วันนี้ (22 ธันวาคม) นิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ของนิสิต, นักศึกษา, กลุ่มอาชีพ, ภาคส่วนต่างๆ ประชาชน 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ เสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พิจารณา
ที่ประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ จำนวนครั้งในการทำประชามติ เนื่องจากเสียงส่วนมากของทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยให้มีการทำประชามติเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้รัฐบาลจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง
ส่วนประเด็นคำถามประชามติ เห็นว่าควรเป็นคำถามที่ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ครอบคลุมสาระสำคัญที่จะสร้างแนวร่วมเพื่อความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยหากถามเพียงคำถามเดียว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภา”
และหากแบ่งเป็น 2 คำถาม คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และ 2” และ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
นิกรกล่าวว่า ขณะที่ประเด็นจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แม้ว่ากลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน และ สส. เสียงส่วนมากเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เสียงส่วนมากอีกส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยที่ สสร. จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด ประกอบกับ สว. เสียงส่วนมาก เห็นด้วยกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด
จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้มี สสร. ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 100 คน โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และรัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ 23 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน, ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ 4 คน, ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด 4 คน, รัฐสภาเลือกจากบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงาน หรือเคยทำงานในองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน โดยรัฐสภาต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ประชาชนมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างหลากหลาย จึงจะรวบรวมความเห็นของประชาชนเป็นภาคผนวก เพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
ส่วนข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ จะต้องให้ ครม. เห็นชอบหรือไม่ นิกรกล่าวว่า ครม. จะเป็นผู้สรุป โดยการประชุมในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอที่ประชุมชุดใหญ่พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ในการจัดทำประชามติไม่จำเป็นต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ