เศรษฐาหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ ยก 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง นำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมผลักดันบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนผ่านปฏิบัติการ EPR ภาคสมัครใจ ผ่านแนวคิด ‘PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน’ หลังรัฐบาลออกมาตรการอัดฉีด 4.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้าลงทุน 1.6 ล้านล้านบาทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2573
รายงานข่าวระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC2) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า หลังการเข้าร่วมการประชุม Financing for the Future Summit รัฐบาลส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก จนปัจจุบันสามารถระดมทุนได้ถึง 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ ตลอดจนโครงการปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds) อีกชุดในปีหน้า โดยตั้งเป้าจะระดมทุนให้ได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์
พร้อมทั้งพัฒนาการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Green Taxonomy) เพื่อเป็นเครื่องกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สามารถกำหนดนโยบาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในทุกมิติ
อัดฉีด 4.5 แสนล้านบาท ลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว SDGs
นอกจากนี้ยังออกมาตรการทางการเงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจไทย โดย Global Compact Network Thailand กว่า 100 บริษัททั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2573 อีกด้วย
มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังสนับสนุนผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเศรษฐาระบุว่า 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง จะเป็นอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
ดังนั้น เพื่อขยายผล รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีน เพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจาก Renewable Source ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต ท้ายที่สุดเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ผลักดันบรรจุภัณฑ์หมุนเวียน
โฆษิต สุขสิงห์ ประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE กล่าวว่า ส.อ.ท. ร่วมกับเครือข่ายกว่า 90 องค์กร จัดทำโครงการ ‘PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน’ ที่มีผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล นำร่อง 3 เทศบาลเมืองในจังหวัดชลบุรี พร้อมใจกันเก็บกลับบรรจุภัณฑ์นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ตามหลัก EPR (Extended Producer Responsibility)
ซึ่งหากมีการเก็บกลับตามเป้าหมาย จะสามารถหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ได้กว่า 2 แสนกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้กว่า 1 ล้านบาท หากขยายผลทั่วทั้งจังหวัดชลบุรี สร้างมูลค่าได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปี และจากการคาดการณ์ของนักวิจัย เมื่อมี EPR จะสามารถหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วได้กว่า 127 ล้านกิโลกรัม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 822 ล้านบาท
วิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มพลาสติก ส.อ.ท. และ PPP Plastic กล่าวว่า PPP Plastic เป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการจัดการพลาสติกด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้เริ่มดำเนินโครงการสร้างระบบและ Infrastructure Model เพื่อนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่การรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ตามนโยบายและโรดแมปของประเทศไทย
“PPP Plastic เล็งเห็นความสำคัญของนโยบาย EPR ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วต่างๆ จึงยินดีเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน EPR เพื่อส่งเสริมปฏิบัติการ EPR ภาคสมัครใจ EPR in action เดินหน้า EPR Voluntary” วิรัชกล่าว