×

จับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีกับทางเลือกอนาคตของฟิลิปปินส์

03.05.2022
  • LOADING...
ฟิลิปปินส์

อีกเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศฟิลิปปินส์ก็จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2022 โดยในวันนั้นจะมีการเลือกตั้งทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นรวมกันมากกว่า 18,000 ตำแหน่ง แต่สิ่งที่ทุกคนจับตามองคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งในฟิลิปปินส์จะเป็นการแยกกันเลือก โดยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอาจจะมาจากพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัครอิสระ ที่บางครั้งก็อาจจะจับมือกันหาเสียงสร้างทีมเดียวกัน หรือบางคราวฟิลิปปินส์ก็ได้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่มาจากคนละขั้วการเมืองกัน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยตัวเก็งผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 10 ราย และรองประธานาธิบดี 9 ราย จับคู่กันออกมาได้เป็น 4 ทีมที่น่าสนใจดังนี้

 

  1. BBMSara UniTeam 2022 ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างวุฒิสมาชิก เฟอร์ดินานด์ ‘บองบอง’ มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำเผด็จการทรราชคอร์รัปชันระหว่างปี 1965-1986 ของประเทศฟิลิปปินส์ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายใต้พรรค Federal Party of the Philippines (PFP) จับคู่กับ ซาราห์ ดูเตร์เต ลูกสาวของ โรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดยปัจจุบันซาราห์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี (Mayor) เมืองดาเวา และเธอจะลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีภายใต้พรรค Lakas ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอุดมการณ์อนุรักษนิยมสายกลาง (ขวา-กลาง) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาธิปไตยคาทอลิกและประชาธิปไตยมุสลิม แต่ซาราห์เองก็ลงสมัครในนามพรรคการเมืองที่เป็นคนละพรรคคุณพ่อ ซึ่งสังกัดพรรค PDP-Laban ซึ่งมีอุดมการณ์ค่อนมาทางสังคมนิยมประชาธิปไตย และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยจากการสำรวจคะแนนนิยมล่าสุด (ณ วันที่ 30 เมษายน 2022) ทีม BBMSara มีคะแนนนำสูงถึง 52.9-64% (ผู้เขียนรวบรวมจากหลายโพล) ซึ่งข้อน่าสังเกตคือ โพลส่วนใหญ่จะเป็นการสำรวจคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในระดับรายได้ระดับล่างจนมาถึงระดับกลาง-ล่าง ซึ่งกลุ่มนี้จะนิยมชมชอบในความเป็นเซเลบริตี้ของทั้ง 2 คน มากกว่าที่จะสนใจประวัติที่ด่างพร้อยของตระกูลมาร์กอส เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุไม่สูงมากนัก ไม่ทันจำความได้ในวันที่อดีตประธานาธิบดีมาร์กอสร่วมกับลูกชาย บองบอง ย่ำยีฉ้อฉลประชาชนฟิลิปปินส์

 

  1. ทีมที่ 2 ที่หลายๆ ฝ่ายจับตาคือ Team Leni ซึ่งเกิดขึ้นจากการฟอร์มทีมของ เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ทำงานเคียงคู่กับประธานาธิบดีดูเตร์เต ซึ่งเธอดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2016 และเป็นผู้สมัครหญิงเพียงคนเดียวที่ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเลนีซึ่งลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ จะจับคู่กับวุฒิสมาชิก ฟรานซิส เปกิลินัน จากพรรค Liberal ซี่งมีอุดมการณ์เสรีนิยม และทีมเลนีก็ถือเป็นทีมที่มีคะแนนนิยมมากเป็นอันดับที่ 2 ที่ระดับ 18.5-24.3% แต่ทั้งนี้ก็ต้องพึงระลึกไว้ว่า โพลสำรวจความนิยมจากกลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมายของทีมเลนี เพราะผู้ที่ชื่นชมในตัวของเธอคือกลุ่มรายได้ปานกลางจนถึงรายได้สูง ที่แน่นอนว่ามีความเคร่งครัดในศาสนาคาทอลิกและอิสลาม แต่ก็มีจิตใจที่เปิดกว้างมากกว่ากลุ่มที่เป็นผู้นับถือศาสนาแบบอนุรักษนิยม นั่นทำให้เธอได้รับคะแนนสนับสนุนจากสมาคมศาสนาที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากในประเทศฟิลิปปินส์ โดยสมาชิกของกลุ่มศาสนาเหล่านี้มักเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งยังจดจำประสบการณ์การต่อต้านระบอบมาร์กอสได้เป็นอย่างดี

 

  1. ทีมที่ 3 ทีมของคนรุ่นใหม่ที่มีกิจกรรมในโลกโซเชียล นั่นคือทีมของ ฟรานซิสโก ‘อิสโก’ โดมาโกโซ จากพรรค Aksyon ผู้ว่ากรุงมะนิลาคนปัจจุบัน โดมาโกโซถือเป็นแกนนำกลุ่มหัวก้าวหน้าทางการเมืองในฟิลิปปินส์ ที่เน้นการปฏิรูปต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม (Establishment) โดยเขาจะจับคู่กับ นพ.วิลลี ออง ศัลยแพทย์โรคหัวใจ ที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลจากการทำ Facebook และ YouTube ตอบปัญหาสุขภาพ คะแนนนิยมของทีมอนาคตก้าวใหม่นี้อยู่ที่ 5-11.75%

 

  1. ทีมสุดท้ายคือ ทีม PROMDI (Progressive Movement for the Devolution of Initiatives) ที่สนับสนุนสุดยอดนักชกขวัญใจมหาชน แชมป์โลก 8 สถาบัน ที่เคยได้แชมป์โลกมาแล้วใน 12 ครั้งจากการชก 5 รุ่น นั่นคือ เอ็มมานูเอล ‘แมนนี’ ปาเกียว ซีเนียร์ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดย แมนนี ปาเกียว จะจับคู่กับ ลิโต เอเทียนซา ซึ่งเป็น ส.ส. จากจังหวัดบูเฮย์ ลงชิงตำแหน่ง โดยอุดมการณ์ทางการเมืองของทีมนี้คืออนุรักษนิยม ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรงในเรื่องการต่อต้านและการลิดรอนสิทธิกลุ่มคนที่ยอมรับในความหลากหลายทางเพศวิถี (LGBTQI+) โดยคะแนนนิยมของทีมนี้อยู่ที่ระดับ 2-7% เท่านั้น

 

จากทั้ง 4 ทีมตัวเก็ง โอกาสที่จะพลิกล็อกจากผลสำรวจคะแนนนิยมอาจจะเกิดขึ้นระหว่างทีม BBMSara และทีม Leni เพราะสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2016 ที่ทั้ง บองบอง มาร์กอส และเลนี โรเบรโด ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งคาดการณ์ว่า บองบอง มาร์กอส จะมีโอกาสสูงกว่าในการครองตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า โพลเน้นการสำรวจจากกลุ่มผู้มีรายได้ระดับล่างจนถึงกลาง-ล่าง แต่ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว กลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มวัยกลางคน ซึ่งยังจดจำยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสได้ ก็ออกมาเลือกตั้งเป็นจำนวนมากจนทำให้เลนีพลิกโผชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

 

ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่า กลุ่มวัยกลางคนและผู้มีรายได้สูงจะออกมาใช้สิทธิกันมากน้อยเพียงใด

 

อีกประเด็นที่น่าสังเกตจากการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ก็คือ ทุกกลุ่มการเมืองไม่ได้แข่งขันกันในเรื่องของการทำนโยบายในการบริหารจัดการและพัฒนาประเทศ การเมืองฟิลิปปินส์เป็นประชาธิปไตยที่คนทั่วๆ ไปไม่ได้ตื่นรู้ ไม่ได้สนใจการแข่งขันในนโยบายของผู้ชิงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่เน้นการเลือกตั้งที่มีสีสัน ไลฟ์สไตล์ของผู้ชิงตำแหน่งที่เสมือนซูเปอร์สตาร์หรือเซเลบริตี้ กลายเป็นความฝันความสุขของชาวฟิลิปปินส์ที่ยังยากจน ขาดโอกาส และเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ การเลือกตั้งดูคล้ายกับการเลือกดาราที่ตนชื่นชอบ ดังนั้นจึงไม่ได้เห็นทีมการเมืองใดนำเสนอคำประกาศนโยบาย (Manifesto) อย่างจริงจัง

 

เราจะเข้าใจนโยบายของผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ได้จากเพียงคำให้สัมภาษณ์ หรือคำปราศรัยในรูปแบบทาวน์ฮอลล์ ที่เน้นการจัดแสง สี เสียง และการเกณฑ์กองเชียร์มาโห่ร้องแข่งกัน และผู้สมัครบางราย อาทิ บองบอง มาร์กอส เองก็เลี่ยงที่จะดีเบตในหลากหลายเวที รวมทั้งยังไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อที่จะนำเสนอต่อประชาชนอีกด้วย โดยผู้เขียนได้สรุปประเด็นนโยบายเท่าที่จะสามารถจับความได้ของทีม BBMSara และทีม Leni 

 

จะเห็นได้ว่าประเด็นที่คนฟิลิปปินส์สนใจมากที่สุดคือ ประเด็นทางด้านสังคม ที่อาจจะขัดแย้งกับหลักการทางศาสนาคาทอลิกและอิสลาม นั่นคือ การทำแท้ง การหย่าร้าง การมีความแตกต่างหลากหลายทางเพศวิถี ซึ่งจุดยืนของทั้ง 2 ทีมจะค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่พอกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสาธารณสุข ความชัดเจนก็จะค่อยๆ ลดลงไป และมีคำถามที่พวกเราผู้สังเกตการณ์มักจะตั้งข้อสังเกตคือ นโยบายเหล่านี้มีแต่รายจ่ายจำนวนมหาศาล ในขณะที่ไม่มีทีมใดเลยที่กล่าวถึงการจัดหารายรับ / รายได้ของรัฐ ที่จะบริหารโครงการเหล่านี้ นั่นหมายความว่า ประชานิยมอาจมาพร้อมกับหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ของประเทศ

 

แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน นั่นคือ ประเด็นนโยบายการต่างประเทศ ที่ทีม BBMSara จะเน้นการประนีประนอม ไม่ขัดแย้งกับจีน และคงความสัมพันธ์แบบรักษาระยะห่างกับสหรัฐฯ ในขณะที่ทีม Leni ดูเหมือนจะเข้าหาสหรัฐฯ และทำให้กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กลายเป็นปัญหาจุดปะทุความขัดแย้งในภูมิภาค ที่มหาอำนาจพร้อมจะเข้าแทรกแซงได้อีกครั้ง

 

วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ พวกเราคนไทยต้องจับตาดูว่า เพื่อนบ้านอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนแห่งนี้จะกำหนดอนาคตของพวกเขาอย่างไร

 

นโยบายด้านสังคม

BBMSara คะแนนนิยม 52.9-64%

การทำแท้ง: สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย ในกรณีถูกข่มขืน ท้องโดยบุคคลในครอบครัว

การหย่าร้าง: สนับสนุนการออกกฎหมายอนุญาตให้หย่าร้าง แต่ต้องมีกระบวนการที่ไม่ง่ายจนเกินไป

การลงโทษประหารชีวิต: ต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต

LGBTQ+: สนับสนุนกฎหมายคุ้มครองสิทธิ LGBT+ สนับสนุน Same Sex Civil Union

 

เลนี โรเบรโด คะแนนนิยม 18.5-24.3%

การทำแท้ง: ไม่สนับสนุนการทำแท้ง ยึดมั่นหลักคาทอลิก

การหย่าร้าง: ไม่สนับสนุนการหย่าร้าง ยึดมั่นหลักคาทอลิก

การลงโทษประหารชีวิต: ขอรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง อาจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน

LGBTQ+: สนับสนุนคุ้มครองสิทธิ LGBT+ สนับสนุน Same Sex Civil Union แต่ไม่สนับสนุนการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน

 

นโยบายเศรษฐกิจ

BBMSara

  • ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว
  • เน้นการสร้างงาน
  • สนับสนุนส่งเสริม MSMEs ผ่านการลด / ยกเว้นภาษี
  • สนับสนุนการวิจัย
  • นำ Kadiwa Store (คล้ายๆ ร้านธงฟ้า) กลับมาเพื่อลดค่าครองชีพ

 

เลนี โรเบรโด

  • ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทะเล / มหาสมุทร ภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่ดีกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมไฮเทค และเกษตรทันสมัย
  • สนับสนุนงบประมาณ​ 1.9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนา MSMEs 

 

นโยบายการศึกษา

BBMSara

  • สร้าง National Education Portal เน้นระบบการศึกษาออนไลน์

 

เลนี โรเบรโด

  • สนับสนุนการเปิดโรงเรียน และให้อุปกรณ์เรียนออนไลน์สำหรับเด็กในพื้นที่เสี่ยง
  • สร้างระบบ Community Learning Hubs
  • งบประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ให้เด็ก 22 ล้านคน (6 ดอลลาร์ต่อคน)
  • เพิ่มงบการศึกษาเป็น 6% ของ GDP
  • เรียกสถานการณ์ปัจจุบันว่า ‘Education Crisis’

 

นโยบายการต่างประเทศ

BBMSara

  • นโยบายต่างประเทศอิสระ ‘Friends and Hopefully Allies’
  • นโยบายไม่เผชิญหน้ากับจีน

 

เลนี โรเบรโด

  • ยืนยันอำนาจอธิปไตยของประเทศในทะเลจีนใต้
  • สนับสนุนการพัฒนาให้กองทัพทันสมัย
  • รื้อฟื้นผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ให้สิทธิฟิลิปปินส์ในบริเวณพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
  • สนับสนุนการเจรจาแบบพหุภาคีในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ (เปิดทางให้สหรัฐฯ แทรกแซง)

 

นโยบายสาธารณสุข

BBMSara

  • เพิ่มงบสาธารณสุข งบวิจัยทางการแพทย์ 
  • เพิ่มศูนย์วิจัย โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง
  • เพิ่มสวัสดิการและเงินตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์
  • เพิ่มวัคซีนและผลิตเอง

 

เลนี โรเบรโด

  • ขยาย Universal Health Care ให้รวมโควิด
  • ปฏิรูป Philippines Health Insurance Corporation
  • เพิ่มสวัสดิการและเงินตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์
  • เพิ่มวัคซีนและผลิตเอง

 

โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค

BBMSara

  • สนับสนุน Build! Build! Build! 
  • วางตำแหน่ง Logistics Hub ในมหาสมุทรแปซิฟิก
  • พลังงานทางเลือก สนับสนุนนิวเคลียร์
  • แก้ปัญหาน้ำท่วม วางผังเมืองและระบบท่อระบายน้ำ

 

เลนี โรเบรโด

  • สนับสนุน Build! Build! Build!
  • ใช้ระบบ PPP แทนการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ

 

ภาพ: Niyazz via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X