ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัทและผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนยักษ์ใหญ่ระดับโลก ‘Dubai Port World (DP World)’ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เราได้พูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในโครงการต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค โดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมทะเลทั้ง 2 ฝั่งคือ ฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นประตูให้กับการคมนาคมขนส่งและการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการให้นักลงทุนจากทั่วโลกมีส่วนร่วมในการลงทุนในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ครบวงจร พร้อมแสดงให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศไทยและการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
มองหาโอกาสในไทย
ด้านสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DP World กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง และยินดีที่จะรับฟังข้อมูลโครงการต่างๆ ของประเทศไทย
“DP World ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างไรก็ตาม แรงเสียดทานทางเศรษฐกิจและอุปสรรคจากซัพพลายเชนทำให้เกิดความท้าทาย ด้วยความเชี่ยวชาญในการบริหารท่าเรือและท่าเทียบเรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปจนถึงการขนส่ง โลจิสติกส์ และเทคโนโลยีด้านการขนส่ง เรามั่นใจว่าจะทำให้การค้าราบรื่น” บิน สุลาเย็ม กล่าว
เสนอแผนระบบโลจิสติกส์ราง-น้ำ ยกระดับไทยทั้งประเทศ
ต่อมา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับประธานกลุ่มบริษัท DP World ว่า DP World เห็นว่าประเทศไทยมีที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถของบริษัทดังกล่าวที่สามารถสร้างโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย พร้อมกับชี้ว่า ประเทศไทยมีลักษณะภูมิศาสตร์อยู่ระหว่าง 2 คาบมหาสมุทรคือ มหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย โดย DP World เห็นว่าจะสามารถเสนอแผนในการพัฒนาประเทศไทยเพื่อเติมเต็มศักยภาพ ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ส่วนแผนที่บริษัท DP World จะเสนอ จากการพูดคุยก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งจะเป็นแผนที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งหมด ทั้งระบบรางเชื่อมโยงตั้งแต่ประเทศมาเลเซีย ผ่านกรุงเทพมหานคร ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และข้ามไปที่ประเทศจีน
ส่วนระบบขนส่งทางน้ำก็ต้องมาดูว่าจะเชื่อมโยงอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพราะการขนส่งทางน้ำเป็นระบบที่ใช้ต้นทุนถูกที่สุด ฉะนั้นขอให้มองในภาพรวม ซึ่งจะเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทย โดย DP World ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแผนดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ทางการไทยก็จะตั้งคณะทำงานมาดูแผนดังกล่าวโดยเฉพาะด้วย
DP World โลจิสติกส์ระดับโลก
DP World ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในดูไบ มีพนักงาน 111,000 คนในกว่า 75 ประเทศ ทำหน้าที่สนับสนุนเจ้าของสินค้า ตั้งแต่ท่าเรือและท่าเทียบเรือไปจนถึงบริการทางทะเลและโลจิสติกส์ มีขีดความสามารถในการบริหารตู้สินค้าได้ถึง 10% ของตู้สินค้าทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก DP World มีพนักงานกว่า 7,000 คน และมีท่าเรือและท่าเทียบเรือ 19 แห่ง ซึ่งมีกิจการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นท่าเรือนานาชาติที่คึกคักที่สุดในประเทศไทยด้วย