×

เปิดไทม์ไลน์รอศาลชี้ขาด หลังไฟเขียวดำเนินคดี Class Action ปมทุจริตหุ้นกู้ STARK มูลค่าเสียหาย 9 พันล้านบาท

22.03.2024
  • LOADING...

คดีทุจริตภายในของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ของวงการตลาดทุนไทย ซึ่งก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษ โดยจากการสอบสวนของ DSI พบมูลค่าความเสียมากกว่า 1.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินคดีทางอาญา ส่วนคดีทางแพ่งล่าสุดมีความคืบหน้าให้ติดตาม หลังศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งไฟเขียวให้ดำเนินคดี Class Action ปมทุจริตหุ้นกู้ STARK

 

โดย จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และทนายความของผู้เสียหายในคดีหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า วานนี้ (21 มีนาคม) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำสั่งคดี พ.1527/2566 มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในคดีทุจริตหุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK โดยดำเนินการฟ้องจาก ‘กลุ่มห้อง Stark ตัวจริง’ ที่มีผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK กว่า 4,000 ราย ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน มีมูลค่ารวมกว่า 9 พันล้านบาท จากหุ้นทั้งสิ้นจำนวน 5 ชุด ซึ่งได้ยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหาร STARK จำนวน 5 ราย ได้แก่ 

  1. วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของ STARK 
  2. ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK 
  3. ชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตผู้บริหาร STARK 
  4. ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตซีเอฟโอ STARK
  5. กิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม อดีตผู้บริหาร STARK 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

สำหรับคดีนี้มีจุดเริ่มต้นความเสียหายตั้งแต่ที่ STARK มีปัญหาไม่ส่งรายงานงบการเงินไตรมาส 1/2566 ส่งผลให้ผู้เสียหายจากหุ้นกู้จำนวนหนึ่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งเคยมีประสบการณ์ได้รับความเสียหายคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับ STARK จึงเห็นว่ากรณีปัญหาของ STARK ที่มีปัญหาการทุจริตภายในบริษัทมีความเสี่ยงจะนำไปสู่การผิดชำระหนี้ (Default) ของหุ้นกู้ STARK ทั้งหมดจำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวมกว่า 9 พันล้านบาท จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยศาลฯ ได้มีการนัดไต่สวนจำนวน 3 ครั้ง จนนำไปสู่การออกคำสั่งดังกล่าวออกมา

 

“กรณีของ STARK ถือเป็นคดี Class Action ที่ 2 ในตลาดทุน ที่ศาลฯ สั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบ Class Action ซึ่งคดีแรกที่เกิดขึ้นที่ผมเคยไปช่วยทำคือ คดีทุจริตของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH ซึ่งระหว่างการดำเนินคดีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อน จึงให้คดีต้องจำหน่ายออกไปหรือยุติไปก่อน ในส่วนของการดำเนินคดีแบบ Class Action เป็นการดำเนินคดีทางแพ่ง ในส่วนของคดีอาญาจะเป็นคนละส่วน ซึ่งคดีอาญาจะมีอัยการเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องคดี”

 

เปิดไทม์ไลน์เดินหน้าคดีหุ้นกู้ STARK 

 

จิณณะอธิบายถึงความเป็นไปของไทม์ไลน์ของคดี STARK หลังจากที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งออกมาดังกล่าว ดังนี้  

 

  • ทางฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือจำเลยมีสิทธิขอยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน หรือขอขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ โดยขึ้นกับดุลพินิจของศาลในการพิจารณา
  • กรณีมีการยื่นอุทธรณ์จะส่งต่อสำนวนคดีไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อ โดยจะใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกประมาณ 4-6 เดือน 
  • กรณีศาลยื่นอุทธรณ์มีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบ Class Action จะเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน
  • กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับดำเนินคดีแบบ Class Action จะส่งสำนวนกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี โดยจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 ปีในการพิจารณามีคำตัดสิน
  • กรณีผู้ไม่เห็นด้วยสามารถยื่นศาลอุทธรณ์ต่อได้
  • กรณีศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินออกมาแล้ว หากมีผู้ต้องการยื่นฎีกาต่อ ต้องขออนุญาตจากศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา 
  • กรณีศาลอุทธรณ์พิจารณาการยื่นฎีกาไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ถือว่าคดีถึงที่สุด 
  • แต่กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาการยื่นฎีกาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา ก็ดำเนินการขั้นตอนพิจารณาอีกประมาณ 1-2 ปีในชั้นฎีกา จึงจะมีคำตัดสินออกมา

 

อย่างไรก็ดี หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทุกศาล ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าคดีจะมีคำตัดสินถึงที่สุดออกมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X