×

ร่วมค้นหาคำตอบว่า ‘เท่าไหน ที่เท่ากัน?’ ในเดือนแห่ง Pride กับ SIRI Podcast: คุยนอกทวีต และ เศรษฐา ทวีสิน

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2021
  • LOADING...
SIRI Podcast

HIGHLIGHTS

  • ในเทศกาล Pride Month ที่มาถึงนี้ คอนเทนต์ควรค่าที่เราอยากแนะนำให้ติดตามกันก็คือ ‘SIRI Podcast: คุยนอกทวีต’ EP ล่าสุด ซึ่ง เศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอของแสนสิริ เปิดประเด็นเรื่อง Live Equally เท่าไหน ที่เท่ากัน ว่าด้วยเรื่องการเปิดกว้างยอมรับสิทธิของชาว LGBTQ+ พร้อมแขกรับเชิญพิเศษอย่าง เอม-เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกา ‘คิลิน’ นักเขียนนิยายแนวยูริหรือหญิงรักหญิงชื่อดัง กับ เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักจิตบำบัด ด้วยแนวคิดด้าน Existential Psychotherapy ผู้ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด

คำพูดที่ว่า “มนุษย์เราทุกคนเท่ากัน” เป็นคำพูดที่ฟังดูง่าย แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งเราคงต้องยอมรับกันว่าแม้ทุกวันนี้สังคมไทยของเราจะเปิดกว้างมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังมีผู้คนที่ออกมาเรียกร้องพร้อมยืนหยัดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย รวมไปถึงการยืดหยัดเพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน

 

เมื่อเร็วๆ นี้ THE STANDARD ได้มีโอกาสฟังพอดแคสต์หนึ่งซึ่งพูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และอยากจะมาบอกเล่าชวนให้ได้ฟังกันก็คือ คุยนอกทวีต รายการนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ รายการใน SIRI Podcast ของแสนสิริ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ซึ่งเปิดพื้นที่ให้หัวเรือใหญ่ของแสนสิริอย่าง เศรษฐา ทวีสิน ผู้มีบทบาทในการนำเสนอความคิดเห็นร่วมผลักดันสังคมเสมอมาดำเนินรายการพอดแคสต์ ซึ่งใน คุยนอกทวีต อีพีล่าสุดนี้ก็ได้เปิดประเด็นเรื่อง Live Equally เท่าไหน ที่เท่ากัน ว่าด้วยเรื่องของความแตกต่างหลากหลายและสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยมีแขกรับเชิญพิเศษ 2 คน มาร่วมให้ข้อคิดและมุมมองอย่าง เอม-เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย หรือที่รู้จักดีในนามปากกา ‘คิลิน’ นักเขียนนิยายแนวยูริหรือหญิงรักหญิงชื่อดัง และเจ้าของร้าน The Kloset สเปซที่เป็นเสมือนคอมมูนิตี้เล็กๆ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงไม่ว่าจะมีตัวตนทางเพศแบบไหนก็ตาม พร้อมด้วย เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ อดีตสมาชิกวง K-OTIC ซึ่งปัจจุบันเป็นนักจิตบำบัด ด้วยแนวคิดปรัชญาความเข้าใจถึงการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ (Existential Psychotherapy) ผู้ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด ซึ่งต้องบอกเลยว่าบทสนทนาของทั้งสามท่านช่วยเปิดมุมมองที่มีค่าให้กับเราได้อย่างมาก

 

 

เมื่อ Pride Month เวียนมาถึง สังคมไทยเปิดกว้างขึ้น แต่ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อ  

อีพีนี้เกิดขึ้นเนื่องในโอกาสของ Pride Month ซึ่งเวียนมาถึงอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ แบรนด์ที่เชื่อมั่นและส่งเสริมในเรื่องความแตกต่างหลากหลายอย่างแสนสิริและคุณเศรษฐาจึงได้ถือโอกาสเปิดประเด็นดังกล่าว โดยเท้าความถึงจุดกำเนิดของ Pride Month ซึ่งหลายๆ คนอาจจะนึกถึงกันในแง่ของขบวนพาเหรด ซึ่งเต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา และไลฟ์สไตล์การกินดื่มเที่ยวเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาดังกล่าว หากสิ่งหนึ่งที่จะลืมไปไม่ได้เลยก็คือ เหตุการณ์เลือกปฏิบัติและการกดขี่ทางเพศในอดีตเมื่อ ค.ศ. 1969 ณ คลับ Stonewall Inn ในนิวยอร์ก หรือกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งจุดประกายสำคัญให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้รับการหยิบยกมาพูดถึงอย่างเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่ถือเป็นแก่นแนวคิดหัวใจของ Pride Month เทศกาลสำคัญที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ   

 

ในประเด็นนี้ทั้งสามคนต่างเห็นตรงกันว่าแม้ Pride Month จะเวียนมาถึงอีกครั้ง และสังคมโลกรวมถึงสังคมไทยจะมีความเปิดกว้างมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่กระนั้นก็ ‘ยังไม่ดีพอ’ ความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงหรือตามที่ ‘ควรจะเป็น’ ก็ยังคงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งการเหยียดเพศนั้นก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ในส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ทั้งในรูปแบบของทัศนคติ ความเชื่อ ลักษณะของการใช้คำพูดที่เหยียดเพศ ตลอดจนหลักปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และแฝงอยู่ในส่วน-ระดับต่างๆ ภายในสังคมไทยเรา ซึ่งไม่ทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์อย่างคุณเศรษฐาได้เล่าแชร์ให้ฟังว่า ในอดีตนั้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการใช้คำว่า ‘ที่ดินนี้มันกะเทย’ ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยที่สื่อถึงที่ดินซึ่งทำคอนโดหรือปลูกบ้านเดี่ยวก็ไม่ดี เกิดจากซึมซับค่านิยมจากสังคมสมัยก่อนมา แต่นั่นก็เป็นการเผลอสื่อสารที่คิดน้อยจนเกินไปและลืมไปว่าคำพูดนั้นแฝงการเหยียดเพศอยู่ ซึ่งภายหลังเมื่อมีการตระหนักถึงเรื่องนี้ คุณเศรษฐาในฐานะของหัวเรือใหญ่ของแสนสิริจึงได้มีนโยบายในการสั่งห้ามใช้คำดังกล่าว และรณรงค์ให้เกิด Equality หรือความเท่าเทียมภายในองค์กรและชุมชนแสนสิริ ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ ห้องน้ำ LGBTQ+ ภายในโครงการของแสนสิริ ซึ่งเขื่อนถูกใจมาก และทั้งสามท่านต่างเห็นพ้องตรงกันถึงความสำคัญของการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน’ พื้นที่ซึ่งทุกคนได้รับการยอมรับ ไม่โดนทำร้าย กดขี่ หรือละเมิดสิทธิ 

 

 

“สังคมไทยยังอยู่ในจุดที่หลายๆ อย่างโดนแบ่งกลุ่มเป็นขาวกับดำเยอะมาก

ทั้งๆ ที่แม้แต่เสื้อผ้าหรือสีก็ไม่มีเพศ… 

วันนี้เขื่อนได้มาที่แสนสิริ ได้เจอป้ายห้องน้ำเป็นสัญลักษณ์ LGBTQ+ 

รู้สึกมีความสุขและรู้สึกปลอดภัยมาก”

 

เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

 

ต่างรุ่น ต่างเจเนอเรชัน ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องของความแตกต่างทางเพศนั้นมีความหลากหลายมาก จากแต่ก่อนที่มีเพียง LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ก็มีการเพิ่ม Alphabet Q (Queer) เข้าไป แล้วต่อมาก็มีการเติม เครื่องหมาย + (และอื่นๆ) เข้าไป เพื่อที่จะโอบอุ้มทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด ซึ่งหลายสังคมก็มีการตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศและเปิดรับที่ต่างกัน อย่างในสังคมอังกฤษซึ่งดูจะเหมือนเปิดกว้างนั้น แต่สำหรับ Transgender หรือกลุ่มคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงข้ามเพศ กลับยังคงต้องการการยอมรับที่มากขึ้นอยู่ ส่วนสังคมไทยที่ดูเปิดกว้างกับ LGBTQ+ ก็ยังคงหลงลืมบางเพศไป และควรที่จะ Inclusive หรือเปิดรับโอบอุ้มเข้ามาด้วยเช่นกัน 

 

นักเขียนนิยายยูริชื่อดังอย่างเอม ชี้ประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า บางครั้งที่คนเราเผลอเหยียดเพศกันนั้นอาจจะเป็นเพราะสิ่งที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อ รวมถึง ‘การมีคลังคำที่จำกัด’ และยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่มากพอ เช่น การเรียกบางคนว่าเป็นกะเทย ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองอาจจะไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเช่นนั้น ก็เกิดจากความไม่รู้และการเลือกใช้คำที่ไม่เหมาะสมจากคลังคำที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ทุกคนก็สามารถที่จะค่อยๆ ช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างในบ้าน ในครอบครัวก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายขึ้นไป

 

“และบางครั้งการ Call Out หรือการเรียกร้อง ก็ไม่ใช่การว่ากล่าวโทษกันเสมอไป แต่เป็นการสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน” 

 

 

“ที่ต่างจังหวัด คนเฒ่าคนแก่ไม่มีคลังศัพท์ให้เรียกอย่างอื่นแล้ว 

จึงเรียกรวมหมด ทอม กะเทย ไม่มีคนไปให้ความรู้เขา

เขาจึงไม่มีคลังศัพท์ไหนให้ใช้ 

ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปโกรธกัน”

เอม-เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย

 

ด้านนักจิตบำบัดอย่างเขื่อนเองก็ได้แชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับญาติผู้ใหญ่ที่บ้านเอาไว้ว่า เมื่อคนรุ่นก่อนเผลอแสดงคำพูดที่อาจจะฟังดูแล้วเหยียดเพศหรือยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในมายด์เซ็ตในยุคสมัยของเขา เราก็สามารถที่จะค่อยๆ อธิบายด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรว่า สมัยนี้คนเราไม่สามารถและไม่ควรที่จะใช้คำพูดอย่างนี้อีกต่อไปแล้ว พร้อมให้เหตุผลด้วยว่าทำไม ซึ่งญาติผู้ใหญ่บางคนที่เปิดใจกว้างก็อาจสามารถที่จะยอมรับได้อย่างที่เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการให้การศึกษา สร้างความเข้าใจ สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรมุ่งที่จะโกรธกัน แต่ควรช่วยกันทำให้สังคมไทยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

 

อย่าปล่อยให้กรอบสังคมตีกรอบให้เราไม่เท่าเทียม 

สังคมไทยแต่เดิมนั้นมักมีกรอบทางสังคมที่เป็นแบบแผน (Stereotype) เช่น แบ่งขาว-ดำ ชาย-หญิง เอาไว้อย่างชัดเจน เรามีข้อกำหนด ทัศนคติ ที่ค่อนข้างเหมารวม รวมถึงคาดหวังให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามแบบแผน ซึ่งปัจจุบันผู้คนจำนวนมากต่างเริ่มตระหนักกันแล้วว่า อันที่จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์เรามีความแตกต่างหลากหลายมากกว่านั้น เราจะเห็นได้ว่าบางคนในสมัยนี้ไม่คิดที่จะจำกัดการแต่งกายของตัวเองอีกต่อไป เช่น ผู้ชายต้องแต่งตัวแบบนั้นหรือแบบนี้เท่านั้น เพราะเสื้อผ้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเพศ ซึ่งสำหรับคนที่เป็น Intersex ซึ่งมีอวัยวะสืบพันธุ์สองเพศและไม่ค่อยที่จะเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยนัก ควรจะแต่งตัวแบบไหน ควรจะเข้าห้องน้ำเพศไหน ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เสื้อผ้า สิ่งของ สถานที่ และสีสันต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่มีเพศ ทำอย่างไรเราจึงจะเปิดกว้างและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมถึงมอบสิทธิที่เท่าเทียมให้กับทุกคนได้ 

 

อุปสรรคสำคัญคือเรื่องของกฎหมาย ซึ่งกรอบทางสังคมที่หยั่งรากลึกมานับแต่อดีตยังส่งผลต่อสิทธิความไม่เท่าเทียมของชาว LGBTQ+ ในหลายๆ ด้าน แต่ปัจจุบันก็มีความก้าวหน้าในเรื่องของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งช่วยให้คู่ชีวิตที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิง ได้มีสิทธิหลายๆ อย่างร่วมกันได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างอนาคต มีทรัพย์สินร่วมกัน จากแต่ก่อนที่การกู้ร่วมเป็นไปได้อย่างยากลำบากสำหรับชาว LGBTQ+ แสนสิริในฐานะแบรนด์ที่ยืนหยัดสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียม ก็ได้มีการรณรงค์โดยเดินเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับแหล่งเงินกู้อย่างธนาคารหลายแห่งไปเมื่อปีที่ผ่านมา 

 

หนึ่งในสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ช่วยให้การกู้ร่วมของชาว LGBTQ+ ทำได้ง่ายขึ้น แต่น่าเสียดายที่ยังมีบางแห่งซึ่งแบบแผนทางเพศยังคงตีกรอบฝังรากลึกในความคิด ความเชื่อ เช่นเดียวกับในโลกของการทำงานอย่างการสมัครงานส่วนใหญ่ก็ยังคงมีให้เลือกระบุเพียงว่า ‘นาย’ หรือ ‘นางสาว’ คือมีแค่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น (แต่บางองค์กรสมัยใหม่ที่เปิดกว้างก็มีให้ระบุเพิ่มว่าเป็น ‘อื่นๆ’ หรือให้ระบุมาเลยมาเป็นอะไร ซึ่งแม้จะดูแล้วเส้นทางสู่ความเท่าเทียมในเรื่องนี้จะยังคงอยู่อีกยาวไกล แต่เราก็ควรที่จะโฟกัสในแง่มุมที่เป็นบวกมากกว่าว่าเราเดินทางเปลี่ยนแปลงพัฒนามากันได้ไกลถึงขนาดนี้แล้วเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน 

 

การยอมรับเริ่มต้นได้จากครอบครัว 

การยอมรับถือเป็นสิ่งสำคัญ บางครอบครัวที่เป็น Given Family หรือครอบครัวผู้ให้กำเนิดมานั้นอาจจะยอมรับในสิ่งที่คนคนนั้นเป็นไม่ได้ จึงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าทำอย่างไรครอบครัวจึงจะสามารถยอมรับได้ ซึ่งในท้ายที่สุดหากยอมรับกันไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะทำให้คนคนนั้นต้องเลือกที่จะอยู่กับ Chosen Family หรือครอบครัวที่ตัวเองสร้างขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัยที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกับคู่ชีวิต เพื่อน หรือบุตรที่รับอุปการะมา 

 

อย่างเขื่อนเองโชคดีที่ครอบครัวผู้ให้กำเนิดตัวเองนั้นยอมรับในตัวตนที่เป็นได้อย่างเต็มร้อย แต่ในฐานะที่เป็นนักจิตบำบัด เขื่อนก็เคยต้องให้คำปรึกษากับ LGBTQ+ อีกหลายๆ คนที่ไม่ได้โชคดีเหมือนอย่างตัวเอง บางคนถึงขนาดครอบครัวตัดขาด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยกับ Chosen Family ที่ยอมรับและรักในตัวตนที่เป็นจริงๆ ได้

 

ด้านของคุณเศรษฐา ในฐานะที่เป็นพ่อคนหนึ่งที่เปิดกว้าง เห็นว่าการที่ลูกจะมี Sexual Preference ของตัวเองอย่างไร จะแต่งตัวอย่างไร หรือเลือกคู่ชีวิตเป็นคนเพศไหน ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอให้ลูกเป็นคนดีของสังคม ไม่ไปเบียดเบียนใคร ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยอมรับ ซึ่งการที่ลูกจะเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้นควรที่จะเป็น Core Value มากกว่าว่าลูกจะรักชอบเพศไหน เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็คือคนคนหนึ่งเท่านั้น 

 

“เราไม่จำเป็นต้องเอาป้ายไปปักว่าเขาเป็นชายหรือหญิง หรือ LGBTQ+ ด้วยซ้ำ เรามองเห็นเขาเป็นลูกเรา เหมือนกับที่เขาเห็นเราเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะอย่าลืมมองกลับไปว่าถ้ามีลูกเป็น LGBTQ+ ก็ต้องมีพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ+ ด้วยเหมือนกัน”

 

ถ้าการยอมรับและความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศเริ่มต้นขึ้นได้ในทุกๆ ครอบครัวได้เช่นนี้ ความเท่าเทียมทางเพศก็ย่อมขยายวงกว้างไปสู่ระดับสังคมได้อย่างแน่นอน

 

 

“ผมเชื่อว่าสังคมที่เปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง

เศรษฐกิจย่อมจะดีกว่าประเทศหรือสังคมที่กีดกัน

เพราะคนเก่งนั้นไม่จำกัดอยู่ที่เพศไหน คนเก่งทุกคนทำหน้าที่ต่างๆ ได้หมด

ไม่จำเป็นว่าต้องมีรสนิยมทางเพศแบบไหน

เศรษฐา ทวีสิน

ซีอีโอแสนสิริ

 

หากวันหนึ่งสังคมเกิดความเท่าเทียม 

ในประเด็นสำคัญที่ตั้งคำถามว่า ‘เท่าไหน ที่เท่ากัน’ นั้น คนบางคนอาจจะคิดว่าสมัยนี้ก็เปิดกว้างกันมากกว่าสมัยก่อนแล้ว คนที่เป็น LGBTQ+ จะเรียกร้องอะไรกันอีก แต่อย่าลืมว่าที่บอกว่าดีขึ้นแล้วนั้น ‘ดีพอ’ จริงๆ แล้วหรือยัง เหมือนอย่างที่เขื่อนย้ำว่า 

 

“บางคนบอกว่า LGBTQ+ เรียกร้องสิทธิกันอีกแล้ว จะเอาอะไรอีก แต่นั่นคือคุณคิดจากฐานคิดที่ตัวเองเกิดมามี Privilege พร้อมอยู่แล้ว คุณไม่ได้ต้องบำบัดหรือโดนรังแกมาทั้งชีวิต คุณมีสิทธิอยู่แล้วกับตัว แต่คนเหล่านี้ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา” 

 

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว LGBTQ+ ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความเท่าเทียมกันจริงๆ ในฐานะมนุษย์ และหากจินตนาการถึงวันหนึ่งที่สังคมไทยเกิดความเท่าเทียม เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้จริงๆ แล้วล่ะก็ เชื่อแน่ว่าย่อมจะเกิดผลดีขึ้นอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความสุขของผู้คนในครอบครัว สังคม หรือเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยกตัวอย่างเศรษฐกิจของประเทศไต้หวันและในหลายๆ ประเทศที่มีตัวเลขสูงขึ้นหลังจากที่มีการยอมรับการสมรสของเพศเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำการตลาดกับกลุ่ม LGBTQ+ และในด้านของการทำงานนั้น หากเลือกใช้บุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มความสามารถ โดยไม่มีการมาแบ่งแยกกีดกันว่าใครเป็นชาย หญิง หรือเป็น LGBTQ+ ไม่มีใครต้องหวาดกลัวที่จะแสดงออกว่าเป็นเพศไหน แม้แต่การสร้างสรรค์ผลงานก็เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่มีคนกลุ่มไหนถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือถูกกีดกันเพียงเพราะไม่ใช่เพศชายจริงหรือหญิงแท้ เช่นเดียวกับการดำเนินงานของแสนสิริที่ทุกวันนี้วัดผลกันด้วยความสามารถเป็นหลัก รวมทั้งจากการตอบสนองต่อเสาหลักหรือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ถือหุ้น สังคม หรือเพื่อนพนักงาน ความเปิดกว้างเช่นนี้เองซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปได้ไกลอย่างยั่งยืน

 

ท้ายที่สุด เท่าไหนกันแน่ที่เท่ากัน?

 

 

แม้ในท้ายที่สุดจะเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสามารถตอบได้ว่าเท่าไหนกันแน่ที่เท่ากัน หรือเท่าไรกันแน่ที่เรียกว่าความสำเร็จ โดยไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือเรื่องอื่นใด เพราะนั่นอาจย่อมแตกต่างกันไปตามความคิดของแต่ละคน บางคนอาจมองว่าจุดที่เท่าเทียมนั้นขึ้นอยู่กับความสุขที่ได้รับ หรือสำหรับบางคนอาจเป็นการที่เขาได้รับโอกาสในหน้าที่การงานหรือสิทธิทางกฎหมายไม่แตกต่างจากคนอื่น แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน 

 

ดังนั้นการริเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัยและ ‘สังคมแห่งการพูดคุย’ ที่ทั้งเอม เขื่อน คุณเศรษฐา และเราทุกคนสามารถพูดคุยถึงประเด็นอันเปราะบางเช่นนี้ได้อย่างเปิดเผย ก็นับได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการร่วมผลักดันให้สังคมไทยพัฒนาไปได้ไกล ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่ง ไม่ว่าใคร เพศไหน ก็สามารถใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกจากใจและความจริงที่ว่า ‘เราเท่ากัน’ พร้อมได้รับการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

 

นับเป็นคอนเทนต์ดีๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์ความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และจุดประกายให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมกัน ซึ่งเราอยากแนะนำให้ทุกคนได้ฟังกันจริงๆ และสำหรับคนที่สนใจติดตาม SIRI Podcast ‘คุยนอกทวีต’ สามารถรับฟังได้จากทุกช่องทางดังต่อไปนี้ 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising