×

ปริญญา วิเคราะห์เหตุกลับลำสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์เป็นหาร 500 เพราะหาร 100 เพื่อไทยได้เปรียบ ชี้เกมเปลี่ยนหลังธรรมนัสย้ายพรรค

06.07.2022
  • LOADING...
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

วานนี้ (5 กรกฎาคม) THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD สัมภาษณ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

 

กรณีสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือ 100

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลักการที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ระหว่างหาร 100 กับ 500

 

ปริญญากล่าวว่า ขออนุญาตพูดข้อเท็จจริงก่อนว่ารัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปในปี 2564 ซึ่งเป็นเพียงร่างเดียวที่มีการเสนอแก้ไขแล้วสามารถแก้สำเร็จ ถ้อยคำที่ใช้เหมือนกับตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2554 ที่ไปแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ถ้อยคำเหมือนกันทุกอย่างในส่วนของการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

 

ตอนนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ระบบเลือกตั้งมี ส.ส. เขต 400 คน เขตละไม่เกิน 3 คน และมี ส.ส. บัญชีรายชื่อแยกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดหนึ่ง 10 คน แล้วก็มีปัญหาอะไรมากมาย สุดท้ายบอกว่าขอกลับไปหาปี 2540 ดีกว่า โดยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ผลักดันให้มีการแก้ไขให้เขตละไม่เกิน 3 คน กลับมาเป็นเขตละ 1 คน ส่วนบัญชีรายชื่อที่แยกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดหนึ่งมี 10 คน ซึ่งซับซ้อนมาก ก็กลับมาเป็นบัญชีเดียว ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แล้วมีบัญชีเดียวจาก 80 เพิ่มเป็น 125 ส.ส. เขตก็ลดลงให้เหลือ 375 รวมเป็น 500 อันนี้คือการแก้ไขในปี 2554

 

ขณะนั้นก็เหมือนกัน คือเริ่มต้นที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ตอนนั้นเป็นการแก้มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วตอนนั้นหาร 125 เพราะ ส.ส. บัญชีรายชื่อมี 125 คน คือเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบคู่ขนาน หมายความว่าแบ่งเขตก็เลือกไป ส่วนบัญชีรายชื่อเป็นอีกอันต่างหาก เลือกตั้งเสร็จก็เอาผลคะแนนรวมเข้าด้วยกัน ปี 2554 กลับไปหาระบบนี้ของฉบับ 2540

 

พอปี 2564 แปลว่า ตั้งใจกลับไปหาปี 2540 คำนวณเท่ากันด้วย เพราะ 2540 มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ส.ส. แบ่งเขต 400 คน แปลว่าตั้งใจอย่างนั้น เขียนแบบนี้ในปี 2554 คือการหาร 100 หารจำนวนปาร์ตี้ลิสต์เท่าที่มี ขณะนั้นคือ 125 ก็คือหาร 125

 

ถามว่าสามารถตีความให้เป็น 500 ได้หรือไม่ ตามมาตรา 91 ที่แก้ไขเขียนแบบนี้ ตีความว่าเขียนแบบระบบเยอรมนี คือระบบที่คะแนนที่เลือกปาร์ตี้ลิสต์คือคะแนนกำหนดจำนวน ส.ส. พึงมี คือระบบปี 2560 บัตรใบเดียวที่เลือก ส.ส. เขต เป็น ส.ส. พึงมีด้วย คำนวณทั้งประเทศ แล้วเอา ส.ส. เขตที่รับเลือกหักออก ที่เหลือก็ ส.ส. บัญชีรายชื่อเติมให้ ถ้าได้ครบแล้วก็ไม่ได้แล้ว

 

ระบบเยอรมนีคือ ระบบแบ่งเขตก็เหมือนเดิม แต่เอาเรื่องของ ส.ส. พึงมี แยกมาเป็นอีกใบหนึ่ง คือใบที่ 2 นั่นเอง พูดง่ายๆ ถ้าหาร 500 คือระบบเยอรมนี

 

ผมพูดในฐานะนักวิชาการ และเรื่องนี้เคยให้ความเห็นกับกรรมาธิการว่า ในทางวิชาการแล้วตีความได้ 2 อย่าง รัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้อยู่ที่รัฐสภาแล้วว่าจะเอาอย่างไร เพราะการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องของที่รัฐสภา แต่จะต้องประชุมร่วมกันทั้ง 2 สภา นั่นหมายถึง ส.ว. อีก 250 คน จะเอาอย่างไรด้วย รวมถึงคนที่เลือก ส.ว. ด้วย

 

ทีนี้ในตอนปี 2554 ที่กลับไปหาระบบบัตร 2 ใบ แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น ก็เขียนแบบนี้เหมือนกันเลย ถามพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ว่าไปเอาร่างที่ไหนมา ก็ร่างปี 2554 เพียงแต่เปลี่ยนมาตรา ตอนนั้นมาตรา 86 ตอนนี้เป็นมาตรา 91

 

สรุปคือ ผมเห็นว่ามันขึ้นอยู่ที่รัฐสภาจะตีความ ที่เขียนด้วยถ้อยคำแบบนี้มันค่อนข้างจะเปิดโอกาสให้ตีความได้ 2 แบบ วรรค 2 ของมาตราก็บอกวิธีการคำนวณให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

 

ส่วนเลือกไปแล้วเป็น 500 จะขัดรัฐธรรมนูญไหม จะมีใครส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าบอกว่า 100 ไม่ได้ อันนี้ผมเห็นต่าง เพราะว่าตอนที่เป็น 100 คือหารด้วยจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก็เขียนแบบนี้ในปี 2554 ก็ไม่เห็นมีปัญหาตรงไหนในตอนนั้น

 

ฉะนั้นประเด็นคงมีแค่ว่า 500 จะไปได้หรือเปล่า แต่ 100 เคยมาแล้ว ความเห็นผม 500 ก็ไปได้ อยู่ที่จะไปไหม ทีนี้ถ้าให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายๆ ถ้าหากเป็นระบบเยอรมนี มันคือการเอาคะแนนทั้งประเทศ ถ้าคิดว่าเรามีการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่ากับเมื่อปี 2562 คือคนไปเลือกตั้ง 35 ล้านคน อะไรแบบนี้ 74-75% เอา 500 หาร ตัวเลขที่จะได้ ส.ส. 1 คน ก็แค่ 71,000 กว่าๆ ก็แปลว่า พรรคเล็กถ้าได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แม้ว่าแบ่งเขตจะแพ้หมด แต่ถ้าได้ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 71,000 ขึ้นไป ได้ ส.ส. 1 คนแล้ว แต่ถ้าหากเป็นระบบปี 2540 คือเอา 100 หาร ระบบคู่ขนานคือ เอาบัญชีรายชื่อก็คิดแค่บัญชีรายชื่อเท่านั้น 100 เอา 100 หาร 35 ล้าน คือต้องได้ 350,000 จึงจะได้ ส.ส. 1 คน เป็นความต่างที่ทำไมพรรคขนาดเล็กจึงให้หาร 500 เพราะมันต่างกันมาก

 

พรรคการเมืองถ้าเห็นว่าหาร 500 พรรคเยอะเกินไป ข้อนี้ไม่ทราบคุยกันอย่างไร แต่ปี 2554 เรามีด่านที่ 5% ถ้าไม่ถึง 5% ไม่ได้ อันนี้ก็คิดสูงเกินไป เคยมีพรรคมหาชนของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้คะแนนเป็นล้าน นับเป็น 4% กว่า ไม่ได้ ส.ส. สักคน เพราะไม่ผ่านด่าน 5% แต่ครั้นจะไม่มีอะไรเลย แม้กระทั่งได้คะแนนแค่ 3 หมื่นคะแนน ไม่ถึง 7 หมื่น ก็ได้ ส.ส. อันนี้ก็เกินไป

 

เรื่องนี้มีทางออก โดยหลักแล้วพรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึง ส.ส. 1 คน ก็ไม่ควรได้ เพราะไม่ถึงคะแนนที่จะได้ เว้นแต่ว่าแบ่งกันแล้วในพรรคที่เกิน 71,000 แล้วมีเศษเหลือ โอเค มาดูถ้าเศษพรรคเล็กใหญ่กว่า พรรคเล็กก็ได้ไป ต้องมีเกณฑ์แบบนี้ ทีนี้ปี 2554 ไม่มีเกณฑ์เลย แล้วปี 2562 ก็หนักเข้าไปอีก เพราะมีการตีความสูตรคำนวณแบบพิสดาร จาก 16 พรรค กลายเป็น 27 พรรคไปเลย

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ในที่ประชุมกรรมาธิการทำไมมีการเปลี่ยนใจ

 

สมชัยกล่าวว่า วันนี้ผมก็อยู่ในกรรมาธิการกฎหมายลูก ต้องไปนั่งบนบัลลังก์ที่นั่งของรัฐมนตรีเวลามาชี้แจง แล้วก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมดว่า ในสภาใครเดินไปคุยกับใคร กลุ่มไหนประกอบด้วยใคร เห็นคนต่างพรรคคุยกัน เห็นความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น มีฝั่ง ส.ส. ไปคุยกับฝั่ง ส.ว. บางคน มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น จึงมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงตัวเลข สนับสนุนฝ่าย 500 มากขึ้นกว่าเดิม ค่อยๆ ปล่อยมาทีละ 1-2 พรรค ทำนองแบบนี้ ตั้งแต่ภาคบ่ายเริ่มประชุมกฎหมายลูก เราเห็นบรรยากาศต่างๆ เกิดขึ้น เหมือนกับทุกคนไม่ได้รอส่วนที่เป็นมาตราอื่นๆ เลย แต่ทุกคนพยายามจะรอว่าเมื่อไรจะถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับการหาร 100 หรือหาร 500 แต่ก็ไปไม่ถึงเนื่องจากสภาล่มเสียก่อน

 

บรรยากาศที่เราจับได้คือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเริ่มหันเหมาสนับสนุนฝั่งหาร 500 มากขึ้น ขณะที่ฝั่งฝ่ายค้านที่ยังยืนหยัดหาร 100 ก็น่าจะเหลือแค่ 2 พรรค คือ เพื่อไทยกับก้าวไกล ซึ่งก้าวไกลก็แปลก เพราะใจจริง หาร 500 ก็ได้ประโยชน์กับก้าวไกลมากกว่า เพราะว่าคราวที่แล้วบัตรใบเดียวเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนก้าวไกลได้ ส.ส. รายชื่อโดยไม่คาดฝันเยอะมาก ดังนั้นหาร 500 ก้าวไกลได้ประโยชน์มากกว่า แต่ก้าวไกลก็เรียกได้ว่ามีสัจจะ คือเป็นฝ่ายเสนอกฎหมายที่ผ่านมาวาระที่ 1 หาร 100 เขาบอกตอบประชาชนไม่ได้ทำไมกลับกลางคัน

 

แล้วก็อาจจะประเมินแล้วว่า ถึงแม้เขาจะอยู่ฝ่ายใดก็แล้วแต่ ถ้าฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอาทางใดทางหนึ่ง เขาก็แพ้อยู่แล้ว ดังนั้นปล่อยไปเถอะ อะไรแบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นขณะนี้ประชาธิปัตย์อาจจะแตก อาจจะมีบางส่วนเห็นด้วยกับ 100 บางส่วนเห็นด้วยกับ 500 ในส่วนของก้าวไกลยืนหยัดที่ 100 เพื่อไทยยืนหยัดที่ 100 ชาติไทยพัฒนาก็ 100 ที่เหลือไม่แน่แล้ว ที่เหลือน่าจะมาอยู่ทางฝั่ง 500 ทั้งหมด เสรีรวมไทย 500 มาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้เข้าข้าง พล.อ. ประยุทธ์ เรายืนหยัดหลักการไม่เห็นด้วยหาร 100 ไม่รับรองวาระ 1 ตั้งแต่เริ่มต้น และแปรญัตติหาร 500 ตั้งแต่ต้น

 

เหตุผลที่เสรีรวมไทยเชียร์หาร 500 คือเป็นหลักการที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น ระบบการเลือกแล้วได้จำนวน ส.ส. ที่เป็นธรรมโดยตรง กับเรื่องคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตหรือคะแนนที่สมควรจะมี ซึ่งหลักการนี้จริงๆ แล้ว คือหลักการที่ก้าวไกลเคยเสนอมาในอดีตมาตลอดเลยเป็นปีๆ คลิปต่างๆ ของก้าวไกลเสนอตัวเลขหาร 500 โดยเขาเรียกระบบนี้ว่า MMP หรือระบบจัดสรรปันส่วนผสม คือระบบเยอรมนี ซึ่งวิธีการคิดแบบระบบนี้จริงๆ แล้วก็คือบัตร 2 ใบ

 

หลายคนบอก บัตร 2 ใบจัดสรรปันส่วนไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ เพราะไปถามอาจารย์ปริญญาได้เลย เยอรมนีต้นตำรับบัตร 2 ใบ จัดสรรปันส่วน แต่ว่าก็จะมีอีก 2 อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง คือหนึ่ง เรื่องคะแนนขั้นต่ำ อย่างที่อาจารย์ปริญญาพูดถึง กับเรื่องที่สองคือ การที่จำนวน ส.ส. ไม่คงที่ ลอยตัว สามารถเพิ่มเข้าไปได้ เพื่อทำให้สัดส่วนดังกล่าวมันเป็นจริง ไม่เบี้ยวในส่วนนี้

 

เพราะฉะนั้นเสรีรวมไทยเรายืนหลักการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น แล้วเราก็บอกนี่คือระบบที่เป็นธรรม แล้วเราไม่ได้สนใจว่ากลัวจะสูญพันธุ์ เพราะเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่สูญพันธุ์ แต่อยู่ในกลุ่มซึ่งไม่ว่าจะอยู่ระบบใดก็แล้วแต่ เรายังมี ส.ส. อยู่ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นกรณีหาร 500 ก็อาจจะได้มากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดที่คะแนนเท่าเดิม มันต้องไปหาวิธีการให้ได้คะแนนเพิ่มเติมขึ้นมา ฉะนั้นหลักการนี้เป็นหลักการที่เรายืนหยัดตั้งแต่เริ่มต้น ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ มาตามในภายหลัง

 

สมชัยกล่าวด้วยว่า ได้คุยกับ ส.ว. แต่จะเป็นทั้งหมดหรือไม่ไม่รู้ เข้าใจว่าขณะนี้ ส.ว. ประมาณร้อยละ 80 น่าจะออกมาในทางหาร 500 เพราะดูจากประชุมในขั้น กมธ.วิสามัญ ส.ว. เข้าประชุม 11 คน มี 9 คน โหวตว่าไม่เอาหาร 100 อีก 2 คน งดออกเสียง มี 1 ใน 2 ที่เจอวันนี้ เขาบอกว่าความจริงวันนั้นเขาน่าจะโหวตไม่เอาหาร 100 อีกคน แต่วันนั้นอาจจะมีอะไรที่ตอบไม่ชัดเจนจึงงดออกเสียง

 

ดังนั้นเทียบสัดส่วนกัน 9 ใน 11 ในวันประชุม กมธ. แล้ว เมื่อมาเทียบเป็นในส่วนวุฒิสภาที่จะประชุมกัน 250 คน ผมก็เชื่อว่าน่าจะมาประมาณใกล้ 200 คน

 

เพราะฉะนั้นตอนนี้ราคาต่อรองผมว่าเปลี่ยนไป จากฝ่ายเชียร์หาร 100 มากกว่า กลายเป็นฝ่ายเชียร์หาร 500 มากกว่า

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดเห็นอย่างไรที่กระแสมาทางหาร 500 มากกว่า

 

ปริญญากล่าวว่า จะออกทางไหนอยู่ที่ ส.ว. เป็นหลัก เพราะ ส.ว. มีเสียงถึง 250 คน แล้วก็มีความเป็นกลุ่มก้อน เสียงไม่แตก ไม่เหมือน พ.ร.บ.ปกติที่พิจารณาร่วมกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับคนเลือก ส.ว. เอาอย่างไร แต่ก็ไม่ทราบว่าคนเลือก ส.ว. เสียงแตกหรือเปล่า ระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

ระบบเยอรมนีดีอย่างไร ระบบเยอรมนีมุ่งเน้นที่ความเป็นธรรม คะแนนเสียงของประชาชนจะกำหนดพรรคแต่ละพรรคจะมี ส.ส. ในสภากี่คน ด้วยการเลือกคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ อันนี้เป็นธรรม

 

ขณะที่ ส.ส. เขต ก็ยังเลือกได้ อันนี้เป็นระบบที่เขาถือกันว่าดีที่สุด และเป็นระบบที่เรียกว่ายังมีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้พรรคที่ 3-5 เข้าสภาได้ ทำให้มีความหลากหลาย ไม่ได้ผูกขาด 2-3 พรรคเท่านั้น ก็มีข้อดี

 

ขณะที่ระบบคู่ขนานมีข้อเสียคือระบบเสียงข้างมาก เขตละคนที่เป็นเสียงข้างมากธรรมดา คะแนนไม่ต้องเกินครึ่งก็สามารถชนะได้ เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่อยู่แล้ว สมมติผมมี 35-40 ส่วนที่เหลือ 15-20 น้อยลงมา ผมเป็นกลุ่มใหญ่สุดก็ชนะในเขตนั้น เอาง่ายๆ ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนแบ่งเขตเพียงแค่ 44% คะแนนบัญชีรายชื่อ 48% แต่ได้ ส.ส. จริง 265 คือ 53% ระบบแบ่งเขตมีความไม่เป็นธรรมเพราะให้ประโยชน์พรรคใหญ่ ส่วนพรรคเล็กมาอันดับที่ 2-5 คะแนนทิ้งน้ำหมดเลย ส่วนพรรคใหญ่ได้เปรียบแบ่งเขตแล้วยังได้บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเอาความเป็นธรรมก็ต้องระบบเยอรมนี

 

ถ้าผมอ่านการเมืองว่าทำไมรัฐบาลเปลี่ยนใจ ทำไม ส.ว. เปลี่ยนใจ ผมมองว่าเป็นการเมืองที่มองว่าระบบเลือกตั้งหาร 100 คือคู่ขนาน พรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบ ซึ่งก็จริง แต่ถ้าหากหาร 500 พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ได้เปรียบอีกต่อไป

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ตอนแรกทำไมเขาคิดว่าจะได้เปรียบจากการหาร 100

 

ปริญญากล่าวว่า ตอนนั้นพลังประชารัฐมีผู้กองธรรมนัส (ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า) เขาเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้เขาจะชนะการเลือกตั้ง เขาเชื่อว่าจะสามารถได้พื้นที่ด้วยการทำงานของผู้กองธรรมนัสที่ได้ ส.ส. เขต ได้บ้านใหญ่ทั่วประเทศแล้วปาร์ตี้ลิสต์ก็เพิ่ม เขาเชื่อว่าเขาจะชนะพรรคเพื่อไทยได้ นั่นคือช่วงสูงสุดของพรรคพลังประชารัฐ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คนทำงานเขต ผู้กองธรรมนัสก็ไม่อยู่แล้ว เหลือคุณสุชาติ ชมกลิ่น ก็ยังมีปัญหาฮึ่มๆ กันอยู่กับบ้านใหญ่เดิมของเมืองชลบุรี ถ้าไม่มีกลุ่มสามมิตรแล้วจะมีใครบ้างที่อยู่ในพลังประชารัฐ

 

แล้วในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ เป็นคะแนนนิยมล้วนๆ ของพรรค ถามว่าพลังประชารัฐคะแนนนิยมยังดีอยู่ไหม ผมไม่แน่ใจ เอาง่ายๆ คือ เขาเลือกหาร 100 เพราะเขาคิดว่าคะแนนนิยมดี พื้นที่ดี แล้วชนะได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เรื่องพื้นที่ก็มีปัญหา

 

กลับมาหาร 500 คงมาลุ้นคะแนนนิยม พล.อ. ประยุทธ์ น่าจะพอมีอยู่ น่าจะช่วยให้ได้ ส.ส. ขึ้นมา อย่างน้อยก็สกัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้โตเกินไป ผมเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น

 

ทีนี้ถ้าหากว่าจะวิเคราะห์โดยละเอียดต้องเอาตัวเลขมาดูกัน แต่ผมก็พูดในเบื้องต้นแบบนี้ พรรคใหญ่จะได้ ส.ส. ตามจริง คือตามคะแนนนิยมเลย แปลว่าพรรคเล็กซึ่งเคยแพ้ในเขตเลือกตั้งมีโอกาสจะได้ ส.ส. มากขึ้น ถ้าคะแนนนิยมดี

 

ทีนี้ก็เป็นปริศนาอย่างที่อาจารย์สมชัยวิเคราะห์ พรรคก้าวไกลความจริงแบบเขตขนาดตอนที่ไทยรักษาชาติถูกยุบ เขตเลือกตั้งก็เลยว่าง เพราะเพื่อไทยเขาเว้นให้ไทยรักษาชาติ ทำให้ผู้สมัครของอนาคตใหม่ชนะขึ้นมาตั้ง 30 กว่าเขต ตอนนี้เพื่อไทยไม่ได้เว้นให้แล้ว คะแนนนิยมก็ต้องมาแย่งฐานคะแนนกันอีก ความจริงแล้วพูดอย่างไม่อ้อมค้อม พรรคก้าวไกลน่าจะได้ประโยชน์จากระบบเยอรมนีมากกว่าระบบคู่ขนานที่หาร 100

 

แต่ถามว่าทำไมผมคิดว่าเป็นท่าทีของพรรคก้าวไกลที่ต้องการแสดงว่าเขาจุดยืนมาทางนี้แล้ว เผลอๆ เขาอ่านออก พรรคก้าวไกล 50 เสียง ไม่สำคัญเท่ากับ ส.ว. กับคนเลือก ส.ว. ดังนั้นเขาก็เอาจุดยืนดีกว่า ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้น แม้ว่าเขาผลักดันระบบเยอรมนีมาตลอด เขาคงมองไปข้างหน้าแล้วว่าอนาคตข้างหน้าค่อยผลักดันอีกครั้ง ผมอ่านเกมแบบนี้

 

แต่ว่าถ้าจะให้พูดในฐานะนักวิชาการ อยากได้ระบบเลือกตั้งที่แฟร์กับทุกพรรค ทุกพรรคได้คะแนนเสียงตามจริง ชอบใครในเขตเลือกไปเลย แต่อยากให้แต่ละพรรคมี ส.ส. กี่คน ก็คือคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ระบบนี้

 

ฝากอาจารย์สมชัย 2-3 ประเด็น บัตรต้องเป็นเบอร์เดียวกัน ไม่งั้นงงตายยุ่งตาย และถ้าหาร 500 ประเด็นคือจำนวน ส.ส. ที่จะจัดสรรเติมให้ได้ตามคะแนนนิยม มีแค่ 100 ซึ่งประเทศที่เคยทำน้อยสุดคือ 25% อิตาลีเคยทำเมื่อก่อน มี ส.ส. 600 คน แบบเขต 450 บัญชีรายชื่อ 150

 

ส่วนของเรา 20% เท่านั้น ส.ส. เราล็อกไว้แล้ว ไม่ได้ลอยแบบของเยอรมนี ดังนั้น ส.ส. เขตกับบัญชี ก็ล็อก 400 กับ 100 ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะเติมให้ครบตามเปอร์เซ็นต์จำนวนปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน ส.ส. มันจะเกิน 100 ดังนั้นต้องทำให้คำนวณแล้วลดลงตามส่วนให้อยู่ใน 100 อาจต้องมีตรงนี้

 

อีกข้อยังเชื่อว่าเราต้องใช้หลักว่าถ้าระบบเยอรมนีหาร 500 พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงคะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. 1 คนที่หาร 500 ก็ไม่ควรได้ จะอ้างได้ด้วยเงื่อนไขเดียว คือพรรคซึ่งได้เกินไปแล้วจากคะแนนเฉลี่ย เช่น 71,000 ได้ไปแล้วมีเศษเหลือ มาดูว่าใครเศษใหญ่สุดค่อยจัดให้

 

เรียนเพิ่มเติมอีกข้อ ระบบเยอรมนี ระบบ 2 คะแนนแล้วอยู่ในบัตรใบเดียว แบ่งเป็น 2 ซีก ซีกแบ่งเขตกับซีกบัญชีรายชื่อ จะทำบัตร 2 ใบ หีบ 2 หีบทำไม นับแยกทำไม ในเมื่อมันคิดสัมพันกันอยู่แล้ว ทำบัตรใบเดียวไปเลย ลดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง

 

ก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดเพราะคิดว่าไม่ผ่าน แต่เห็นอาจารย์สมชัยบอกมีแนวโน้มจะผ่าน อาจารย์อาจต้องทำเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะถ้า ส.ส. เกิน 100 จะทำอย่างไร เช่น คำนวณปี 2554 ถ้าใช้ระบบเยอรมนีจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 147 คน ขณะที่มีได้ 125 คน

 

สมชัยกล่าวว่า เบอร์เดียวหรือไม่ต้องลุ้นการโหวตในสภา ส่วนเรื่องขั้นต่ำเคยอยู่ในร่างของพลังประชารัฐกับเพื่อไทย ขั้นต่ำ 350,000 คะแนน แต่ผลคือไม่รับหลักการในวาระ 1 ในการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จึงจบ

 

ส่วนเรื่องการคำนวณ เป็นเรื่องของ กกต. หลังแก้กติกา กกต. ก็ต้องไปทำสูตรการคำนวณแถลงต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รู้การคำนวณตั้งแต่เริ่มก่อนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จแล้วมาคำนวณให้ดู แล้วก็มาเถียงกับชาวบ้านว่าคำนวณถูกไม่ถูก ถือว่าไม่แฟร์ ฉะนั้น กกต. เองต้องเป็นฝ่ายทำตุ๊กตา ทำตัวอย่างโจทย์ในการคำนวณแล้วเอามาให้ประชาชนดูว่าหลังเลือกตั้งจะคำนวณแบบนี้ จึงจะเป็นธรรม

 

ส่วนใบเดียวหรือ 2 ใบ ก็อุตส่าห์เปลี่ยนเป็น 2 ใบแล้ว ไปพิมพ์ใบเดียวเดี๋ยวหาว่าผิดรัฐธรรมนูญอีก อย่าเพิ่งสนใจ ดำเนินการตาม 2 ใบไปก่อน หลายอย่างถ้าแก้ต้องแก้ในรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนจำนวนเกินกว่า 500 เป็นไปไม่ได้ สัดส่วนเขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าจะเปลี่ยนต่อไปอาจารย์ปริญญาต้องมาเป็น ส.ส.ร. เพื่อจะบอกว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้

 

สัดส่วน 400 ต่อ 100 ผมก็ต่อต้านมาตลอดนะ เพราะพัฒนาการของประเทศต้องเพิ่มจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ไม่ใช่ลดลงๆ แล้วมี ส.ส. เขตมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องค่อยๆ ขยับจนสุดท้ายควรจะเป็นครึ่งๆ เท่ากันด้วยซ้ำ เป็นระบบที่ควรจะเป็น แต่การแก้เรื่องนี้ต้องแก้ระดับรัฐธรรมนูญ ขอแซวอาจารย์ปริญญาเชียร์ระบบเยอรมนีเพราะเรียนเยอรมนี เป็นเหตุผลแซวเล่นนะ แต่จริงๆ ส่วนตัวก็มองว่าระบบเยอรมนีเป็นระบบที่ดี ป้องกันพรรคบางพรรคซึ่งมีขนาดใหญ่และผูกขาด กลายเป็นเผด็จการรัฐสภา ได้จำนวน ส.ส. ผิดไปจากสัดส่วนที่ควรจะมี เป็นการออกแบบที่ดี เนื้อหาดี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising