×
SCB Omnibus Fund 2024

เอกชนมองปัญหารัสเซีย-ยูเครนเป็น ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าจากโควิด

23.03.2022
  • LOADING...
ภาคเอกชน

เอกชนชี้ปัญหาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเป็น ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ ที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน ห่วงลากยาวทำน้ำมันแพง 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันเงินเฟ้อ-ต้นทุนการผลิตพุ่ง แนะภาครัฐเร่งปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเสนอตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับความมั่นคงทางซัพพลายเชนของประเทศรับมือภาวะโลกแบ่งขั้ว 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา ‘The Big Issue 2022 ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ’ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนเวลานี้ถือเป็นวิกฤตในวิกฤตที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน โดยสิ่งที่น่ากังวลคือทุกครั้งที่เกิดวิกฤตในอดีตสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ คืออัดฉีดเงินผ่านโยบายการคลังและลดดอกเบี้ยผ่านนโยบายการเงิน แต่วิกฤตในครั้งนี้แตกต่างออกไปเพราะในช่วงวิกฤตโควิดรัฐบาลหลายประเทศได้กู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจจนหมดหน้าตักกันไปแล้ว ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นยังทำให้หลายประเทศต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

“ในช่วงโควิดที่ผ่านมาหนี้ของรัฐบาลหลายประเทศทะลุ 100% ไปแล้ว ขณะที่หนี้เอกชนทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 260 ล้านล้านดอลลาร์ไปสู่ 300 ล้านล้านดอลลาร์ ระดับหนี้ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อของโลกแน่นอน” ไพบูลย์กล่าว

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลคือ ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ 94% ของสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นราคาซึ่งสะท้อนถึงเงินเฟ้อที่เริ่มหยั่งราก ซึ่งเรื่องนี้จะบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดไว้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

 

“ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เปลี่ยนโลกก็จะเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมยังเชื่อว่าโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยยังมีไม่มาก เพราะระดับดอกเบี้ยที่ Fed ประกาศว่าจะขึ้นยังอยู่ที่ราว 3% เท่านั้น” ไพบูลย์กล่าว

 

สำหรับผลกระทบจากภาวะสงครามต่อตลาดทุน ไพบูลย์เชื่อว่าจะมีผลกระทบไม่มาก เพราะปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่นักลงทุนคุ้นเคยอยู่แล้วและเชื่อว่าจะจบลงได้ในที่สุด ทำให้ดัชนีหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับลดลงจากระดับ 1,700 จุด ลงมาอยู่ที่ 1,600 จุดเท่านั้น

 

“ในทางกลับกันเราเริ่มเห็นทุนไหลเข้ามายังตลาดบ้านเรามากขึ้น เพราะเงินที่พิมพ์ออกมามหาศาลจากการทำ QE ยังต้องหาที่ไป ตอนนี้เงินหนีออกจากตลาดบอนด์เพราะ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยสูง ขณะที่ปัญหารัสเซีย-ยูเครนก็ทำให้นักลงทุนนำเงินออกจากตลาดหุ้นยุโรป โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังโตได้ต่ำกว่าศักยภาพและมีโอกาสได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นในปีนี้ทำให้มีเงินไหลเข้ามา” ไพบูลย์กล่าว

 

ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบในปีนี้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวก็จะมีการปรับขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เข้ามาซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด

 

“สงครามน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยหายไปราว 50% จากที่คาดเอาไว้ 5-7 แสนคน แต่คาดว่าเราจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียเข้ามาทดแทนได้ 2 แสนคน และจะมีการเร่งทำตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย” สนั่นกล่าว

 

สนั่นกล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเสนอไปยังภาครัฐคือการปรับให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสามารถเดินหน้าได้โดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ 1 ใน 5 ของธุรกิจ SMEs ไทยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถฟื้นธุรกิจกลับมาได้แล้ว

 

“สิ่งที่เราควรทำคือเร่งช่วยธุรกิจใน 4 ส่วนที่ยังเหลืออยู่ให้ฟื้นตัวและปรับตัวได้ ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญคือการช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและเร็ว” สนั่นกล่าว

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย คาดว่ามีโอกาสที่วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะลากยาว เนื่องจากทางฝ่ายรัสเซียประเมินระยะเวลาการบุกยุดยูเครนเอาไว้ถึง 3 เดือน และแม้ว่าการสู้รบจะยุติลงแล้วแต่มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ต่อรัสเซียจะยังคงอยู่ต่อไป

 

เกรียงไกรระบุว่า การคว่ำบาตรรัสเซียต้นทุนวัตถุดิบหลายชนิดในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะสูงขึ้น แต่สิ่งที่ภาคการผลิตกังวลมากที่สุดคือการขาดแคลนวัตถุดิบซึ่งจะทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เลย โดยมองว่าเรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคตจากภาวะที่โลกแตกออกเป็นสองขั้วแล้วแยกห่วงโซ่อุปทานออกจากกัน

 

“ในอนาคตประเทศต่างๆ จะมองถึงความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตของตัวเองมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนไทยก็กำลังเตรียมเสนอให้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับความมั่นคงทางซัพพลายเชนของประเทศขึ้นมา โดยในเร็วๆ นี้จะไปคุยกับ EEC และ BOI” เกรียงไกรกล่าว

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว จากการที่โลกสูญเสีย Peace Dividend หรือผลบวกจากสันติภาพ เนื่องจากหลายประเทศจะต้องนำเงินไปเพิ่มงบประมาณทางการทหารแทนที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน การที่ชาติมหาอำนาจแบ่งขั้วออกอย่างชัดเจนก็จะทำให้การหาข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันทำได้ยากยิ่งขึ้น ซ้ำยังฉุดรั้งการเปลี่ยนผ่านของโลกเข้าสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอนล่าช้าออกไป

 

ผยงประเมินว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4% เหลือ 3% และมีโอกาสจะโตได้ต่ำกว่านี้อีกหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเกิน 3 เดือน และสงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน สถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในสหรัฐฯ อาจกดดันให้ธนาคารกลางหรือ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและอีกหลายครั้ง ซึ่งจะสร้างความผันผว

นในตลาดเงินและตลาดทุน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising