ปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกและไทยทุกภาคส่วน โดยช่วงที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลเลือกใช้งบประมาณประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 70,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 12% ของ GDP เพื่อประคับประคองครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด
ขณะที่เงินกู้มูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 32,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้ในการให้เงินช่วยเหลือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างงานและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในระดับชุมชน รวมถึงเม็ดเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) อีก 9 แสนล้านบาท หรือ 28,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้แน่ใจว่าตลาดการเงินจะมีสภาพคล่องเพียงพอ
ทั้งนี้จะมียุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ที่จะสร้างความมั่นใจในเศรษฐกิจและเป้าหมายในการลงทุน ได้แก่
- การประสานนโนบายและการตอบสนองที่รวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เช่น การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐต่างๆ และกับภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังมองว่า Big Data และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคลและ SMEs เช่น คนตกงาน และธุรกิจที่อยู่ในความเสี่ยง ฯลฯ โดยปรับปรุงโครงข่ายระบบ E-Payment และ Big Data ของประเทศ อย่างเช่น พร้อมเพย์ และ Ai Screening เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ไปถึงผู้ที่ต้องการอย่างทันท่วงที นโยบายประคับประคองกลุ่มเสี่ยงของเราก็สามารถไปถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
- การลงทุนระยะยาวและอนาคตของอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องหลัก โดยกระทรวงการคลังเน้นการใช้จ่ายด้านการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยผ่านหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจต่างๆ
- กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้านการเงิน แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ต่ำกว่า 60% โดยยังสามารถที่จะใช้กลยุทธ์ในการกู้ยืมภาครัฐมาเป็นทางออกได้
เราอาจจะต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเมื่อจำเป็น แต่ยังมีข้อจำกัดในการทำงบประมาณที่จะใช้จ่าย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมี 4 แนวทางปฏิบัติของรัฐบาลเพื่อรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ได้แก่
- มาตรการดูแลช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบางและกลุ่ม SMEs
- เตรียมพร้อมประเทศรับกับกระแสได้เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
- การสร้างงานให้ภาคเอกชน
- ยุทธศาสตร์สร้างงานสำหรับคนที่จบใหม่
ซึ่งภาครัฐต้องมีความโปร่งใส กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของรัฐมีส่วนร่วมในนโยบายบริการสาธารณะ
“ผลกระทบของโควิด-19 ในภาคสังคม เศรษฐกิจ และกลุ่มที่ความเปราะบางเป็นหัวใจสำคัญของการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และผู้มีส่วนร่วมเพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตและประกันว่าไม่มีผู้ใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และเราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน” ปรีดีกล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า