วันนี้ (19 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
เศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวน 3,752,700 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND
รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจตาม
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
- พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
- พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
- แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- แผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง
เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
เศรษฐายังอธิบายว่า ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง 2.5-3.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% (ค่ากลาง 1.2%) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกิน
ปลายปี ‘เงินหมื่น’ ถึงมือคนไทย 50 ล้านคนแน่นอน
เศรษฐากล่าวอีกว่า ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป
ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของประเทศไทย เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ 8 ด้าน ได้แก่
- ศูนย์กลางการท่องเที่ยว
- ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ
- ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร
- ศูนย์กลางการบิน
- ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค
- ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
- ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล
- ศูนย์กลางการเงิน
บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน และพลังงานสะอาดและมั่นคง
กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลางคือ การต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรม ในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน
รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความเป็นกลางทาง ภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ สภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก เกิดเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลอดครึ่งปี 2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาและจัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนักและค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่า 91.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซ้ำร้ายยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยและจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ
ในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบ 5.1% ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 3.3% ในไตรมาส 1 ของปี 2567
การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้ขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 8.5 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการเดินหน้าเจรจาการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการดำเนินนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก
นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน
รวมถึงการหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท
ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
งบประมาณ 3.752 ล้านล้านบาทอยู่ตรงไหนบ้าง
รัฐบาลได้ตั้งประมาณรายงานจ่ายสำหรับงบกลางไว้จำนวน 805,745.0 ล้านบาท คิดเป็น 21.5% แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,254,576.8 ล้านบาท คิดเป็น 33.4% ของวงเงินงบประมาณ และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 206,858.5 ล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของวงเงินงบประมาณ จำแนกออกจำนวน 10 เรื่อง
- ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
- บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
- พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
- พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
- รัฐบาลดิจิทัล
- สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
ส่วนงบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้จำนวน 800,969.6 ล้านบาท คิดเป็น 21.4% ของวงเงินงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้จำนวน 274,296.4 ล้านบาท คิดเป็น 7.3% ของวงเงินงบประมาณ และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้จำนวน 410,253.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.9% ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็น 10.8% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ เช่น การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด, การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ, การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง, การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ, การรักษาความสงบภายในประเทศ การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ และการดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็น 10.6% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญในทุกภูมิภาคของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3: ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็น 15.5% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรม สู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4: ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.6% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 5: ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็น 3.7% ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว โดยจำแนกตามแผนงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 6: ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ การเป็นรัฐบาลดิจิทัล งบประมาณ 3,545.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ พัฒนาระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็น 17.6% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เช่น กรณีฉุกเฉินการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง รวมถึงแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ
รัฐบาลจะเดินตามกรอบฯ-ใช้ภาษีประชาชนให้คุ้มค่า
เศรษฐากล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็น 24.2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.9% และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา
“การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย