ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหนุน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) นั่งเก้าอี้ขุนคลัง ร่วมดรีมทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ มั่นใจฝีมือดี คุณสมบัติครบ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดิ่งสุดในรอบ 10 เดือน วอนเร่งจัดตั้งรัฐบาล แก้เศรษฐกิจเร่งด่วน ส่วนจะเป็นชุดใหม่หรือชุดเก่าก็ไม่ติด เพราะเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองมีคนเก่ง คัดคนอย่างเหมาะสมกับงาน
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่มีการทาบทาม ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ว่า กระแสข่าวที่ออกมาว่าคุณผยงติดโผเป็นรัฐมนตรีคลังนั้น หากเป็นจริงก็ต้องขอแสดงความยินดี เนื่องจากคุณผยงมีประสบการณ์และความสามารถ มีประวัติส่วนตัวที่ใสสะอาด ซึ่งเราต้องการรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติเช่นนี้มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาคุณผยงได้ผลักดันงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลแบงกิ้ง เข้าใจเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างดีด้วย
“หากเป็นคุณผยงจริงก็ต้องฉลอง แต่ตอนนี้ต้องลุ้นไปก่อน เพราะยังเป็นเพียงกระแสข่าว”
ต่อคำถามที่ว่า เก้าอี้รัฐมนตรีและดรีมทีมเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไรนั้น เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ค่อยดี จึงต้องการเห็นดรีมทีมเศรษฐกิจที่มีประสบการณ์ ทำงานร่วมกันได้ ทั้งประสานงานรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และกระทรวงเศรษฐกิจ ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศให้ผ่านไปได้
“หวังว่าทีมเศรษฐกิจที่จะเปิดตัวมานั้น เปิดตัวมาจะต้องดูหล่อ เหมาะสม เก่ง ดี มีประสบการณ์ และที่สำคัญคือ เป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่าย สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคน หากเป็นไปตามนั้นเชื่อว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนจะเป็นชุดใหม่หรือชุดเก่าก็ไม่ติด เพราะเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองมีคนเก่ง คัดคนอย่างเหมาะสมกับงาน” เกรียงไกรกล่าว
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 10 เดือน วอนเร่งจัดตั้งรัฐบาล แก้เศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ของประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนมิถุนายน ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยเป็นการปรับตัวของดัชนีที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ รวมทั้งผลประกอบการที่ลดลง โดยมีปัจจัยหลักๆ คือปัญหาที่มาจากทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
ปัจจัยภายในประเทศคือปัจจัยในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการรวมหนี้ใหม่ ในส่วนของหนี้สหกรณ์ และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้ามาด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 90.6% ของ GDP แต่จำนวนนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6% ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 110% ทำให้กดดันให้กำลังซื้อในประเทศลดลง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และยังไม่เห็นความชัดเจนว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
“หากการตั้งรัฐบาลไม่ทันเดือนสิงหาคม จะกระทบกับไทม์ไลน์การดำเนินธุรกิจของเอกชนที่ได้วางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ไว้แล้ว หากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะเกิดผลกระทบเรื่อยๆ ไม่เกิดผลดี” เกรียงไกรย้ำ
ส่วนปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางมาก โดยประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชียคือเศรษฐกิจจีน ถือว่ามีความเปราะบางโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีปัญหาทำให้เศรษฐกิจภายในจีนชะลอตัวลงมาก กระทบกับภาคการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งการส่งออกของประเทศไทยที่หดตัวกว่า 9 เดือนติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในการสำรวจความเห็นเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้รายได้ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น ช่วยพยุงการใช้จ่ายและอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
“ต้องยอมรับว่าปีนี้เรื่องของภาคการส่งออกไม่ดี ที่โชคดีก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากในปีนี้ได้การท่องเที่ยวกลับมา 28-30 ล้านคน ก็จะดีต่อสภาพเศรษฐกิจมาก โดยธุรกิจรายย่อยคาดว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความกังวลอยู่มากจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และกำลังซื้อที่ลดลง” เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย