โบรกฯ ส่องหุ้น 2 ยักษ์ค้าปลีกไทย ประเมินงบ Q1/63 มอง BJC กำไรทรงตัว โควิด-19 กระทบภาพรวมมาถึง Q2 แต่มีจุดแกร่งเพราะเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง ฟาก CPALL คาดกำไรวูบ 3% แต่ให้จับตา จะได้ TESCO มาเสริมแกร่งในอนาคต
บล.หยวนต้า เปิดเผยถึงแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ของ 2 บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยอย่างบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC
โดยคาดการเติบโตของยอดขายที่สาขาเดิม (SSSG) ของ CPALL จะติดลบราว 2-3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ BJC ติดลบราว 5%YoY รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่นักท่องเที่ยวเริ่มลดลงตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มรุนแรง จนถึงการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม
ทั้งนี้มีเพียง MAKRO ที่เห็นการเติบโตของ SSSG เราคาด +5%YoY สวนทางจากกลุ่มค้าปลีกโดยรวมที่ติดลบ 5-9%YoY เนื่องจากผลของการล็อกดาวน์ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมที่ไม่เดินทางและอยู่บ้าน ขณะเดียวกับราคาสินค้าอาหารสด หมูและไก่ยังอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะสาขา Makro Food Service ที่ได้รับความนิยมในช่วงต้นของการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้เกิด Panic Buying
มองว่าผลของการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายนทั้งเดือน และอาจมีความต่อเนื่องไปยังช่วงต้นถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะส่งผลต่อยอดขายที่ชะงักไปในช่วงเวลาดังกล่าว โดยผลกระทบยังคงเกิดขึ้นในสินค้าที่ไม่อยู่ในหมวดเพื่อการดำรงชีพที่ยังขายสินค้าไม่ได้ ประกอบกับแรงซื้อในระดับกลางถึงล่างที่อาจชะลอตัวตามกำลังซื้อที่จำกัด โดยเราคาด SSSG ของ Q2/63 ยังเห็นตัวเลขที่ติดลบต่อเนื่อง ขณะที่คาดผลจากมาตรการเยียวยาและการปลดล็อกจะให้ผลตอบรับต่อแรงซื้อที่ดีขึ้นในช่วง 2H63
สำหรับผลประกอบการ Q1/63 ของทั้ง CPALL และ BJC มีผลกระทบทางตรงจากยอดขายที่ลดลงตามทิศทางเดียวกับ SSSG โดยเราคาด CPALL จะมีกำไรปกติที่ 5.5 พันล้านบาท (-3%YoY, -8% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)) ได้ผู้ช่วยที่ดีจากผลประกอบการ MAKRO ช่วยหนุน
ส่วน BJC คาดมีกำไรปกติราว 1.4 พันล้านบาท (-1%YoY, -40%QoQ) โดยรวมของกำไรในกลุ่มผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ จะเห็นการอ่อนตัวของกำไรปกติน้อยกว่า 5%YoY ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มค้าปลีกในการจำหน่ายสินค้าอื่นที่เราประมาณการจะเห็นการปรับลดของกำไรปกติมากกว่า 10%YoY
ประเมิน BJC และ CPALL มีผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่ม จากการมีธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งจะเห็นการลดลงของ SSSG ทั้ง Q1/63 และ Q2/63 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ขณะที่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กำลังซื้อเริ่มกลับมา จะเห็นการฟื้นตัวของยอดขายในช่วง 2H63 แนะนำ ทยอยสะสม CPALL ราคาเหมาะสมที่ 81 บาท และ BJC ราคาเหมาะสมที่ 50 บาท
หุ้น | ราคาเป้าหมาย | อัพไซด์ | กำไร (ล้านบาท) | เติบโต | PE | ปันผล | |||
(บาท) | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2563 | ||
BJC | 50 | 20.50% | 7,260 | 7,566 | 8.70% | 3.80% | 23.4 | 22.3 | 2.30% |
CPALL | 81 | 17.80% | 22,343 | 23,275 | 6.80% | 4.20% | 27.4 | 26.5 | 1.90% |
BJC คาดกำไรทรงตัว
คาด BJC จะมีกำไรปกติราว 1.4 พันล้านบาท (-40%QoQ, -1%YoY) ทรงตัวรายปีด้วยผลกระทบจากรายได้ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท (-7%QoQ, -2%YoY) ซึ่งเกิดจากแรงซื้อที่อ่อนแรงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จากผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ปรับลดจากรายไตรมาสเนื่องจาก Q4/62 มีอัตราการเสียภาษีที่น้อยกว่า และมาร์จิ้นที่ทำได้ดีกว่าแต่ทรงตัว เมื่อเทียบกับปีที่ 19.2% โดยธุรกิจที่เห็นการเติบโตยังคงเป็นธุรกิจอุปโภคบริโภค
แม้ว่า BIGC ในส่วนของร้านสะดวกซื้อที่สามารถเปิดจำหน่ายสินค้าได้ ภายใต้ Mini Big C และ Big C Market อย่างไรก็ดี ส่วนของสินค้าที่ไม่เกี่ยวเนื่องเพื่อยังชีพในไฮเปอร์มาร์เก็ตของแต่ละสาขาไม่สามารถเปิดขายได้ตามปกติ คาด SSSG ใน Q1/63 ยังเป็นตัวเลขที่ติดลบราว 5%YoY ต่อเนื่องจาก Q4/62 ผลกระทบจากแรงซื้อที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง ซึ่ง BIGC มี 3 สาขาที่มีผลกระทบ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวราว 50% เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน (สาขาราชดำริ พัทยา และภูเก็ต) ซึ่งจะมีผลต่อรายได้
มองผลกระทบจากโควิด-19 จะมีผลต่อยอดขายที่ลดลงจากสินค้าที่ไม่อยู่ในกรอบของการขาย (สินค้าเพื่อการยังชีพ) และต่อเนื่องไปยัง Q2/63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเดือนเมษายน
อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่มีความต่อเนื่องจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค จากกระดาษชำระ, สบู่, ขนมขบเคี้ยว รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ป้องกัน เช่น เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ยังมีส่วนช่วยพยุงรายได้ใน Q2/63 รวมถึงการมีร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น Mini Big C และ Big C Market ยังคงช่วยรักษาระดับรายได้ของธุรกิจค้าปลีกไว้ได้ โดย BJC มีแผนขยายสาขาและช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่ม CLMV ซึ่งยังคงสร้างโอกาสการเติบโตที่ดีในระยะกลาง-ยาว ราคาเหมาะสมปี 2563 ที่ 50 บาท (DCF)
CPALL งบโค้งแรกหาย 3% จับตา TESCO มาเสริมแกร่งในอนาคต
คาดผลประกอบการ Q1/63 มีกำไรปกติ 5.5 พันล้านบาท (-3%YoY, -8%QoQ) ผลกระทบเชิงลบจากแรงซื้อที่ชะลอตัวลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จากฐานสูงในปีก่อนเนื่องจากวันตรุษจีน และยอดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเริ่มลดลง รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศจากความกังวลโรคระบาดโควิด-19
ขณะที่แรงซื้อมีแรงพยุงจากมาตรการภาครัฐในการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม และจำกัดสินค้าขายเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพ โดยมีรายได้รวม 1.3 แสนล้านบาท (+3%YoY, -3%QoQ) โดยมีแรงหนุนจาก MAKRO จากสินค้าที่ขายเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ขายราคาส่ง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
SSSG ใน Q1/63 จะติดลบราว 2-3%YoY แม้ว่าจะได้ประโยชน์จากธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ (7-Eleven) ซึ่งสามารถเปิดดำเนินการขายได้ในช่วงเวลาล็อกดาวน์ และมี Panic Buying อย่างไรก็ดี ผลสะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนถึงการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี การลดลงของ SSSG ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ลดลงราว 5-9%YoY
ขณะที่ MAKRO จะเป็นผู้ประกอบการที่มี SSSG สวนทางจากกลุ่มที่เป็นบวกราว 5%YoY ซึ่งได้ประโยชน์จากยอดขายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสาขา Food Service ที่ได้รับความนิยม รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าสดในการปรุงอาหารเองจากมาตรการภาครัฐ ขณะที่มีผลกระทบโดยตรงเฉพาะกลุ่ม Horeca ที่งดกิจกรรมตามนโยบายภาครัฐ
มอง CPALL เป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ ซึ่งรับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มจากการล็อกดาวน์ ขณะที่ธุรกิจของ MAKRO กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงยังคงเห็นยอดขายที่มีความต่อเนื่อง คาดเห็นยอดขายและผลประกอบการทำได้ดีกว่ากลุ่ม
ขณะที่ในปี 2564 จะเห็นความคืบหน้าของการเข้าลงทุนใน Tesco Lotus ในการเสริมศักยภาพของจากอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ ซึ่งได้ประโยชน์ในระยะยาว ราคาเหมาะสมปี 2563 ที่ 81 บาท (DCF)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com