเมียร์ลีกและแชมเปียนชิปได้รับอนุญาตให้ฉายไฮไลต์การแข่งขันในระหว่างเกมผ่านช่องทางดิจิทัลของตัวเอง
  • จะไม่มีการถ่ายทอดสดในสหราชอาณาจักรเกินกว่า 27 นัดต่อฤดูกาล
  • จะไม่มีการถ่ายทอดสดในช่วง 15.00 น. วันเสาร์ (Blackout) ตามที่เคยมี เพื่อช่วยป้องกันจำนวนผู้ชมในเกมระดับ EFL
  • ยกเลิกการแข่งขันลีกคัพ และคอมมิวนิตี้ ชิลด์ 
  • จัดตั้งองค์กรอิสระใหม่เพื่อกำกับดูแลเกมฟุตบอลอาชีพของผู้หญิง ที่จะไม่ขึ้นตรงกับพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอล
  • ให้แข่งรีเพลย์เอฟเอคัพ แต่จะไม่ให้แข่งในช่วงพักฤดูหนาว (Winter Break)
  • พรีเมียร์ลีกจะเริ่มช่วงปลายเดือนสิงหาคม เพื่อขยายเวลาให้เกมกระชับมิตรช่วงพรีซีซัน
  • จะไม่มีการเว้นว่าง 2 สัปดาห์ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของพรีเมียร์ลีกและนัดชิงแชมเปียนส์ลีก
  • ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกจะต้องเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ช่วงซัมเมอร์ของพรีเมียร์ลีก 1 ครั้งในทุก 5 ปี
  • ใช้กฎ Financial Fair Play ในแนวทางเดียวกับ UEFA เพื่อไม่ให้เสียเปรียบสโมสรอื่นในยุโรป
  • กำหนดการใช้จ่าย 50 ล้านปอนด์ต่อรอบปีงบประมาณสำหรับทุกการใช้จ่าย และเข้มงวดกับการนิยามคำว่า ‘ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง’ (Related Party)

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X