×

เอกชนเสียงแตก หนุน-ค้านภาครัฐยกเลิก Test & Go คุมโอไมครอนระบาด ห่วงท่องเที่ยวซึมยาวถึงต้นปีหน้า

20.12.2021
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (20 ธันวาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go ไปก่อน คงเหลือเฉพาะรูปแบบ Sandbox และมาตรการการกักตัว

 

เนื่องจากพบการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนประเทศเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้วเป็นจำนวน 63 ราย และมีผู้ที่รอการยืนยันผลอีกกว่า 20 ราย

 

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยเกือบทั้ง 63 ราย เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด มีเพียง 1 รายเป็นการติดเชื้อในประเทศ จากเคสที่สามีเป็นนักบินและนำเชื้อมาติดภรรยา ซึ่งแม้ว่าในเคสนี้เชื้อยังไม่แพร่กระจายไปแต่หากปล่อยให้เกิดกรณีแบบนี้ไปเรื่อยๆ เชื้อจะต้องแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง ทำให้ไทยจำเป็นต้องกลับไปใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง

 

รมว.สาธารณสุข ยังได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากเชื้อโอไมครอนมาจากคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันทั่วโลกมีการตรวจพบการระบาดของเชื้อโอไมครอนแล้ว 89 ประเทศ และยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 1 วันครึ่งถึง 3 วันหากมีการแพร่ระบาดในชุมชน

 

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าแม้ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงก็ยังพบการแพร่ระบาดของโอไมครอนในอัตราที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุที่โอไมครอนสามารถติดต่อกันได้เร็วนั้นเป็นเพราะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้หรือไม่ 

 

การเตรียมยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go แล้วกลับไปใช้วิธีการกักตัวแบบ State Quarantine ของ ศบค. ได้สร้างความกังวลให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวและฝ่ายที่มองว่าการเพิ่มความเข้มงวดขึ้นชั่วคราวเป็นสิ่งที่รับได้

 

เริ่มจาก สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับยกเลิกการเดินทางในประเทศแบบ Test & Go แล้วกลับไปใช้วิธีการกักตัวแบบ State Quarantine เนื่องจากมองว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

 

โดยมองว่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว หากกลับไปใช้ระบบ State Quarantine นักท่องเที่ยวจะไม่เข้ามา ทำให้ช่วงเทศกาลปลายปีซบเซา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจได้รับผลกระทบไปด้วย เปรียบเสมือนการประกาศเดินหน้าได้ไม่ทันไรก็จะกลับไปถอยหลังแล้ว

 

ประธาน ส.อ.ท. ระบุด้วยว่า ผลการศึกษาของหลายประเทศในขณะนี้บ่งชี้ตรงกันว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงและก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตน้อยกว่าหลายเท่า ขณะที่การฉีดวัคซีนก็สามารถป้องกันได้ระดับที่น่าพอใจ จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเดินหน้านโยบาย Test & Go ต่อ โดยใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่มีอยู่เข้าไปดูแลแทน

 

ขณะที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า หากภาครัฐยกเลิกการเดินทางในประเทศแบบ Test & Go แล้วกลับไปใช้วิธีการกักตัวแบบ State Quarantine จะส่งผลกระทบให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของชาวต่างชาติปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ยาวไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า

 

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าผลกระทบน่าจะจำกัดอยู่แค่ภายในไตรมาสแรกของปีเท่านั้น โดยเชื่อว่าเมื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอไมครอนถูกเผยแพร่ออกมามากขึ้น ความกังวลของประเทศต่างๆ จะลดลงและสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทำให้คาดว่าภายในไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ หอการค้ายังมีมุมมองเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวไทยในปีหน้า โดยเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน และในกรณีที่โอไมครอนไม่รุนแรงก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะสูงถึง 10 ล้านคน ขณะที่ GDP ของไทยในปี 2565 ก็น่าจะขยายตัวได้ 3-4.5% ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากโอไมครอน

 

ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มรุนแรงขึ้นในโลก โดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้การพิจารณายกเลิกการเดินทางในประเทศแบบ Test & Go แล้วกลับไปใช้วิธีการกักตัวแบบ State Quarantine ของไทยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากปัจจุบัน 49% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาจากยุโรปและ 16% มาจากสหรัฐฯ ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงสูง

 

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีประเมินว่า การยกเลิกการเดินทางในประเทศแบบ Test & Go จะส่งผลกระทบให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าลดลงอย่างแน่นอน อย่างก็ไรดี หากชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่จะนำไปสู่การล็อกดาวน์รอบใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ และอาจมีความคุ้มค่ามากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ 

 

โดย ttb analytics จะมีการประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้และปีหน้าใหม่อีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3 แสนคน ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน

 

พร้อมระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเวลานี้คือการป้องกันอย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ เพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศเอาไว้ เนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไทยเวลานี้อาศัยการบริโภคในประเทศและการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่การท่องเที่ยวแม้ว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

 

ขณะที่ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากภาครัฐยกเลิกการเดินทางในประเทศแบบ Test & Go จะส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัวเกิดการสะดุด โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนธันวาคมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2 แสนคนต่อเดือน และในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3 แสนคนต่อเดือน อาจจะออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของมาตรการ ซึ่งในกรณีเลวร้ายคือนักท่องเที่ยวต้องกักตัวทั้งจากฝั่งขาเข้าไทยและขากลับไปประเทศต้นทาง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปีหน้าอาจลดเหลือ 2 ล้านคน ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเองก็อาจได้รับผลกระทบทำให้ GDP ไทยในปี 2565 อาจขยายตัวได้เพียง 2.8%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X