×

ปริญญาชี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำประชาชนสับสนเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2021
  • LOADING...
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

วานนี้ (10 พฤศจิกายน) หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณีคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ชุมนุมปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่ โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสรุปว่า พฤติกรรมของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1

 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในทางกฎหมาย วัตถุแห่งคดีของมาตรา 49 คือ มีการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และหากศาลเห็นว่าเป็นการล้มล้างจริงๆ ก็มีอำนาจสั่งให้ยุติการกระทำได้ ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองของรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และรัฐธรรมนูญก็มีกลไกในการป้องกันไม่ให้เสรีภาพที่ให้ไปนั้นย้อนกลับมาทำลายล้างรัฐธรรมนูญ หรือระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ

 

ปริญญาชี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีองค์ประกอบสองส่วน คือ ระบอบประชาธิปไตย และประมุขคือพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งคุ้มครองทั้งสองอย่าง ไม่ใช่แค่อย่างหนึ่งอย่างใด คือ จะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขไม่ใช่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ หรือ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้ เพราะทั้งประชาธิปไตยและประมุขคือพระมหากษัตริย์นั้นต้องไปด้วยกัน เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

“รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนเรื่องนี้ไว้คือรัฐธรรมนูญปี 2492 โดยในตอนแรกนั้น รัฐธรรมนูญ 2492 บัญญัติว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย’ แล้วก็เว้นวรรคจากนั้นจึงตามด้วยประโยค ‘มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ทำให้ชัดเจนว่ามีสองเรื่องและคุ้มครองทั้งสองอย่าง รัฐธรรมนูญหลังจากนั้นก็เว้นวรรคระหว่างสองประโยคนี้มาโดยตลอด จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 จึงจับสองประโยคมาติดกัน และจากนั้นฉบับปี 2534 ก็เติมคำว่า ‘อัน’ เป็นตัวเชื่อมประโยคเข้าไป เป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มาจนถึงทุกวันนี้ ทีนี้พอสองประโยคนี้มาเชื่อมติดกัน ก็เลยทำให้คนจำนวนไม่น้อยสับสน และเข้าใจไปว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ก็คล้ายๆ กับ ‘ระบอบราชาธิปไตย’ ซึ่งความจริงแล้วแตกต่างกันมาก เพราะระบอบราชาธิปไตยนั้นพระราชาทรงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ส่วนระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ปริญญากล่าว

 

ปริญญากล่าวต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็คืออำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ทรงอยู่เหนือการเมือง คือ ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ขึ้นไป ผิด-ถูก หรือถ้าคนจะไม่ชอบก็เป็นเรื่องของคนที่ทูลเกล้าฯ คือ นายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ นี่ก็คือหลัก The King Can Do No Wrong นั่นเอง คือ พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำผิด เพราะท่านทรงอยู่เหนือการเมือง ซึ่งมีผิดมีถูก มีคนชอบมีคนไม่ชอบ และดังนั้นจึงทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

 

“ถ้าถามว่าการเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นการล้มล้างอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่าง คือล้มล้างประชาธิปไตย หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือล้มล้างทั้งสองอย่างหรือไม่ หากไม่ได้ล้มล้างอันหนึ่งอันใด และยังอยู่ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็จะไปถือว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองไม่ได้ ส่วนจะเห็นด้วย เห็นต่าง หรือจะเป็นการไปก้าวล่วงหรือไม่ คำพูดคำจาเหมาะสมหรือเลยเถิดไปหรือไม่ หรือไปเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราใดหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ปริญญาให้ความเห็น

 

“คือถ้าเป็นแค่การปฏิรูป ไม่ใช่ให้ยกเลิก ไม่น่าถึงขั้นนับว่าเป็นการล้มล้าง ตัวอย่างของการล้มล้างระบอบการปกครองคือการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วอำนาจก็เป็นของคณะปฏิวัติ และคณะปฏิวัติก็กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไปแทนปวงชน ทั้งนี้ ตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่วางไว้ว่า คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งสิ่งใดต่อประชาชนคือกฎหมาย และย่อมมีอำนาจยกเลิก เปลี่ยนแปลง และออกกฎหมาย ส่วนตัวเรียนว่านี่คือการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เพราะอำนาจจะตกเป็นของคณะปฏิวัติ ไม่ใช่ของประชาชนอีกต่อไป เพียงแต่ว่าคณะปฏิวัติไม่ได้แตะต้องในส่วนของประมุขคือพระมหากษัตริย์” ปริญญากล่าว 

 

“เป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านอาจจะสับสนกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้’ คือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญท่านจะใช้มาตรานี้ก็ยังจะดีกว่า” ปริญญาระบุ “ถ้าพยายามเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญ ก็เข้าใจได้ว่าศาลท่านคงพยายามตีกรอบ เพราะศาลอาจจะเห็นว่าเลยเถิดไป แต่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 มีแค่อำนาจให้หยุดการกระทำหากเป็นการล้มล้าง ศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้หยุด ซึ่งการจะสั่งให้หยุดได้ก็ต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง ก็เลยออกมาอย่างนี้ ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะไปเปรียบเทียบกับตอนที่ กปปส. ล้อมหน่วยเลือกตั้ง ที่ก็มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ศาลรัฐธรรมนูญท่านไม่รับคำร้องเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็จะมีการไปเปรียบเทียบกับการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นเคยว่าอะไร

 

“ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ผู้ถูกร้องมีเจตนาแฝงที่จะล้มล้างไม่ใช่แค่ปฏิรูป ตามหลักกฎหมายนั้น กรรมเป็นเครื่องแสดงเจตนา ก็ต้องรอฟังคำวินิจฉัยฉบับจริงว่าศาลมีพยานหลักฐานในเรื่องกรรมหรือการกระทำอะไรของผู้ถูกร้องที่ทำให้ศาลท่านสรุปเช่นนั้น สำหรับผลในทางกฎหมายของคำวินิจฉัยคือ การให้ยุติการกระทำ แม้การกระทำจะจบลงไปแล้ว แต่ศาลคงหมายความว่าอย่าทำอีกในอนาคต ทีนี้ประเด็นสำคัญคือจะมีผลไปถึงคดีอาญาหรือไม่นั้น ผมเรียนว่าหลักกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญานั้นแตกต่างกันมากกับวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ทางอาญาถ้าผิดจะมีโทษทางอาญาคือจำคุก หรือรุนแรงกว่านั้น จึงต้องมีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ และหลักพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ศาลอาญาจึงไม่สามารถตัดการรับฟังจำเลยหรือพยานจำเลย แล้วดูแค่กระดาษอย่างเดียวได้ดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญ” ปริญญากล่าว

 

“ขอเรียนว่า ผมรู้สึกเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทิ้งโอกาสในการวางหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหลัก The King Can Do No Wrong ให้คนเข้าใจ ซึ่งจะเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะทำให้ความเห็นต่างเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย จะเห็นด้วยหรือไม่ หรือเห็นต่าง ก็ให้รับฟังกันอย่างสร้างสรรค์ แต่พอท่านตัดสินแบบนี้ ความเห็นต่างในเรื่องนี้ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้คนแบ่งข้างด้วยเรื่องนี้กันมากขึ้น และจะกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น สังคมจะเหวี่ยงออกจากกันเป็นสองขั้วมากขึ้น และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคมอีกครั้งได้” ปริญญากล่าวอีกว่า ตอนที่นักศึกษาจัดชุมนุมนั้น ตนเป็นรองอธิการบดีที่อนุญาตให้จัดกิจรรมการชุมนุม ก็ถูกโจมตีว่าให้ท้ายนักศึกษา ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ทราบเลยว่าจะมีข้อเรียกร้องเช่นนี้ แต่เมื่อเป็นเรื่องขึ้นมาแล้วก็ต้องมาช่วยกันหาทางออก หาทางแก้ปัญหา อยากเปรียบเทียบว่า เหมือนกับลูกที่มีข้อเสนอถึงพ่อแม่ให้พ่อแม่ปรับปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราไม่ชอบ ก็เลยบอกว่าไม่ได้ นี่คือการล้มล้างพ่อแม่ ซึ่งผลคือจะยิ่งทำให้มีปัญหากันในบ้านมากขึ้น

 

“เรียนว่าเรื่องนี้มันมีที่มาตั้งแต่การยุบพรรค แล้วเริ่มเกิดการยึดโยงไปถึงสถาบันฯ ผมเรียนว่าเรื่องนี้ปัญหาทั้งหมดจริงๆ แล้วสาเหตุหลักมาจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่ทรงอยู่เหนือการเมือง ทำอะไรก็อ้างถึงสถาบันฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ทรงมายุ่งเกี่ยวในการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบ โดยประโยคที่ขาดไปคือ ‘ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ’ ศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างพระมหากษัตริย์กับนายกฯ เลยกลายเป็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจให้นายกฯ หรือใครก็แล้วแต่ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งหากเอาตามนี้ก็จะเป็นระบอบราชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วคนผิดแทนที่จะเป็น พล.อ. ประยุทธ์ ก็เลยกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรง Do Wrong ซึ่งทำให้เรื่องจึงลุกลามไปถึงพระมหากษัตริย์ แล้วเกิดเป็นข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ทราบศาลรัฐธรรมนูญท่านเห็นที่มาที่ไปที่มาจากท่านเองด้วยตรงนี้หรือไม่” ปริญญากล่าว

 

ปริญญาเห็นว่า ตอนนี้ก็ต้องช่วยกันแก้ไขครั้งนี้ให้เรื่องที่เลยเถิดไปกลับมาอยู่ในขอบเขต โดยเรื่องของการปฏิรูปสถาบันฯ นั้น ถ้าเสนออย่างสร้างสรรค์ในขอบเขตของกฎหมาย และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยระบอบประชาธิปไตย และประมุขคือพระมหากษัตริย์ เราควรจะรับฟังกันได้ และย้ำว่ารัฐธรรมนูญของไทยนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประมุขเป็นแบบอื่น หรือประมุขเป็นพระมหากษัตริย์แต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้ 

 

ทั้งนี้ ปริญญากล่าวว่า เราเคยทะเลาะกันหนักกว่านี้และเคยแก้ไขกันมาได้แล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เคยเกิดการฆ่านักศึกษาที่มาจากข่าวเท็จด้วย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไขมาตรา 112 เพิ่มโทษจาก 7 ปี เป็น 15 ปี จากขั้นต่ำไม่มีก็เป็นมีขั้นต่ำ 3 ปี โดยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาก็เข้าป่าและลุกขึ้นสู้ จนเกิดนโยบาย 66/2523 เปิดโอกาสให้นักศึกษามอบตัว มอบอาวุธ โดยไม่เอาความผิด เหตุการณ์จึงสงบลงและคลี่คลายได้ จึงเป็นตัวอย่างว่าการทะเลาะกันหนักขึ้นจะทำให้เหตุการณ์ไปกันใหญ่ ดังนั้น ความเห็นต่างจึงควรอยู่ในที่ทาง ในขอบเขตคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้มีการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอกันและอย่างยุติธรรม 

 

“คราวนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่าให้มันถึงขั้นเหวี่ยงกันแรงไปกว่านี้ โดยควรจะลดแรงเหวี่ยงลงทั้งสองข้าง ตนขอเสนอแนะว่า ให้ความเห็นต่างของเรานั้นเป็นความเห็นต่างที่อยู่ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยากชวนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ หากมีลูกๆ หลานๆ ในบ้านเห็นต่าง อาจจะพูดจาท้าทาย ฟังแล้วรู้สึกไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังต้องอยู่ในบ้านเดียวกัน จึงต้องหาทางพูดคุยกันต่อไปให้ได้ การใช้วิธีการแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญทำ คือ ห้ามโดยไม่ได้ยึดโยงหลักกฎหมายให้คนยอมรับได้นั้น ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงอยากให้ใช้สันติภาพ และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ ใช้หลักกฎหมาย รับฟังข้อเท็จจริงเพียงพอ และต้องปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน ปัญหาความแตกแยกนี้ก็จะเบาลงมาและแก้ไขได้ในที่สุดครับ” ปริญญากล่าวปิดท้าย

 

ภาพ: แฟ้มภาพ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X