×

อาจารย์กฎหมาย เตือน คสช. ไม่ควรเชียร์พรรคใด เสียความเป็นกลาง กระทบความเชื่อมั่นการเลือกตั้ง

09.11.2017
  • LOADING...

     หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ส่งคำถาม 6 ข้อ เป็นข้อความพิมพ์ใส่กระดาษแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน เพื่อยิงคำถามตรงไปยังประชาชนให้ช่วยตอบ หลังจากที่เคยโยนคำถามขึ้นกลางอากาศเพื่อถามประชาชน 4 ข้อ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนี้

     ปฏิกิริยาต่อคำถาม 6 ข้อของนายกฯ ร้อนแรงไปทั่วสมรภูมิโซเชียล นักการเมืองหลายพรรคพาเหรดออกมาแสดงความคิดเห็น นักวิชาการถูกต่อสายถามความคิดเห็นจากสื่อหลายสำนักไม่แพ้กัน

     ล่าสุด THE STANDARD และสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก ยื่นไมค์ถาม ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี

     ผศ.ดร.ปริญญา แสดงความเห็นว่า คำถามดังกล่าวเสมือนเป็นการโยนหินถามทาง คสช. อยากรู้ว่าหากมีพรรคการเมืองใหม่ตั้งขึ้นประชาชนจะว่าอย่างไร และหาก คสช. จะเชียร์พรรคนั้นด้วยประชาชนจะว่าอย่างไร และหากมองในชั้นที่สองก็คือหากประชาชนสนับสนุนพรรคที่ คสช. เชียร์จะเกิดได้เลย ซึ่งตรงนี้ต้องมองไปถึงการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งด้วย เพราะ คสช. คุม ส.ว. เนื่องจากตาม รธน. เป็นผู้แต่งตั้ง และยังมียุทธศาสตร์ชาติที่ ครม. ใหม่ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ทำก็มีการร้อง ป.ป.ช. ได้ ซึ่งนั่นเป็นมาตรการที่ คสช. ยังสามารถคุมรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งได้

     ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ปริญญา ยังคงมีข้อกังวลใจเพิ่มเติม คือประการแรก ทั้ง 6 คำถามที่ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการสอบถามประชาชน อาจมีปัญหาเรื่องคำตอบว่าจะเที่ยงตรงหรือมีการรับฟังอย่างเพียงพอหรือไม่ เพราะมหาดไทยก็เป็นกลไกลของ คสช. ซึ่งคำตอบที่ได้ก็อาจจะถูกทักท้วงว่าไม่ชอบธรรมที่จะมาใช้ในทางการเมือง

     ประการต่อมา การที่ คสช. จะเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง ทำให้สถานะความเป็นคนกลางจะหมดไปทันที เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาต่างๆ คสช. ก็เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่าง เมื่อถึงเวลาจะแข่งขันตัวเองก็จะมาลงแข่งด้วย คสช. ก็จะเสียสถานะความเป็นคนกลางไปในทันที  

     “ความจริงแล้วอำนาจของ คสช. หลังการเลือกตั้งยังจะมีอยู่ต่อไปผ่านกลไกของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของตนเอง และผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำในเรื่องการปฏิรูปอีก 5 ปี ถือว่ามีอำนาจมากอยู่แล้ว ถ้า คสช. จะยังคงลงมาเป็นผู้เล่นเอง หรือไปสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ความเสมอภาคของการแข่งขันในการเลือกตั้งก็จะถูกกระทบและกลายเป็นปัญหาไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐที่ คสช. ควบคุมอยู่

     คำถามคือแล้วมันจะนำประเทศชาติกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงหรือ รวมทั้งถ้า คสช. ลงมาเล่นเอง แล้วชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอต่อประชาชน เกิดประชาชนไม่เลือกเข้ามาตั้งแต่แรก ความชอบธรรมในการที่จะมาก๊อกสองเป็นนายกคนนอกจากการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาก็จะหมดไปในทันที

     ดังนั้น คิดว่า คสช. ควรรักษาความเป็นคนกลางไว้ดีกว่า แต่ถ้าจะมีคน คสช. เข้าไปเป็นตัวแทนในพรรคการเมืองใด ก็ควรจะลาออกจากการเป็นสมาชิก คสช. ก่อน แล้วให้พรรคเป็นผู้เสนอชื่อในบัญชีรายชื่อ”

     ผศ.ดร.ปริญญา ยังเห็นว่า การตั้งคำถามของ คสช. แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความสำคัญ จึงใช้ประชาชนมาสร้างความชอบธรรม รวมทั้งมองว่าขณะนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กับการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ ซึ่งฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเอาแต่เรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่า ทำไมการเมืองที่มาจากการปฏิวัติจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้อยู่ในอำนาจได้ถึง 3-4 ปี ซึ่งเท่ากับวาระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ปฏิวัติตัวเองเหมือนกัน เพื่อแย่งศรัทธาประชาชนคืนจากการเมืองที่มาจากการปฏิวัติให้ได้ เพราะถ้าประชาชนเห็นว่าการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า ก็เชื่อว่า คสช. ต้องกลับกรมกองของตัวเองอยู่แล้ว

     ส่วนประเด็นการปลดล็อกช้า ผศ.ดร.ปริญญา ยังเตือนไปถึง คสช. ว่า อาจจะถูกมองว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่ไม่พร้อมหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี  เพราะปลดล็อกช้าก็อาจทำให้เลือกตั้งช้าไม่เป็นไปตามโรดแมป จริงอยู่คนที่ชอบและเชียร์นายกฯ มีแต่คนที่ไม่ชอบก็มี หวังว่า คสช. จะรับฟังคำทักท้วง และไม่ลงมาเป็นผู้เล่นเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X