จากต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นกู้เอกชนของไทยเจอผลกระทบในหลายด้าน ทั้งโควิด-19 ทำให้ความผันผวนในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนเทขายกองทุนตราสารหนี้ ไหนจะปัญหาหุ้นกู้ที่มีอยู่ในตลาดอาจจะ Rollover ยากขึ้น รวมไปถึงความกังวลจากปัญหาภายในของการบินไทยยังทำให้คนมีส่วนในหุ้นกู้การบินไทยต้องหวั่นไหวอีก
ปีนี้ตลาดหุ้นกู้เอกชนไทยมีแนวโน้มอย่างไร
กสิกรไทยชี้ โควิด-19 ทำตลาดตราสารหนี้ไทยแย่ ราคา NAV-ยอดหุ้นกู้ฯ ออกใหม่วูบ
ธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อตลาดการเงิน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเนื่องไปถึงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนให้ลดลงไปด้วย
จากปัจจัยข้างต้นทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ บางส่วนเร่งขายหน่วยลงทุนอย่างหนักในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จึงต้องรีบขายตราสารหนี้ (หุ้นกู้เอกชน) ที่ถือครองอยู่ในตลาดรอง รวมถึงขายในราคาต่ำเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
“เฉพาะเดือนมีนาคม 2563 มูลค่า NAV กองทุนรวมตราสารหนี้ ลดลง 700,000 ล้านบาท โดยกองทุนรวมตราสารหนี้มีเงินไหลออกสูงถึง 450,000 ล้านบาท”
ขณะเดียวกันยังเห็นการลดการลงทุนตราสารหนี้ออกใหม่ หรือหุ้นกู้ออกมาใหม่ เพื่อรักษาสภาพคล่อง จึงส่งผลให้ความต้องการลงทุนชะลอตัวไปด้วย
ในไตรมาส 1 ปี 2563 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมของไทยทั้งระบบอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ลดลง 15.30% หรือราว 800,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีมูลค่า NAV อยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลข 4.6 ล้านล้านบาทเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ NAV เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ปี 2559)
ขณะที่การออกตราสารหนี้ในตลาดแรก ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการออกใหม่ของหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะลดลงถึง 41% จาก 3.1 แสนล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท
เอกชนชะลอออกหุ้นกู้ใหม่ คาดปี 2563 ยอดออกใหม่เหลือ 900,000 ล้านบาท
แม้ว่าปัจจุบันแรงเทขายกองทุนชะลอลงแล้ว และตลาดเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากที่ทางการทั่วโลก ทั้งฝั่งรัฐบาลหรือธนาคารกลางออกมาตรการทั้งทางการคลังและการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ
แต่ในตลาดการออกหุ้นกู้ใหม่ ทางเอกชน หรือผู้ออกหุ้นกู้หลายรายเลือกที่จะเลื่อนหรือชะลอการออกหุ้นกู้ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ออกไป เพื่อรอสภาพตลาดที่ดีขึ้น และเอกชนบางส่วนหันไปใช้วงเงินสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทดแทน สาเหตุเพราะผู้ลงทุนสถาบันโดตเฉพาะ บลจ. มีความระมัดระวัง และความต้องการลงทุนลดลงอย่างมาก ส่วนผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาหันไปลงทุนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีมากขึ้น แม้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่น้อยลง ทำให้หุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ หรือสำหรับหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำมียอดซื้อที่ไม่สูงตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า จะมีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนออกใหม่ประมาณ 900,000 ล้านบาท ลดลงจากระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากปี 2558 ซึ่งมองว่าหุ้นกู้ที่ออกใหม่ปีนี้จะเป็นความน่าเชื่อถือระดับ A ราว 70%
“เรามองว่าลูกค้าที่อยากออกหุ้นกู้มีมาตลอด แต่ต้องดูสถานการณ์มากกว่า ทั้งเรื่องโควิด-19 เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงไหม และ Financial Standing (ฐานะทางการเงิน) ของลูกค้ายังนิ่งอยู่ไหม โดยรวมเรามองว่าผลกระทบในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่แรงเท่าช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน”
กสิกรฯ เผยความเสี่ยงหุ้นกู้ไทยปี 2663 จับตาแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยพุธนี้ ทำเครดิตสเปรดเพิ่ม
สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไปคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และภายในปี 2563 ต้องจับตาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็จะมากขึ้นนี้เองมีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึง 6 แสนล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ครบกำหนดกว่า 1 แสนล้านบาท)
โดยในจำนวน 6 แสนล้านบาทนี้มีหุ้นกู้เรตติ้ง BBB+ ลงมา 1.8 แสนล้านบาท บางรายอาจมีความยากลำบากในการออกทดแทน (Rollover) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน หรือผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 อาจมีความท้าทายในการ Rollover หรือออกหุ้นกู้ใหม่ เพราะเนื่องจากความต้องการในตลาดมีไม่มากพอ โดยในช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้ออกหุ้นกู้บางรายที่ขอเลื่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นกู้แล้ว
ทั้งนี้ในส่วนประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการอย่างกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) และการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) เพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง MFLF มูลค่าคงค้างสูงสุดเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท และยอดคงค้างล่าสุดลดลงอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงภาวะสภาพคล่องที่ผ่อนคลายมากขึ้น
แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมปรับตัวดีขึ้นบ้าง และความต้องการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ต้นทุนของการออกหุ้นกู้นั้นไม่ได้ปรับลดลงตาม แต่มาอยู่ในระดับที่เรียกว่า New Normal ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผ่านมายังส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ที่เพิ่มขึ้น 0.20-1.75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย Credit Spread ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับรุ่นอายุ อันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงอุตสาหกรรมของผู้ออกว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยหรือจากโควิด-19 มากน้อยเท่าใด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum