ปรากฏการณ์ ‘ความไม่ลงรอย’ ระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำประเทศ และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจ นั้นเกิดจากความเห็นที่ไม่ตรงกันใน 3 ประเด็น
1. รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ด้วยการเติมเงินในระบบเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย และทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
แต่ในมุมของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินและวินัยมองว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 หรือไม่ รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินฝืดและเงินเฟ้อได้ด้วย
2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ท่ามกลางเงินเฟ้อของประเทศไทย
จนทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีผลประกอบการโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็นว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ พร้อมทั้งขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยด้วย
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยลดการประมาณการ GDP เหลือ 2.8% ขณะที่รัฐบาลเห็นแย้งว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. สวนทางกับการลดเป้าหมายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (10 มกราคม) เวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าพบที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพูดคุยหารือ และหาทางออกต่อเศรษฐกิจไทย
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อ้างอิง:
- รายการ เรื่องเล่าเช้านี้
- https://www.prachachat.net/finance/news-1473634
- https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1107537