เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนชมรมพยาบาลวิชาชีพตำแหน่งจ้างเหมาบริการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อร้องเรียนและขอความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมติคณะรัฐมนตรีในการบรรจุตำแหน่งเร่งด่วนของบุคลากรทางการแพทย์ในกรณีพิเศษ ผู้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยขอให้พิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการให้เป็นไปตามคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2563 โดยวิธีการคัดเลือกด้วยกรณีที่มีเหตุพิเศษ
ชมรมฯ ได้ทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข / ประธาน คปร. / เลขาธิการ ก.พ. / เลขาธิการ ศอ.บต. อ้างถึง 1. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2563 2. หนังสือ ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1008.3.3/28 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 และ 3. เอกสารแสดงรายชื่อพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวที่ประชุมวันที่ 7 เมษายน 2563 วาระพิจารณาลำดับที่ 17 เรื่องกระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มติ อนุมัติในหลักการอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด้านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไปพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
และตามที่อ้างถึงหนังสือ ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร.1008.3.3/28 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขออนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยสำนักงาน ก.พ. เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 2 ความว่า
การสรรหาและบรรจุลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับราชการ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอัตราที่ได้รับจัดสรร ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกเพื่อบรรจุในแต่ละสายงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ ก.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่ได้รับจัดสรรแล้ว ให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว ตามจำนวนที่ต้องบรรจุ และให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงรูปแบบการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นเฉพาะการจ้างงานสนับสนุนทั่วไปเท่านั้น
จากความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ข้อ 2 ให้สรรหาและบรรจุลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยไม่มีการระบุตำแหน่งพยาบาลจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีอยู่ราว 183 อัตรา ตามที่แนบท้ายหนังสือแสดงรายชื่อพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนจะไม่สามารถได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการโดยวิธีการดังกล่าวได้ อีกทั้งยังไม่สามารถบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานราชการได้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวจะถูกยุบเท่าจำนวนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการ
.
อีกทั้งตลอดระยะเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวนน้อยมาก เนื่องจากถูกมองว่า พยาบาลวิชาชีพมีจำนวนที่เพียงพอด้วยเหตุที่มีพยาบาลในโครงการ 3,000 อัตรา ที่ได้รับการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2550 อนุมัติโครงการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี 3,000 คนของกระทรวงสาธารณสุข ที่เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่ จึงมีการกันตำแหน่งข้าราชการไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลทำให้ผู้ที่จบพยาบาลในปีถัดจากนั้นหมดโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
แต่ในความเป็นจริง จำนวนพยาบาลในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลามีการว่าจ้างพยาบาลในรูปแบบตำแหน่งจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่แทบไม่มีสวัสดิการใดๆ และไม่มีความมั่นคงในการทำงาน แต่ปฏิบัติงานไม่ต่างจากพยาบาลวิชาชีพในตำแหน่งอื่นๆ และปฏิบัติงานท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่และท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ล้วนมีความตั้งใจในการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตนสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มความสามารถ
ด้วยเหตุนี้ ทางชมรมเล็งเห็นว่า การบรรจุข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2563 ครั้งนี้จะเกิดขึ้นเหมือนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่ตำแหน่งจะลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้น้อยมาก หรือมีเฉพาะพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น ที่มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการ และทำให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลาที่มีประมาณ 183 คน ไม่มีสิทธิบรรจุเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้
ชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนจึงขอเสนอ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีสิทธิคัดเลือกแต่งตั้งเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2563
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล