วันนี้ (25 มกราคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมภริยาและคณะ ให้การต้อนรับ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลในรอบ 22 ปี
โดยผู้นำไทยและเยอรมนีได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นทั้งสองฝ่ายร่วมหารือกลุ่มเล็ก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนเยอรมนีให้ความสนใจ ด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ประธานาธิบดีเยอรมนีต้องการมีความร่วมมือกับไทยมากขึ้นในด้านแรงงาน โดยจะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อสร้างโอกาสผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ไทยพร้อมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญร่วมกับเยอรมนี โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีความร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิดในด้านพลังงานสะอาด
‘เศรษฐา’ เตรียมเยือนเยอรมนีเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวร่วมกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการหารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยเยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
เศรษฐายังกล่าวว่า ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย ซึ่งตนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ๆ รวมทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่างๆ ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวได้ขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้บรรลุข้อยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเก้นให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย
“เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ผมมีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป” เศรษฐากล่าว
อวยพรตลอดการบริหารยุค ‘เศรษฐา’ ประสบความสำเร็จ
ด้านประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระบุว่า ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกว่า 160 ปี ซึ่งได้ทำการค้าและสำรวจเส้นทางเดินเรือตั้งแต่เป็นประเทศสยาม จึงเกิดความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน และวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง มีคนไทยออกมาใช้สิทธิถึง 75% เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ในโอกาสนี้จึงขอกล่าวแสดงความยินดีกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอวยพรให้สมัยของเศรษฐาประสบความสำเร็จ
ตนยินดีที่จะร่วมผลักดันความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2566 มูลค่าการค้าการลงทุนมีถึง 14,000 ล้านยูโร ขณะที่บริษัทสัญชาติเยอรมนีกว่า 600 แห่งเข้ามาลงทุนในไทย
ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนียังกล่าวด้วยว่า ตนมีความคาดหวังว่าประเทศไทยจะให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการบรรลุข้อตกลงนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งประเทศเยอรมนีพร้อมที่จะขยายความร่วมมือ โดยเน้นนโยบายลดการพึ่งพาฝ่ายเดียว ขยายการค้าการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีภูมิศาสตร์ประเทศที่ดีในการทำการค้า
เยอรมนียินดี ‘พิธา’ รอดหุ้นสื่อ ชี้เป็นพัฒนาการการเมืองไทย
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกล่าวอีกว่า ตนยังได้หารือเรื่องสิทธิบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งตนเองมีความยินดีสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการถือหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส. และได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. ต่อ ซึ่งคำวินิจฉัยที่ออกมาเป็นสัญญาณที่ดีของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการตอบคำถาม สื่อมวลชนได้สอบถามถึงความร่วมมือที่ชะงักไปในช่วงที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกล่าวว่า หลังการเลือกตั้งของไทย มองเห็นแนวทางเชิงบวกในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน และตนเห็นความเชื่อมั่นของนายกรัฐมนตรี ขณะที่คดีของพิธาก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในการแสดงออก
ด้านเศรษฐากล่าวย้ำด้วยว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ตลอดเวลาที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ได้ให้สิทธิเสรีภาพอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมาย และสนับสนุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาเราเดินทางไปทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะที่จุดยืนทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ เรายึดมั่นในความเป็นกลาง ไม่สนับสนุนความขัดแย้ง พร้อมช่วยเหลือให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
เดินสายชมโรงงานพลังงานสะอาด-ผาแต้ม
โดยในเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังมีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ส่วนพรุ่งนี้ (26 มกราคม) ประธานาธิบดีเยอรมนีจะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งโรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์