ทำไมต้อง ‘น้ำรอระบาย’ คำถามนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (18 พฤษภาคม) ที่เราได้ติดตามรายงานข่าวจากหลากหลายช่องทาง และพบว่าหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเจอปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำไม่ระบาย น้ำเอ่อล้นเข้าบ้านเรือน สาเหตุหลักที่เรารู้คือมาจากฝนที่ตกหนักตั้งแต่ช่วงคืนวานที่ผ่านมา
แต่ยังมีคำถามที่น่าสนใจว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจะเรียกว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามมาเหล่านั้นหรือไม่
THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจจุดดักขยะคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในคลองเส้นหลักใจกลางเมืองที่ทำหน้าที่ระบายน้ำลงสู่อุโมงค์พระราม 9 ที่เป็นระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ระบายน้ำได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะส่งต่อไปยังสถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุด มีกำลังสูบ 173 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อระบายน้ำทั้งหมดออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
กลไกและระบบที่กล่าวมาข้างต้นถูกออกแบบมาให้รองรับและระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ และหากทุกส่วนทำงานได้เต็มศักยภาพ กรุงเทพฯ อาจจะน้ำไม่ท่วม แต่อย่างที่เราได้เห็นกัน ขยะมูลฝอยจำนวนมากตั้งแต่ถุงกับข้าวไปจนถึงโซฟาขนาด 2 ที่นั่ง ลอยกีดขวางช่องทางน้ำไหลเต็มพื้นที่ มีข้อมูลว่าในระยะทาง 12 กิโลเมตรจากความยาวทั้งหมดของคลองลาดพร้าว 20 กว่ากิโลเมตร จะมีขยะมากถึง 4-5 ตันต่อวัน
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทั้งเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตต้องเร่งมือเก็บขยะทุกชิ้นก่อนที่จะลอยไปสู่ระบบระบายน้ำหลักและจะส่งผลกระทบต่อเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนมกราคม 2565 พบว่า กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะรวมถึงพื้นที่สูงถึง 10,000 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มจะขยายตัวตามสภาพเศรษฐกิจ และอัตราการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คลองลาดพร้าวแห่งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากจำนวนคูคลองทั้งหมดกว่า 1,600 คูคลอง ที่รวมความยาวได้กว่า 2,600 กิโลเมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีคลองประมาณกว่า 900 คลอง ความยาว 1.3 ล้านเมตร ทั้งหมดเป็นช่องทางหลักในการระบายน้ำจาก กทม. ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเล