×

ฟังเสียง ‘ความเท่าเทียม’ ที่ดังกึกก้องจากงานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ ในนิทรรศการ ‘Pride Month: Pride of All Genders’ โดย ‘มูลนิธิเอสซีจี’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
10.06.2022
  • LOADING...
Pride Month: Pride of All Genders

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลซึ่งมีพันธกิจเรื่องความเชื่อมั่นในคุณค่าของคน ร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ+ จัดนิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders ชวน 5 ศิลปินคนรุ่นใหม่ร่วมจัดแสดงงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม  
  • คุยกับ บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ และ เอ้-นารีญา คงโนนนอก สองตัวแทนศิลปินที่ได้ร่วมแสดงผลงานศิลปะถึงเบื้องลึก ความหลัง ความหวัง และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน
  • นิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders จัดแสดงที่ New Gen Space Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันนี้ – 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00-19.00 น. (หยุดวันจันทร์)

ตั้งแต่วันนี้ – 3 กรกฎาคม 2565 ภายในพื้นที่ห้อง New Gen Space Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะถูกแต่งแต้มด้วย ‘สีรุ้ง’ สีที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองความต่าง ความเท่าเทียม ความฝัน ความหวัง และการเดินทางค้นหา ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานนิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders ที่มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลซึ่งมีพันธกิจเรื่องความเชื่อมั่นในคุณค่าของคนจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ+ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม  

 

 

นอกจากคุณจะได้ค้นลึกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ Pride Month วิวัฒนาการของการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ความหมายของ LGBTQ+ และธงสีรุ้ง ไปจนถึงสารที่ 5 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร, นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์, นักรบ มูลมานัส, ภาราดา ภัทรกุลปรีดา และ นารีญา คงโนนนอก ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงเสน่ห์ของความหลากหลายผ่านงานศิลปะในรูปแบบที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง เชื่อเหลือเกินว่าคุณจะได้รับพลังบวกที่ทำให้เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น 

 

เพราะนี่คือสารที่ศิลปินทุกคนสอดแทรกเข้าไปในงานศิลปะครั้งนี้ สารที่มุ่งหวังจะขับเคลื่อนให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกล้าส่งเสียงให้ดังกึกก้อง และยังเป็นสารเดียวกับที่มูลนิธิเอสซีจีสื่อถึงคนไทยมาตลอดหลายปี ให้หยัดยืนอย่างภาคภูมิในฐานะมนุษย์ปุถุชนอันพร้อมด้วยศักดิ์ศรีและสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคนเก่งที่มีความสามารถหลากหลาย และเป็นคนดีที่มีจริยธรรมและคุณธรรมในจิตใจ  

 

 

THE STANDRAD มีโอกาสพูดคุยถึงเบื้องลึก ความหลัง ความหวัง และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะของ บอล นรภัทร และ เอ้ นารีญา สองศิลปินที่ได้ร่วมจัดแสดงงานในครั้งนี้

 

บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปิน LGBTQ+ ในฐานะศิลปินรุ่นพี่ที่บอกเล่าความนัยผ่านงานศิลปะมากว่า 10 ปี และยังเป็นเจ้าของรางวัลดีเด่น สาขาภาพถ่าย จากโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดยมูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2559 ในชุด ‘Perfect Flower’ หรือ ‘ดอกสมบูรณ์เพศ’

 

บอกเล่าถึงเหตุผลที่เลือกใช้งานศิลปะเป็นตัวกลางสื่อสารเรื่องเพศสภาพว่า “กว่าผมจะกล้าออกมาแสดงจุดยืนก็เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อก่อนเวลาใครถามว่าเป็นหรือเปล่าจะตอบว่าไม่เป็น เพราะกลัวว่าถ้าบอกคนจะรับไม่ได้ จึงเลือกปกปิดมันมาตลอด จนวันหนึ่งรู้สึกไม่ไหวแล้ว อยากเป็นตัวเองสักที แต่ก็ยังไม่กล้าพูดนะ เลยเลือกพูดผ่านงานศิลปะ งานช่วงแรกยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะสื่อสาร แต่ศิลปะทำให้ผมเข้มแข็ง จนกล้ายอมรับ และกล้าที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือสื่อสารตัวตนของผม”  

 

บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปิน LGBTQ+

 

บอลเล่าถึงกระบวนการสร้างสรรค์งาน เขาจะเลือกความทรงจำที่มีผลกระทบต่อจิตใจ แล้วค่อยคิดต่อว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรเพื่อเยียวยาเรื่องราวในอดีต

 

“อย่างภาพถ่ายชุด ‘Perfect Flower’ มันเกิดจากคำถามที่ผมค้างคาใจมาตลอดว่าทำไมมนุษย์ต้องคอยตั้งคำถามกับคนอื่นว่าพวกเขาเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ หรือเป็นอะไร? ทำไมถึงมีคำถามเรื่องเพศสภาพ คำถามเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพื่ออะไร? ผมเคยบอกพี่ที่ทำงาน แต่สุดท้ายก็ถูกเอาไปพูดลับหลังเหมือนเป็นเรื่องตลก ยิ่งทำให้ผมไม่กล้าที่จะพูดตรงๆ เป็นที่มาของการชวนเพื่อนสนิทให้มาเป็นแบบถ่ายภาพ แทนสัญลักษณ์ของความเชื่อใจ เข้าใจ และยอมรับในตัวตนของเราอย่างไม่มีข้อแม้ ส่วนดอกชบามันคือตัวแทนของผมเอง เพราะมันเป็นดอกไม้ที่มีเกสรเพศผู้และเพศเมียในดอกเดียว สื่อถึงความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจน เมื่อคุณมองดอกชบาเป็นแค่ดอกไม้ ไม่กะเกณฑ์ว่ามันเป็นเพศไหน แล้วทำไมถึงตั้งคำถามกับคนที่เป็นคนเหมือนกัน”

 

เช่นเดียวกับศิลปะจัดวางชุด ‘Hydrilla’ ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders บอลเล่าว่า มันคือภาคต่อของดอกชบา แต่ขยายขอบเขตความหลากหลายของผู้คนกว้างขึ้นจึงเลือก ‘สาหร่ายหางกระรอก’ จากทุกภูมิภาคในประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เป็นตัวแทนของผู้คนที่หลากหลาย มีถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค เหมือนเป็นการจำลองแผนที่ประเทศไทยผ่านตู้แสดงสาหร่ายหางกระรอก

 

“สาหร่ายหางกระรอกเป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมีย เกิดในต้นเดียวกัน และยังสามารถมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกต้นกันได้ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาโดยมีความหลากหลายแบบที่ธรรมชาติสรรสร้าง คือตัวแทนของความหลากหลายของมนุษย์ที่เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเป็นเพศอะไร มันคือสิ่งที่เหนือธรรมชาติควบคุม จะเห็นได้ว่าตู้ตรงกลางเป็นตู้ที่รวมหลายภูมิภาคไว้ด้วยกัน ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่า คุณจะมาจากพื้นที่ไหน ภูมิภาคไหน เติบโตมาอย่างไร ในสภาพน้ำแบบไหน คุณก็อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ เพราะสุดท้ายมันคือสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน”  

 

 

บอลอธิบายต่อว่า งานศิลปะคือจุดเริ่มต้นที่ดีในฐานะเครื่องมือสื่อสารและทลายกำแพงความต่างให้หมดไป “สิ่งเดียวที่ผมคาดหวังทุกครั้งที่จัดแสดงงานคือ อยากให้งานของผมส่งสารไปถึงคนที่ยังไม่กล้าเป็นตัวเองว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยวนะ คุณยังมีพวกเราอยู่ มีคนมากมายที่พร้อมสู้ไปด้วยกัน และหวังให้คนรุ่นหลังเติบโตมาโดยไม่เจอปัญหาแบบที่คนรุ่นเราเจอ ไม่ต้องเจอคำถามเรื่องเพศสภาพ ไม่โดนล้อเรื่องเพศสภาพ ถ้าคำถามเหล่านี้หมดไป ผมว่าทุกคนจะมีอิสระในการเป็นตัวเองมากขึ้น

 

“ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะส่งไปไม่ถึงหากขาดพื้นที่และโอกาสให้ศิลปินอย่างพวกเราได้แสดงงาน ต้องขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสและสนับสนุนผมมาโดยตลอด อย่างที่รู้ว่าปัญหาของศิลปินคือเรื่องงบประมาณในการจัดแสดงงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ การมีองค์กรอย่างมูลนิธิเอสซีจีคอยสนับสนุนมันสร้างกำลังใจให้กับศิลปิน และทำให้คนมากมายเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม เพราะทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน อยู่ที่คุณว่าจะเปลี่ยนแปลงมันหรือเปล่า” บอลกล่าวทิ้งท้าย 

 

เอ้-นารีญา คงโนนนอก ศิลปินเลือดใหม่ผู้ใช้งานประติมากรรมบอกเล่าคุณค่าในตัวมนุษย์

 

แต่สำหรับ เอ้-นารีญา คงโนนนอก ศิลปินสาวเลือดใหม่ เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 3 มิติ โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดย มูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2562 เลือกถ่ายทอดคุณค่าของคนทุกเพศลงบนงานประติมากรรมในรูปแบบ Semi-Abstract เธอบอกว่า งานประติมากรรมทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองรอบด้าน “เป็นความชอบและความถนัดด้วยค่ะ เอ้ชอบเวลาที่เห็นคนเดินมองงานของเราหลากหลายมุม น่าจะทำให้เขาเห็นแง่มุมที่ต่างไป ขนาดมุมเดียวกันต่างคนมองยังเห็นไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับตัวเอ้เองที่ไม่ได้มีมุมเดียว และไม่อยากให้ใครตัดสินเราเพียงแค่มิติเดียว” 

 

สิ่งเดียวที่เธอต้องการคือ “อยากให้คนดูงานเราแล้วมีความสุข สบายใจ ผ่อนคลาย มีความสุขกับการมองงานศิลปะของเรา เพราะทุกครั้งที่เอ้ทำงานจะเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ส่วนตัวเป็นคนขี้เล่น ชอบความสนุกสนาน ชอบความพลิ้วไหวที่ให้ความรู้สึกลื่นไหลตลอดเวลา ไม่ชอบอะไรที่หยุดนิ่ง พอเรารู้สึกสนุกตั้งแต่กระบวนการสร้างงาน ก็น่าจะสะท้อนออกมาเป็นงานที่สนุกจนคนดูสัมผัสได้” 

 

 

น่าจะเป็นเหตุผลที่เธอตั้งชื่อผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders ครั้งนี้ว่า ‘รื่นเริง’ งานประติมากรรมโลหะสีทองในรูปแบบ Semi-Abstract เป็นการตัดทอนจากรูปทรงคนที่กำลังจับมือล้อมวงเต้นระบำกันอย่างสนุกสนาน สะท้อนแนวคิดที่ต้องการนำเสนอความแตกต่างของแต่ละเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเพศทางเลือก ทุกเพศ ทุกคน ล้วนแต่มีมนตร์เสน่ห์ที่ต่างกันในตัวเอง และเมื่อมาอยู่รวมกันจึงเกิดเป็นสีสันแห่งความแตกต่าง ทำให้เกิดความงดงามทางสังคมและจิตใจได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์แบบ 

 

“จริงๆ แล้วงานชิ้นนี้เหมือนเป็นภาคต่อจากผลงาน ‘ระบำใจ’ ที่ได้รางวัล เพราะมันมาจากแรงบันดาลใจเดียวกัน นั่นคือความอบอุ่นของครอบครัว ความเข้าใจและความอบอุ่นที่ครอบครัวเรามีให้แก่กัน จำได้ว่าวันที่พี่ชายใส่ชุดหางเครื่องติดขนนกวิ่งออกมายืนกลางวงข้าวแล้วตะโกนบอกแม่ว่า “แม่หนูเป็น” ทุกคนหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน มันเป็นเสียงหัวเราะที่บอกว่าเรายอมรับในความแตกต่าง ไม่ว่าคนในครอบครัวเราจะเป็นเพศไหนเราก็ยังเป็นครอบครัวเดียวกัน” 

 

เธอเล่าด้วยความภูมิใจที่พี่ชายเป็นเพศทางเลือก และรอบตัวก็ยังรายล้อมไปด้วยเพศทางเลือกเช่นกัน “เราเห็นความสนุกสนานและเสน่ห์เวลาอยู่กับคนกลุ่มนี้ สำหรับเอ้คือความสวยงาม เวลาอยู่รวมกันมันเกิดเป็นสีสันที่สนุกมากๆ แค่เราอยู่ตรงนั้นมันก็มีความสุข กลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ เราอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงความพิเศษที่เรามองเห็น 

 

เอ้เล่ายังบอกถึงเหตุผลที่เลือกใช้สีทองในงานศิลปะทุกชิ้น เพราะสีทองคือสิ่งที่สะท้อนคำว่า ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ได้ดีที่สุด “นอกจากความอิ่มเอมใจ ความสนุกสนาน ที่อยากให้คนมาดูได้งานครั้งนี้ได้กลับไป สิ่งสำคัญคือ อยากให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่าด้อยค่าตัวเอง เอ้มีเพื่อนที่เขาเป็นเพศทางเลือกแต่เขาไม่กล้าบอกคนอื่น เพราะกลัวโดนล้อ โดนแกล้ง กลัวถูกมองว่าไม่ปกติ เอ้อยากพาเขาไปหาพี่ชาย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองจับขนนกที่พี่ชายเอ้จับเผื่อเขาจะมีความกล้าเหมือนพี่เอ้ (หัวเราะ) คือจริงๆ อยากให้เขารู้ว่า คุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นเพศไหน การกระทำของคุณต่างหาก จำไว้เสมอว่าพวกคุณคือสิ่งสวยงาม เราทุกคนสวยงามในแบบของเรา

 

“ต้องขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสและให้พื้นที่ในการแสดงงานศิลปะ ได้เปิดมุมมองใหม่ ทำให้เรากล้าแสดงออก เอ้เคยเป็นคนที่กลัวการประกวด แต่พอเราได้รับรางวัล ทำให้เรามีความกล้า และได้เห็นว่าโลกภายนอกยังมีอะไรให้เราค้นหาอีกเยอะ มันมีคุณค่ามากๆ ไม่แต่เฉพาะกับตัวเอ้ แต่มันยังเป็นพื้นที่ให้คนที่เขากำลังไม่มั่นใจ กลัว หรือกังวลว่าเขาจะไม่ได้รับการยอมรับ นิทรรศการครั้งนี้กำลังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ขอให้รับรู้ว่ามีคนอีกมากที่เข้าใจและเปิดกว้าง เอ้อยากให้เราภูมิใจในความแตกต่าง เพราะมันคือสิ่งพิเศษที่ทำให้โลกมีสีสัน”  

 

 

ยังมีเวลาอีกหลายสัปดาห์ให้คุณก้าวออกมาค้นหาคุณค่าและความพิเศษในตัวคุณผ่านผลงานศิลปะของศิลปินคนรุ่นใหม่ในนิทรรศการ Pride Month: Pride of All Genders เพราะไม่เพียงแต่จะได้พลังจากสารที่สื่อผ่านงานศิลปะ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น กิจกรรม Pride Wall ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานศิลปะ เพียงถ่ายรูปในงานแล้วส่งภาพให้ทีมงานพรินต์เป็นภาพโพลารอยด์เพื่อเขียนข้อความส่งต่อกำลังใจเพื่อแสดงพลังสนับสนุน LGBTQ+ หรือโซน Pride Floor เวทีแห่งโอกาสที่เปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ จะร้อง เล่น เต้น พูด ได้อย่างอิสระ

 



ในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ และทุกวันเสาร์ ร่วมกิจกรรมเสวนาแบบ Hybrid Event พบกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จหลากอาชีพ หมุนเวียนมาแลกเปลี่ยนมุมมอง จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ อย่าง ลอเรน ม้าม่วง YouTuber และ TikToker ชื่อดัง, แบง-ปฏิธาร บำรุงสุข เจ้าหญิงแห่งวงการเผาศพ รวมถึง ภูวดล เนาว์โสภา, มอส ภาณุวัฒน์ และ แบงค์ มณฑป ผู้กำกับและนักแสดงจากซีรีย์วายเรื่อง มังกรกินใหญ่ และ ครูกอล์ฟ พิทักษ์ หังสาจะระ นักจัดดอกไม้ ครูผู้ปั้นเด็กไทยไปไกลถึงเวทีโลก

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: Young Thai Artist Award

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X