×

การแข่งขันขี่ม้าช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมม้าได้อย่างไร? ทำความเข้าใจผ่านการแข่งขันขี่ม้าชิงถ้วยพระราชทาน ‘Princess’s Cup Thailand’

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2022
  • LOADING...

จบการแข่งขันขี่ม้ารายการ Princess’s Cup Thailand 2022 ครั้งที่ 8 ภายใต้สโลแกน TOGETHER, WE ARE ONE เป็นที่เรียบร้อย โดยปีนี้เป็นการจัดการแข่งขันตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานกีฬาขี่ม้าในประเทศไทย ตลอดจนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีของนักกีฬาขี่ม้า และสโมสรขี่ม้าทั้งในและต่างประเทศ

 

ใครที่อยากทราบผลการแข่งขันทั้ง 2 รายการ ได้แก่ CSIJ-B การแข่งขันกีฬาขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางของเยาวชนระดับนานาชาติ ทั้งประเภททีมและประเภทบุคคล และ Princess’s Cup Thailand 2022 ทั้ง 5 ประเภท สามารถดูได้จากลิงก์นี้ https://online.equipe.com/en/competitions/52315 

 

เพราะบทความนี้เราไม่ได้มาแจกแจงรายชื่อผู้ชนะ แต่อยากพาคุณไปรู้จักกับการแข่งขันทั้ง 5 ประเภทของรายการ Princess’s Cup Thailand โดยเฉพาะการแข่งขัน ‘สุดยอดช่างเกือก’ (Best Farrier) และ ‘สุดยอดผู้ดูแลม้า’ (Best Groom) ซึ่งเป็นสองประเภทการแข่งขันที่จัดแข่งในรายการ Princess’s Cup Thailand นี้เท่านั้น 

 

 

การกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง (Jumping)

 

ชื่อการแข่งขันก็บอกชัดเจนแล้วว่า เป็นการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งจะต้องขี่ม้ากระโดดข้ามสิ่งกีดขวางตามหมายเลขเครื่องและแบบของสนาม ซึ่งออกแบบโดยผู้ออกแบบสนาม (Course Designer) ใครคะแนนเสียน้อยที่สุด และทำเวลาได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งคะแนนเสียจะเกิดขึ้นจากผู้เข้าแข่งขันกระโดดแล้วม้าเตะเครื่องตกพื้น หรือม้าปฏิเสธเครื่อง ไม่ก็ใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนด และสุดท้ายคือผู้เข้าแข่งขันตกม้า 

 

 

ศิลปะการบังคับม้า (Dressage)

 

กติกาของการแข่งขันประเภทนี้คือ ใครสามารถบังคับม้าได้อย่างสวยงามและถูกต้องในแต่ละท่าทางได้เข้าหลักเกณฑ์ เช่น การเปลี่ยนฝีเท้าม้าในการวิ่งตามจุดบังคับ หรือลักษณะการก้าวของม้า โดยแต่ละท่าทางจะมีคะแนนตั้งแต่ 0-10 คะแนน การคิดคะแนนจะนำคะแนนจากกรรมการประจำจุดต่างๆ มารวมกัน และหาค่าเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์ ใครทำคะแนนได้สูงสุดก็คว้าถ้วยรางวัลไปครอง  

 

 

อีเวนติ้ง (Eventing)

 

การแข่งขันประเภทนี้ถูกจัดให้เป็นการแข่งขันที่ยาก และต้องใช้ความสามารถของม้าที่หลากหลาย เพราะรวมเอาทั้ง ศิลปะการบังคับม้า (Dressage) และการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง (Jumping) แถมยังเพิ่มการขี่ม้าในภูมิประเทศ (Cross Country) เข้าไปด้วย โดยจะแข่งวันละประเภท เมื่อจบการแข่งขันทั้ง 3 วัน ถึงจะรวมคะแนนหาผู้ชนะที่ได้คะแนนสูงสุด 

 

ซึ่งทั้ง 3 ประเภทการแข่งขันข้างต้น ใครที่เป็นแฟนกีฬาแข่งขันขี่ม้าน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะถูกจัดไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่สองประเภทหลังที่อาจไม่คุ้นหูกันนักก็คือ สุดยอดช่างเกือก’ (Best Farrier) และ ‘สุดยอดผู้ดูแลม้า’ (Best Groom)

 

 

นารา เกตุสิงห์ เลขาธิการสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการจัดการแข่งขัน และร้านค้า กิจกรรม งาน Princess’s Cup 2022 เล่าว่า การแข่งขันทั้งสองรายการนี้ เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 แน่นอนน้อยคนจะรู้ว่ามี และรู้ว่าการแข่งขันนี้มีกฎกติกาอะไร และแข่งไปเพื่ออะไร

 

 

เริ่มกันที่ สุดยอดผู้ดูแลม้า’(Best Groom) โจทย์คือ ผู้ดูแลม้าต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ต่างๆ ตามมาตรฐานสากลภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ การทำความสะอาดม้าในจุดต่างๆ ใส่เครื่องม้าถูกวิธีหรือไม่ ถักเปียม้าได้สวยงามถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ใครทำถูกต้องที่สุดในทุกๆ โจทย์ก็เป็นผู้ชนะ 

 

“การแข่งขันนี้ทำให้คนดูแลม้าต้องเตรียมตัวให้พร้อมตามเช็กลิสต์ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เท่ากับว่าเขาเองก็ได้ฝึกปฏิบัติไปในตัว ที่ต่างประเทศ อาชีพผู้ดูแลม้าก็เหมือนกับพี่เลี้ยงเด็กที่ใครๆ ก็ต้องการตัว จึงมีการพัฒนาทักษะและหลักสูตรอบรมอย่างจริงจัง ที่ประเทศไทยก็มีเช่นกัน เพราะเราต้องการสร้างมาตรฐานให้เทียบชั้นระดับสากล และสร้างความยั่งยืนให้กับคนเลี้ยงม้าในเมืองไทย ยกระดับอาชีพคนเลี้ยงม้าให้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการแข่งขันขี่ม้า” นารากล่าว

 

 

สำหรับการแข่งขัน สุดยอดช่างเกือกม้า (Best Farrier) ผู้ที่จะเข้าแข่งขันในประเภทนี้ได้ต้องมีความเชี่ยวชาญที่ไม่ธรรมดา เพราะต้องผสมผสานทั้งงานฝีมือในการปรับรูปแบบเกือกให้เหมาะกับสรีระของกีบม้า จึงต้องมีความเข้าใจสรีระของม้า การแข่งขัน กรรมการจะนำม้าที่มีลักษณะความผิดปกติของกีบม้า เพื่อทดสอบว่าช่างเกือกม้าจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบของกีบ และตีเกือกจากเหล็กเส้นขึ้นรูปเกือกให้ม้าอย่างไรให้เข้ากับสรีระของกีบม้าตัวนั้นๆ

 

“บอกเลยว่าคนเหล่านี้ล้วนสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน ใครที่มีความสามารถย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะม้าแข่งทุกตัวจำเป็นต้องมีเกือกที่เหมาะกับเขา เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน” นารากล่าว

 

 

มากกว่าถ้วยรางวัล…คือการผลักดันให้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับม้าเติบโตอย่างยั่งยืน

 

นาราเล่าให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานทั้ง 5 ประเภทนั้น สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับม้าของไทยให้เติบโตได้อย่างไร นอกจากผู้ชนะทั้ง 5 ประเภทจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจแล้ว การแข่งขันยังเป็นตัวชี้วัดระดับความสามารถของผู้เข้าแข่งขัน เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ผลักดันให้พวกเขาก้าวต่อไปในเวทีการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้น 

 

แต่หากไล่เรียงลงไปทีละขั้นจะเห็นผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม และการจัดการแข่งขันขี่ม้ามากมายที่ได้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น โค้ชผู้ฝึกสอน คอกม้า คนเลี้ยงม้า ช่างเกือกม้า เกษตรกรที่ปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารม้า สัตวแพทย์ ผู้ผลิตเครื่องม้า ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการแข่งขัน แน่นอนว่าเมื่อจำนวนผู้เข้าแข่งขันเพิ่มมากขึ้น การเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมก็ดีขึ้นตามไปด้วย

 

 

“นี่คือสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิสัยทัศน์ต้องการให้เกิดขึ้น นอกจากความคาดหวังที่จะยกระดับมาตรฐานการแข่งขันให้เทียบเท่าสากล สร้างมาตรฐานให้กับนักกีฬาขี่ม้าของไทย ยังมีผลลัพธ์ที่ดีตามมาอีกมากจากการจัดการแข่งขัน อย่างการเชิญกรรมการต่างชาติก็เพื่อที่จะพัฒนาบุคลากรให้สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ในอนาคต หรือการจัดการแข่งขันสุดยอดช่างเกือก และสุดยอดผู้ดูแลม้า เพราะพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของคนเบื้องหลัง การจัดประกวดจะทำให้เกิดการพัฒนาความสามารถของคนเหล่านี้” 

 

ท้ายที่สุดคงเป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นว่า การแข่งขันขี่ม้าเป็นกีฬาที่ใครก็เข้าถึงได้ แม้ว่าจำนวนคนเข้าร่วมงาน Princess’s Cup Thailand 2022 ที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามาเพื่อชมการแข่งขัน หรือมาร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เดินช้อป แวะชิม ชมการแข่งขันประกวดสุนัข และ Dog Fun Run

 

แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนไม่น้อยรับรู้ว่า รายการ Princess’s Cup Thailand 2022 คนไทยทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าปีนี้หรือปีต่อๆ ไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising