วันนี้ (8 พฤศจิกายน) วุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กล่าวว่า ได้เชิญ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงแนวทางและขั้นตอนในการทำประชามติตามกรอบของกฎหมายและเงื่อนเวลาในการจัดทำประชามติ และจะประเมินงบประมาณในการจัดทำ รวมไปถึงรูปแบบ เช่น การจัดทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การทำประชามติง่ายขึ้น
นอกจากนี้จะมีการสอบถามถึงการตั้งคำถามประชามติ ซึ่งพบว่าการตั้งคำถามประชามติมีผลผูกพันกับคำถามหรือกับรัฐบาล หรือเป็นประชามติแบบปรึกษาหารือที่ต้องสอบถามเชิงหารือกับประชาชน
รวมไปถึงการหารือว่า กรณีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในต้นปี 2568 ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งทั้งประเทศ สามารถพ่วงการจัดทำประชามติได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันจะมีการออกแบบและกำหนดจำนวนครั้งในการทำประชามติ ภายใต้กรอบเวลาและข้อกฎหมายที่มีอยู่
สรุปแนวทางการทำประชามติส่งกรรมการชุดใหญ่ เคาะธันวาคมนี้
วุฒิสารระบุว่า กรอบการทำงานของอนุกรรมการฯ เป็นไปตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 วางไว้คือ ต้องให้ได้ข้อสรุปแนวทางในการทำประชามติไปเสนอกรรมการชุดใหญ่ในเดือนธันวาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง และวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
กกต. แจงทำประชามติกี่ครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
แสวง บุญมี กล่าวถึงแนวทางการทำประชามติต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่า กกต. ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
แสวงยืนยันว่า กกต. มีความพร้อม ส่วนเรื่องงบประมาณยังไม่ได้พูดคุยกันว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไรและจะอนุมัติช่วงไหน ซึ่ง กกต. จะต้องส่งเรื่องมาของบประมาณจากรัฐบาล
สำหรับการจัดทำประชามติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น แสวงกล่าวว่าต้องรอดูรายละเอียด เพราะมีเงื่อนไขทางเทคนิคบางส่วน ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่กว่าจะถึงตรงนั้นก็ยังมีเรื่องอื่นให้พิจารณา โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมที่ไม่ใช่ความพร้อมของ กกต. ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว
เช็กความคืบหน้าเส้นทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญ
รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่า นโยบายเร่งด่วนสุดท้ายคือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ก่อนมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้ง 35 คณะกรรมการดังกล่าว โดยประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรม
คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวได้ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม มีมติให้ตั้งอีก 2 อนุกรรมการ ชุดหนึ่งทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และอีกชุดให้ศึกษาว่าแนวทางการทำประชามติควรทำกี่ครั้ง รูปแบบใด ใช้งบประมาณเท่าไร ก่อนที่ทั้งสองชุดจะต้องนำส่งข้อสรุปให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อ
จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน หลังมีมติ ครม. ให้ตั้งคณะกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องใดๆ แม้แต่เรื่องเดียว ทั้งจำนวนการทำประชามติ คำถามของการทำประชามติ หรือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับหรือแก้เฉพาะบางมาตรา
อีกทั้งคำตอบของคำถามที่ว่า ประชาชนจะได้เข้าคูหาประชามติครั้งแรกในช่วงเวลาใดก็ยังไม่มีความคืบหน้า มีเพียงคำตอบที่ว่า การทำประชามติน่าจะเริ่มต้นขึ้นได้ไม่เกินไตรมาสแรกปี 2567 เท่านั้น