ภาคเอกชนหลัก ทั้งภาคธนาคาร พลังงาน ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ เห็นตรงกันว่า ในปี 2564 แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน ที่จะช่วยให้เป้าหมายการเติบโตของจีดีพีเป็นบวก 4-4.5% ได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องปฏิรูประดับฐานรากและปรับภาพลักษณ์ โดยตัวแทนภาคเอกชนได้ร่วมเวทีเสวนา Thailand 2021 New Game New Normal จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการต่างๆ ค่อนข้างมาก รวมทั้งได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมา และได้ผลตอบรับที่ดี และเชื่อว่าปี 2564 เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าปี 2564 มีโจทย์ที่ท้าทายรออยู่ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานรายได้ของประเทศไทยมายาวนาน ณ ปัจจุบันก็เริ่มได้เห็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวบ้างแล้ว แต่ก็เป็นในระดับภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งมองว่ายังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ไม่มากพอที่จะสร้างการฟื้นตัวให้เกิดขึ้น โดยตัวเลขที่ผ่านมา รายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด
เช่นเดียวกันการส่งออก ที่ยังมีความท้าทายในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงข้ามตลาด โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะขยายมาสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กมากขึ้น และจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้
ขัตติยากล่าวเพิ่มว่า ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยน และเกิดเทรนด์การทำธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบด้วย 1. New Trade Trend โดยปี 2564 Trade Landscape จะเปลี่ยนไป และประเทศที่เข้ามามีบทบาทสำคัญขึ้นก็คือประเทศจีน ซึ่งจะทำให้ได้เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบใหม่ และไปสู่ที่ใหม่
“หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเกาะซัพพลายเชนนี้ไว้ได้ก็จะตกขบวน” ขัตติยากล่าว
- New Tech Trend กล่าวคือ เราจะได้เห็นการเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ ออนไฟล์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น เส้นแบ่งทางธุรกิจที่ต่างประเภทกันจะเบลอมากขึ้น และการสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจจะชัดขึ้น
และ 3. Trend Sustainability อ้างอิงจากแบบสำรวจที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เทรนด์ผู้บริโภคที่มีความพร้อมที่จะจ่ายค่าสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กระแสของภาคธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมากจากอดีต โดยจากข้อมูลที่สำรวจมาพบว่า 6 บริษัท จาก 7 บริษัทชั้นนำของโลกที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด คือบริษัทที่ทำธุรกิจแบบ Ecosystem ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตโดยอาศัยการสร้างเครือข่ายและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
“สำหรับเครือ ปตท. เอง จะเห็นว่า ปตท. ได้สร้างเครือข่ายและพันธมิตรมาตลอด เพื่อกระจายธุรกิจไปในหลายๆ Ecosystem”
สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานของเครือ ปตท. จะเน้นไปที่พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ตามความต้องการและเทรนด์ของผู้บริโภคทั่วโลก รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริษัท ดุสิตธานี (DTC) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักกลุ่มหนึ่งของประเทศ และกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้น่าจะใช้เวลาพอสมควร และมองไปในระยะยาว โครงสร้างของธุรกิจท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักเดินทางที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำงานในไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มนี้เคยได้รับประสบการณ์การประชุมหรือเสวนาระยะไกลด้วยระบบออนไลน์มาแล้ว และค้นพบความสะดวกสบาย และประหยัดเวลารวมถึงค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบด้านการกักตัว ที่ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับชุดข้อมูลเดียวกัน และไม่ได้มีกฎระเบียบปฏิบัติแบบเดียวกัน ทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไร อย่างไรก็ตาม ส่วนตัว ในฐานะผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและโรงแรม ก็ต้องการให้ทั้งอุตสาหกรรมกลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่า 4 ปี
โดยปัจจัยที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเร็วกว่าที่คาดหวังไว้ คือ 1. มีกฎระเบียบของรัฐที่เป็นที่รับรู้และปฏิบัติที่เหมือนกัน 2. ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยมุ่งเน้นนำเสนอวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับนักท่องเที่ยว 3. ใส่ใจการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 4. ให้ความสำคัญกับกลุ่ม Health and Well Being โดยควรยกระดับภาพลักษณ์ในระดับประเทศ 5. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับองค์กรและใช้ส่งเสริมบริการ
ด้าน เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวว่า แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ส่วนตัวยังมองว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกพอสมควร โดยเชื่อว่าตัววัคซีนน่าจะมาถึงไทย และเริ่มกระจายสู่ประชาชนเร็วสุดคือกลางปีหน้า ขณะที่ข่าวดีเรื่องการเปิดประเทศเอง ก็ยังต้องติดตามความชัดเจนต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติต่างๆ การเจรจาด้านการท่องเที่ยวเฉพาะประเทศ
ฉะนั้น ทางรอดของผู้ประกอบการก็คือการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บและริหารจัดการสภาพคล่องให้รัดกุม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์