×

เอกชนห่วงราคาดีเซลพุ่งกดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำ 3% จับตาค้าปลีกสุดอั้นเตรียมขยับราคาสินค้า

28.04.2022
  • LOADING...
ดีเซล

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย หวั่นราคาดีเซลขยับทำ GDP หดตัว คาดผู้ประกอบการเตรียมปรับราคาขายปลีกสินค้าหลังแบกรับมานาน ด้าน ส.อ.ท. – หอการค้าไทย วอนรัฐทยอยปรับราคาแบบขั้นบันได พร้อมขยายมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาทออกไปอีก 3 เดือน 

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ได้ทำการประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่จะมีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยพบว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อลิตรจะมีผลทำให้ GDP ประเทศชะลอตัวลง 0.2% 

 

“ปัจจุบันเราประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5% ดังนั้นหากราคาดีเซลมีการปรับขึ้นก็อาจทำให้ GDP ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยมองไว้ โดยมีความเป็นไปได้ที่ GDP ในปีนี้อาจโตได้ต่ำกว่า 3% หากราคาดีเซลมีการปรับขึ้นแรง” ธนวรรธน์กล่าว

 

ธนวรรธน์ระบุว่า ผลการสำรวจของ ม.หอการค้าไทย พบว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางส่วนได้เริ่มทยอยปรับขึ้นราคาค่าส่งสินค้าไปบ้างแล้ว แต่สาเหตุที่ราคาค้าปลีกยังไม่ขยับตามมากนักเนื่องจากผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะแบกรับกำไรที่ลดลงเอาไว้เองตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังไม่กลับมา

 

“หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจรถบรรทุกก่อนหน้านี้ที่ต้องให้รัฐตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 27 บาทต่อลิตร จะเห็นว่าราคาดีเซลได้ขยับขึ้นจากจุดนั้นมาแล้ว 3 บาทต่อลิตร ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะแบกรับกันเต็มที่แล้ว ดังนั้นหากราคาดีเซลขยับขึ้นไปที่ 32 หรือ 35 บาทต่อลิตร การส่งผ่านต้นทุนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ราคาค้าปลีกจะเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปจนถึงน้ำดื่ม ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ” ธนวรรธน์กล่าว

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน มาจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 80-90% ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยสูงขึ้นสอดคล้องกับราคาตลาดโลก

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ในเดือนพฤษภาคมนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลง ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินจากกองทุนน้ำมันลดลงจนไม่สามารถนำมาประคองราคาน้ำมันดีเซลได้อีก ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการจะมีการปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นของแต่ละธุรกิจนั้นอาจจะไม่เท่ากัน บางธุรกิจถูกกระทบเร็วและรุนแรง บางธุรกิจยังพอปรับตัวได้ โดยธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันสูง หรือมีสัดส่วนต้นทุนจากค่าพลังงาน ค่าขนส่งสูงจะได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งนี้ แม้ว่าบางธุรกิจจะไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานด้านอื่น เช่น ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า ที่จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

 

“เชื่อว่าระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ภาคธุรกิจสามารถรับได้คือ 30 บาทต่อลิตร เพราะจะเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจมากนัก (ยกเว้นภาคขนส่ง) ซึ่งจากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากมีการขยับราคาขึ้น 10% ธุรกิจจะยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน และเมื่อราคาขยับเข้าใกล้ 35 บาท อาจจะเริ่มเตรียมตัวปรับขึ้นราคาสินค้า รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของตนอยู่รอด เช่น การขึ้นราคาสินค้า หรืออาจเริ่มมีการปรับลดจำนวนพนักงาน เป็นต้น” สนั่นกล่าว

 

สนั่นกล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ดีที่สุด คือการตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อไป ยิ่งตรึงราคาได้นานเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะจะไม่ฉุดหรือซ้ำเติมเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ก็ควรปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีเวลาในการปรับตัว ส่วนแนวทางการอุดหนุนราคาน้ำมันคนละครึ่งของรัฐบาล ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เอกชนได้มีเวลาปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน 

 

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลค่อนข้างมากในขณะนี้คือ การที่ภาครัฐจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาดีเซลในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น

 

“หากราคาดีเซลขยับขึ้นไปอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยราคาสินค้าและบริการอาจปรับสูงขึ้น 10-15% ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6-7% ซึ่งเป็นระดับที่น่ากังวล” เกรียงไกรกล่าว

 

เกรียงไกรประเมินว่า การลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐจะทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากวัตถุดิบในสต๊อกของหลายธุรกิจเริ่มหมดลงแล้ว ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบใหม่ในราคาที่สูงขึ้น

 

เกรียงไกรระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้วัตถุดิบในสต๊อกของภาคเอกชนมีปริมาณลดลงเร็วกว่าคาด เกิดจากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นในอนาคต จึงเร่งซื้อสินค้าเพื่อกักตุนล่วงหน้าจนเกิดเป็นดีมานด์เทียม ทำให้จากเดิมที่คาดว่าภาคธุรกิจจะแบกรับต้นทุนได้ 2-3 เดือน อาจทำไม่ได้อีกต่อไป

 

ทุกวันนี้ภาคเอกชนก็พยายามควบคุมต้นทุนการผลิตและลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้อยู่แล้ว ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคก็ทำได้จำกัดจากสภาวะเศรษฐกิจ คนที่ส่งผ่านได้คงต้องทำ แต่คนที่ส่งผ่านไม่ได้ทั้งหมดคงต้องแบกรับเอาไว้เอง” เกรียงไกรกล่าว

 

เกรียงไกรยังเรียกร้องให้ภาครัฐขยายเวลามาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ออกไปอีก 3 เดือน เพราะหากไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าว ราคาดีเซลในเดือนมิถุนายนก็จะขยับขึ้นอีก 3 บาท

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising